โพธิ์เป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญยิ่งต่อชาวพุทธอยู่แล้ว จากเหตุการณ์เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีก่อนที่มหาบุรุษผู้หนึ่งได้ตรัสรู้ใต้ร่มเงาของไม้นี้และให้กำเนิดพระพุทธศาสนาขึ้นบนโลก นับแต่นั้นต้นโพธิ์ทั่วโลกก็ดูมีความศักดิ์สิทธิ์ในสายตาชาวพุทธเสมอ และถ้ายิ่งเป็นโพธิ์ที่มีเศียรพระพุทธรูปซ่อนอยู่ภายในรากเช่น ‘โพธิ์เศียรพระ’ คู่มือท่องเที่ยว Lonely Planet ฉบับประเทศไทย ถึงกับระบุว่านี่คือสถานที่พิเศษที่ชาวโลกเดินทางมาบันทึกภาพมากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และถ้าเทียบในแง่ต้นไม้ก็น่าจะเป็นต้นที่ถูกบันทึกภาพมากที่สุดเช่นกัน



หากได้เดินสำรวจและสังเกตบรรยากาศบริเวณต้นไม้ต้นนี้จะพบว่าคำกล่าวข้างต้นไม่ผิดจากความจริง ตลอดเวลากว่าครึ่งชั่วโมงของช่วงสายวันธรรมดา มีกลุ่มชาวต่างชาติแวะเวียนมาเยี่ยมชมและรอคิวถ่ายภาพต้นโพธิ์เศียรพระกันอย่างต่อเนื่อง ยิ่งถ้าเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์การจราจรก็จะยิ่งแน่นหนา ตามสถิติมีนักท่องเที่ยวที่นี่ในปี 2562 ราววันละ 10,000-20,000 คน
The Holy Abode
วัดมหาธาตุในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 1927 หรือกว่าหกร้อยปีมาแล้ว นับเป็นอารามหลวงที่มีความสำคัญหลายประการต่อประเทศ เพราะนอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแล้ว บริเวณวิหารรายทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระปรางค์ประธานยังเป็นทำเลของต้นโพธิ์ที่ขึ้นปกคลุมผนังวิหารและซ่อนความพิเศษสะดุดตาอยู่ ณ บริเวณโคนต้น ที่ปรากฏเศียรพระพุทธรูปถูกรากโพธิ์ล้อมรัดไว้อย่างแน่นหนา

เศียรพระพุทธรูปดังกล่าวแกะสลักจากหินทรายสีขาว พระพักตร์ค่อนข้างแบนและกว้าง พระขนงและขอบพระเนตรป้ายเป็นแผ่นใหญ่ พระโอษฐ์กว้างเป็นแนวตรง ขอบพระโอษฐ์ยกเป็นสันขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนกลาง กำหนดอายุได้ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 21
ทว่าคำถามสำคัญกว่าคือ ทำไมเศียรพระพุทธรูปจึงมาแทรกอยู่ในรากโพธิ์เช่นนี้
หลายคนคงสงสัยว่าเป็นความบังเอิญหรือตั้งใจ ซึ่งพบข้อสันนิษฐาน 2-3 ข้อที่แตกต่างกัน ข้อสันนิษฐานที่โด่งดังที่สุดคือ เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาใกล้แตกพ่าย ชาวอโยธยาได้นำเศียรพระมาซ่อนไว้ให้ต้นโพธิ์พิทักษ์รักษา แน่นอนว่าเรื่องราวของต้นไม้ที่พิทักษ์พุทธศาสนานั้นจับใจคน ทว่าเมื่อสืบเสาะเจาะลึกจากเอกสารและบุคคลผู้เกี่ยวข้อง คำตอบที่ดูเข้าเค้าและน่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ เรื่องนี้น่าจะเกิดขึ้นเพียงภายในชั่วอายุเดียวของคน ซึ่งก็คือเมื่อประมาณห้าสิบกว่าปีที่แล้วนี่เอง

ย้อนกลับไปในช่วงจัดเตรียมสถานที่ก่อนขึ้นทะเบียนวัดมหาธาตุเป็นแหล่งโบราณสถานของกรมศิลปากรประมาณปลายพุทธทศวรรษ 2500 จนถึงห้วงเวลาของการบูรณะฟื้นฟูราวต้นพุทธทศวรรษ 2510 มีการสำรวจพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปจำนวนมากในเขตวัดมหาธาตุ หลายชิ้นส่วนสามารถประกอบรวมขึ้นเป็นองค์ใหม่ได้อีกครั้ง แต่สำหรับเศียรพระนี้ไม่เจอชิ้นส่วนอื่นที่อาจเคยเป็นส่วนประกอบองค์เดียวกัน จึงอาจเป็นได้ว่านายช่างเคลื่อนย้ายมาวางใต้ต้นโพธิ์นี้เพื่อพักไว้ชั่วคราวก่อนจะหาตำแหน่งจัดวางที่เหมาะสมกว่า หรืออาจด้วยเจตนาอื่นก็มิอาจทราบได้
ครั้นเวลาผ่านนานไป ไม่มีใครยกเศียรพระออกจากตรงนั้น รากของต้นโพธิ์จึงค่อยโอบอุ้มหุ้มรอบเศียรทีละน้อย ต้นโพธิ์ธรรมดาที่แม้ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ พุทธคยา อันเป็นสถานที่ประทับและตรัสรู้บรรลุพระสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้าตามพุทธประวัติ ก็ยังเป็นต้นไม้สำคัญที่พุทธศาสนิกชนให้ความนับถือตั้งแต่สมัยพุทธกาล เมื่ออยู่คู่กับเศียรพระซึ่งชาวพุทธทั่วไปเคารพบูชา จึงกลายเป็นสองสิ่งควรแก่การสักการะที่ประกอบขึ้นจากผลงานพุทธศิลป์ฝีมือมนุษย์ส่วนหนึ่งและจากการสร้างสรรค์โดยธรรมชาติอีกส่วนหนึ่ง ผนวกรวมเข้ากันได้อย่างกลมกลืน
ความสวยแปลกตานี้ทำให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปและบอกต่อๆ กันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่วัดมหาธาตุและกลุ่มโบราณสถานข้างเคียงในนาม ‘อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา’ ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลต่อมวลมนุษยชาติเมื่อ 13 ธันวาคม 2534 โพธิ์เศียรพระก็ยิ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง นับเป็นหมุดหมายสำคัญในการบันทึกภาพของนักท่องเที่ยวไปโดยปริยาย

ต่อมาในปี 2554 เศียรพระในรากโพธิ์ยังถูกย้ำเตือนในฐานะสัญลักษณ์ของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาอีกครั้ง เมื่อภาพต้นไม้ต้นนี้ผ่านการคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 40-50 ภาพแหล่งมรดกโลกมากกว่า 900 แห่งทั่วโลก ที่ได้รับการจัดแสดงเป็นภาพขนาด 1x1.5 เมตร อวดโฉมอยู่บนรั้วสูงเด่นของสำนักงานใหญ่ของยูเนสโกในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
หลายคนทราบข้อมูลว่าการนับอายุต้นไม้ต้องนับจากวงปี แต่ในทางปฏิบัติแล้วโพธิ์ต้นนี้ก็เหมือนกับพันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่ไม่มีวงปีให้นับจำนวนความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในแต่ละรอบฤดูกาล เพราะรากอากาศของมันปกคลุมหนาแน่นทำให้ไม่สามารถเข้าถึงต้นที่แท้จริงได้ หนำซ้ำยังมีข้อจำกัดในการเทียบเคียงความอาวุโสค่อนข้างมาก เพราะไม่ปรากฏลำต้นเดี่ยวๆ ให้เห็นชัดเจนเหมือนไม้ยืนต้นอื่น ส่วนที่ดูคล้ายลำต้นก็อาจไม่ใช่ลำต้นแท้จริง แต่เป็นรากที่พัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อหยั่งถึงพื้นดินซึ่งบางครั้งยังเกิดการเชื่อมรวมกันของรากมากกว่าสองเส้นอีกด้วย อีกทั้งตามธรรมชาติของต้นโพธิ์แล้ว ความใหญ่โตของแต่ละต้นไม่ได้แปรผันหรือบ่งชี้การอยู่มายาวนานของมัน

การประเมินความเก่าแก่ของต้นโพธิ์จึงทำได้เพียงกว้างๆ และต้องใช้หลักฐานทางอ้อมเทียบเคียง เช่น ถ้าพบตามสิ่งก่อสร้างใดๆ ก็แสดงว่าต้นโพธิ์มีอายุน้อยกว่าสิ่งก่อสร้างนั้น เพราะต้องงอกขึ้นมาหลังจากการมีอยู่ของสิ่งก่อสร้าง ในกรณีนี้มีภาพถ่ายโบราณของวัดมหาธาตุในช่วงพุทธทศวรรษ 2490 เป็นตัวช่วยชี้เบาะแส ซึ่งหลักฐานดังกล่าวก็ยืนยันได้เพียงว่าต้นโพธิ์อยู่ตรงนี้มาก่อนวันที่บันทึกภาพ
เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่งอกงามบนตัวโบราณสถานโดยตรงและมีรากซึ่งชำนาญการชอนไชเข้าสู่รอยแตกของสรรพสิ่ง อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาจึงต้องคอยดูแลโพธิ์เศียรพระอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอ ด้วยการตกแต่งกิ่งป้องกันการหักเสียหายในยามพายุพัดรุนแรง ลดภาระน้ำหนักที่ผนังวิหารรายอันเก่าแก่ต้องแบกรับ ทั้งดูแลบำรุงและป้องกันเชื้อรา และในบางคราวก็ถึงกับจำเป็นต้องใช้ยาชะลอการเติบโต เพื่อพยายามคงสภาพในปัจจุบันเอาไว้และให้เป็นแลนด์มาร์กที่มีคุณค่าด้านการท่องเที่ยวอยู่คู่กับอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาไปอีกยาวนาน
จะเป็นด้วยความบังเอิญใดก็ตาม หากกลายมามีอิทธิพลต่อศรัทธาของผู้คน ก็จำต้องถนอมรักษาไว้อย่างไม่ปล่อยเป็นความบังเอิญ เพราะแม้มันอาจไม่ได้อยู่มาอย่างยาวนาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดเวลาที่ล่วงผ่าน ต้นโพธิ์ต้นนี้ได้พิทักษ์ศรัทธาพระพุทธศาสนาไว้ในแบบของมันเอง