
ผู้คนผูกโยงการผ่านร้อนผ่านหนาวของหว้าน้ำสองต้นนี้
เข้ากับชีวิตที่ฝ่าพันทุกข์สุขเคียงข้างกัน
จึงยกให้ต้นหว้าน้ำคู่เป็นสัญลักษณ์แห่งความรักอันมั่นคง


ณ จุดหักเหของสายน้ำโขงที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี แม่น้ำนานาชาติสายนี้ล่องมาแล้วเลี้ยวโค้งเป็นรูปตัวยู เปลี่ยนทิศทางการไหลจากแนวตะวันตกสู่ตะวันออกมาเป็นแนวเหนือสู่ใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีตะกอนทรายเนื้อละเอียด สะสมทับถมรวมกันเป็นปริมาณมหาศาล กระทั่งกลายเป็นเนินสูงดูแปลกตา เรียกกันต่อมาว่า ‘หาดทรายสูง’ ทอดตัวขนานกับลำน้ำเป็นระยะทางร่วมร้อยเมตร
หาดทรายน้ำจืดแห่งบ้านลาดเจริญ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนท้องถิ่นมานาน แต่เพิ่งได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังและประชาสัมพันธ์ในวงกว้างช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากภูมิทัศน์แปลกตาอันเป็นผลงานการกัดเซาะและการพัดพาของน้ำแล้ว บริเวณใกล้เคียงยังมี ‘ต้นหว้าน้ำคู่รัก’ เป็นอีกหนึ่งแรงดึงดูดสำคัญให้หลายคนแวะไปเยี่ยมชม

หว้าน้ำหรือหมากหว้าเป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียเขตร้อน เช่น อินเดีย พม่า มาเลเซีย เติบโตได้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย แต่เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้ชอบน้ำและมีความทนทานอย่างมากต่อสภาพน้ำท่วมขังจึงมักพบใกล้ๆ แหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ลำธาร น้ำตก รวมถึงบริเวณที่น้ำท่วมขังบ่อยครั้งอย่าง ‘ป่าบุ่งป่าทาม’ ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะในพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง เช่นหาดทรายสูงแห่งนี้
หากใช้เวลาเดินสำรวจละแวกนี้สักพักจะสังเกตเห็นต้นหว้าน้ำน้อยใหญ่ขึ้นกระจายอยู่ตลอดแนวชายฝั่ง มีมากจนอาจยกให้เป็นพันธุ์พืชเจ้าถิ่น เพียงแต่คู่รักสองต้นนี้ยืนอยู่แนวนอกสุด ไร้สิ่งบดบัง จึงเห็นได้ชัดเจนเมื่อมองจากแม่น้ำโขง ทั้งยังมีลักษณะโดดเด่นกว่าใคร ทำให้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

แม้คนทั่วไปดูด้วยตาอาจไม่รู้สึก แต่หว้าน้ำคู่รักขนาดเล็กนี้มีอายุร่วมสองร้อยปีแล้ว ด้วยความที่เป็นสายพันธุ์เล็กความเก่าแก่จึงต้องสังเกตที่ลำต้น สองต้นนี้เจริญเติบโตใกล้ชิดกันมาก ลำต้นทั้งคู่บิดโค้งอย่างอิสระ แต่ต่างโน้มเอนเข้าหากันเล็กน้อย ขณะที่กิ่งก้านพาดเกี่ยวสอดประสาน กลุ่มใบที่ค่อนข้างแน่นทึบก็ผนวกรวมกันอย่างกลมกลืน ดูคล้ายต้นไม้สองต้นยืนเคียงข้างอยู่ใต้พุ่มของเรือนยอดเดียว ชวนให้จินตนาการถึงสองชีวิตที่ผูกพันยาวนานและโอบกอดกันด้วยความรัก

To Love and to Cherish
แม่น้ำโขงเป็นมหานทีที่มีสองฤดูกาล คือฤดูน้ำหลากและฤดูน้ำแล้ง ระดับน้ำในแม่น้ำก็แตกต่างกันอย่างชัดเจน บางพื้นที่อาจต่างมากถึงสิบเมตร ฤดูน้ำหลากเริ่มต้นประมาณเดือนมิถุนายน เมื่อมรสุมพาสายฝนเทกระหน่ำ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นนานหลายเดือน ทั้งยังไหลเชี่ยวเกรี้ยวกราด กัดเซาะแก่งหินผา พัดพาแร่ธาตุตะกอนดินตะกอนทรายมาเพิ่มเติมความอุดมสมบูรณ์ให้พืชพันธุ์สองฝั่งโขง กระทั่งหมดฝนไปสักพัก ราวเดือนธันวาคมหรือมกราคมจึงเข้าสู่ฤดูน้ำแล้ง ซึ่งระดับน้ำลดลงเรื่อยๆ ปล่อยให้พื้นที่ริมตลิ่งและแก่งหินผาโผล่พ้นน้ำ รอคอยการท่วมของน้ำหลากในรอบถัดไป...เกิดขึ้นและหมุนเวียนตามธรรมชาติเช่นนี้มาแสนนาน
ต้นหว้าน้ำคู่รักรวมถึงเพื่อนฝูงหว้าน้ำละแวกนั้นได้รับอิทธิพลจากวงจรน้ำหลากน้ำแล้งถ้วนหน้า น้ำที่ไต่ระดับสูงขึ้นช่วงเดือนมิถุนายนจะท่วมเรือนยอดจนมิดภายในเวลาไม่เกินหนึ่งเดือน พลพรรคหว้าทั้งหมดจะจมอยู่ใต้น้ำเช่นนั้นนานหลายเดือนในสภาพทิ้งใบจนหมด จวบจนราวเดือนมกราคมต้นหว้าน้ำจึงกลับมาอวดโฉมในสภาพกิ่งก้านโกร๋น ก่อนจะผลิใบใหม่และออกดอกอย่างเร่งรีบ
ย่างเข้าเดือนมีนาคมผลหว้าน้ำก็ดกดื่น ทยอยเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นม่วงดำ ชาวบ้านก็จะมาเก็บผลสุกเหล่านั้นเพื่อนำไปแปรรูปเป็นสบู่หมากหว้าน้ำและน้ำหมากหว้าน้ำ สองผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นชื่อของชุมชนเขมราฐ


หากเปรียบการจมอยู่ใต้น้ำเป็นห้วงยามของความยากลำบาก การผลิใบใหม่และการออกดอกผลย่อมเทียบได้กับชั่วโมงแห่งความสุขสันต์ หลายคนรู้สึกถึงการผ่านร้อนหนาวอันยาวนานของหว้าน้ำสองต้นนี้และผูกโยงความหมายเข้ากับชีวิตที่ฟันฝ่าทุกข์-สุขเคียงข้างกัน จึงยกให้ต้นหว้าน้ำคู่เป็นสัญลักษณ์แห่งความรักอันมั่นคง
ทว่าสถานการณ์การขึ้น-ลงของน้ำในแม่น้ำโขงวันนี้ผิดเพี้ยนไปจากวงจรดั้งเดิมมาก เกิดความผันผวน ‘ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน’ บ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนนับสิบแห่งในเขตสาธารณรัฐประชาชนจีนและอีกหนึ่งแห่งในเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งหมดตั้งอยู่ก่อนแม่น้ำโขงจะลัดเลาะถึงบริเวณหาดทรายสูง ตำแหน่งที่หว้าน้ำคู่รักยืนต้นอยู่
สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เหล่านี้ไม่เพียงเข้าควบคุมระดับน้ำในแม่น้ำด้วยการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ แต่ยังแบ่งกั้นลำน้ำเป็นช่วงๆ กลายเป็นตัวกักตะกอนที่ควรไหลเวียนสู่ลำน้ำโขงตอนล่าง ขวางกั้นการอพยพของปลาน้ำจืดจำนวนมาก ทั้งหมดสร้างความสั่นสะเทือนรุนแรงแก่ระบบนิเวศ ทำลายทรัพยากรประมง และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนสองฝั่งโขงในหลายพื้นที่ แม้ตอนนี้หว้าน้ำคู่รักยังไม่ได้รับผลกระทบชัดเจน ทว่าล่าสุดในปี 2563 นี้ ปฏิทินล่วงเลยมาถึงต้นเดือนสิงหาคม ก็ยังไร้วี่แววของฤดูน้ำหลาก อาจเพราะฝนที่ล่าช้าเข้าผสมโรง ทำให้เขื่อนแต่ละแห่งปล่อยน้ำน้อยลง ฤดูน้ำแล้งของสายน้ำโขงจึงยืดระยะยาวนานยิ่งกว่าเดิม
เป็นเรื่องเกินคาดการณ์ว่า ปริมาณตะกอนที่ลดลงและระดับน้ำโขงที่ผันผวนมากขึ้นจะส่งผลระยะยาวต่อต้นหว้าน้ำคู่รักรวมถึงพันธุ์ไม้พิเศษอื่นๆ ในที่ราบลุ่มแม่น้ำอย่างไร หรือหาดทรายสูงจะยังคงอยู่หรือไม่
หากสัญลักษณ์แห่งความรักของต้นไม้ที่ยืนยาวมาถึงสองร้อยปีถึงคราวต้องจบไปด้วยน้ำมือมนุษย์ในวันนี้ คงต้องถือเป็นโศกนาฏกรรม