แม้ไม่มีขาอันเป็นอวัยวะสำหรับพาเดินเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนเหมือนคนและสัตว์ แต่หากมองในนิยามของสิ่งใช้ค้ำยันหรือรองรับน้ำหนักเพื่อให้ทรงตัวได้มั่นคง พืชในกลุ่มไม้ยืนต้นย่อมมีลำต้นอันแข็งแรงคอยทำหน้าที่นั้นอยู่แล้ว ยิ่งมีขนาดสูงใหญ่แค่ไหน เรือนยอดแผ่กว้างเพียงใด ขนาดของลำต้นยิ่งต้องบึกบึนตามให้สมสัดส่วน
กระนั้นเมื่อผ่านเดือนปีอันยาวนาน ต้นไม้อาวุโสบางต้นเริ่มแสดงความเสื่อมถอยโรยรา ลำต้นที่เคยแข็งแรง กลับไม่สามารถรับน้ำหนักได้ดังเดิม บ้างเริ่มทรุดเอนลงทีละน้อย บ้างก็โดนโจมตีด้วยโรคหรือแมลงตัวร้าย ทำให้เกิดโพรงกลวงขนาดใหญ่ แต่สำหรับพันธุ์ไม้ในตระกูลไทรกลับมีกลยุทธ์ไม่ธรรมดาเลยสำหรับรับมือกับเรื่องนี้ กล่าวคือไทรสามารถสร้างขาหรือลำต้นใหม่เพิ่มได้เอง และก็จะเพิ่มไปเรื่อยๆ จนมองเผินๆ เหมือนมี ต้นไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ทั้งที่ความจริงทั้งหมดล้วนเป็นขาของต้นไทรต้นเดียว

Walkers of the Forest


ในช่วงแรกของชีวิตไทรชนิดต่างๆ จะมีลำต้นเดี่ยวและรากแก้วเป็นอวัยวะหลักเหมือนไม้ยืนต้นอื่น แต่ด้วยเป็นพืชโตเร็ว มักแตกพุ่มใบหนาทึบและแผ่รัศมีกิ่งก้านในทางกว้าง มากกว่าทางสูง ยิ่งเติบโตมากขึ้นแต่ละกิ่งก้านยิ่งมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การขยายอาณาเขตเรือนยอดลักษณะดังกล่าวจึงต้องการ 'ขา' ที่ช่วยรับน้ำหนักได้มากกว่าแค่ลำต้นและรากแก้วในตำแหน่งศูนย์กลาง
ไทรย้อยใบทู่แห่งคลองสังเน่ห์ ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เราเห็นชัดเจนถึงกลไกอันชาญฉลาดในการรับมือกับข้อจำกัดทางกายภาพดังกล่าว เริ่มด้วยการแตกรากอากาศบริเวณกิ่งก้าน เป็นรากเส้นกลมยาวสีน้ำตาลขนาดเล็ก ซึ่งในระยะแรกก็ดูจะบอบบางและทำหน้าที่เพียงหายใจดูดซับออกซิเจน ความชื้น และธาตุอาหารในอากาศตามฟังก์ชั่นพื้นฐานเท่านั้น แต่เมื่อการเติบโตตามแรงโน้มถ่วงของโลกย่อมทำให้เกิดกลุ่มรากห้อยย้อยระโยงระยางได้รวดเร็วกว่าการยืดลำต้นสูงขึ้นในทิศทางฝืนแรงโน้มถ่วงเสมอ อีกทั้งเมื่อกลุ่มรากหยั่งถึงผืนดินเบื้องล่างก็สามารถดูดซับน้ำและธาตุอาหารได้เต็มที่ บรรดารากเหล่านี้นานวันจึงยิ่งเร่งพัฒนารูปร่างภายนอกและโครงสร้างเนื้อเยื่อภายใน จนกลายเป็นอวัยวะที่แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ และถึงจุดหนึ่งก็แข็งแกร่งประดุจลำต้น สามารถรับน้ำหนักกิ่งก้านซึ่งเป็นจุดกำเนิดของตัวเองได้สบาย ทั้งยังแตกรากในส่วนล่างสุดอีกมากเพื่อเกาะยึดดินอย่างมั่นคง

หากมองเผินๆ โดยไม่พิจารณาขอบเขตเรือนยอดนับเป็นการยากที่จะแยกความแตกต่างระหว่างลำต้น ดั้งเดิมและลำต้นที่พัฒนาขึ้นในภายหลังของไทร โดยหากสังเกตจะพบว่าลำต้นน้องใหม่มักอยู่ในแนวตั้งฉากหรือเกือบตั้งฉากกับพื้นดินทั้งสิ้น เพราะเป็นระยะทางสั้นที่สุดในการหยั่งลงสู่พื้น และช่วยประหยัดพลังงานในการเจริญเติบโตหรือลำเลียงน้ำและธาตุอาหารไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ไม่น่าแปลกใจที่กลยุทธ์เปลี่ยนรากเป็นขาเพื่อสนับสนุนการแผ่อาณาเขตเรือนยอดให้กว้างขวาง ทำให้พืชตระกูลไทรได้สมญานาม ว่า 'ต้นไม้เดินได้'
สำหรับไทรย้อยใบทู่ต้นเก่าแก่ต้นนี้ว่ากันว่ามีอายุมากกว่าสองร้อยปี ความสูงราวๆ 20 เมตร เติบโตท่ามกลางระบบนิเวศสองน้ำ ซึ่งก็คือน้ำที่เกิดจากการผสมผสานกันของน้ำจืดกับน้ำเค็มภายในคลองสังเน่ห์ ซึ่งเป็นคลองสาขาสายแคบๆ สั้นๆ ของแม่น้ำตะกั่วป่า ปัจจุบันเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ด้วยการล่องเรือ

เส้นทางช่วงที่ต้นไทรฝั่งซ้ายและขวาแผ่กิ่งก้านสอดประสานเข้าหากันจนกลายเป็นอุโมงค์ธรรมชาตินั้นนับว่าแปลกตาน่าประทับใจอยู่แล้ว แต่ยิ่งกว่านั้น ดินแดนที่น้ำกร่อยท่วมถึงภายในร่มของไทรแห่งนี้ยังเป็นบ้านของสรรพสัตว์หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นงูเขียว งูปล้องทอง งูเหลือม นกกาน้ำเล็กที่ง่วนอยู่กับการดำน้ำจับปลา นกกระเต็นที่เกาะกิ่งไม้นิ่งรอจังหวะโฉบเหยื่อ นกแก๊กที่แวะเวียนมากินผลไทรสุกเป็นอาหาร รวมถึงนากเล็กที่ชอบลอยตัวเข้าหาเรือนักท่องเที่ยว

ชีวิตเหล่านี้ช่วยต่อเติมความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศ และเมื่อประกอบกับบรรยากาศที่รกครึ้มของต้นไม้และขาของไทรที่ช่วยกรองให้แสงแดดแรงลอดผ่านลงมาเพียงรำไรแล้ว ที่นี่นับว่าคู่ควรกับชื่อซึ่งได้รับการขับขานอย่างไม่ผิดไปจากความเป็นจริงว่าเป็น 'Little Amazon' หรือแอมะซอนน้อยแห่งภาคใต้ทุกประการ