
หนึ่งในสถานที่เก่าแก่และเต็มเปี่ยมไปด้วยความเข้มขลังแห่งจังหวัดสมุทรสงคราม คือโบสถ์หลังน้อยภายในวัดบางกุ้ง ที่มองดูเผินๆ แทบไม่เห็นตัวโบสถ์ แต่เหมือนเป็นเพียงกลุ่มกิ่งก้านและรากไม้ที่เกี่ยวกระหวัดกันอยู่อย่างแน่นหนา ดังชื่อที่คนแถวนั้นเรียกกันว่า 'โบสถ์ปรกโพธิ์'
แต่นอกจากความรู้สึกเก่าแก่โบราณเพราะถูกปกคลุมด้วยต้นไม้แล้ว ความขลังของโบสถ์ยังมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าโบสถ์นี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา และเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของไทยที่ถูกจารึกอย่างขมขื่นและเข้มข้นอย่างน้อยสองครั้ง

ครั้งแรกคือช่วงปลายปี 2308 เมื่อพม่าจะยกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์หรือพระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์สยาม ในตอนนั้นรับสั่งให้หัวเมืองปักษ์ใต้ยกกองทัพเรือขึ้นมาและสร้างกำแพงล้อมพื้นที่โดยรอบวัดแห่งนี้เพื่อจัดตั้งเป็น 'ค่ายบางกุ้ง' แต่ครั้นกองทัพพม่าล่องตามลำน้ำแม่กลองลงมาถึงและบุกเข้าโจมตีกองทัพกรุงศรีอยุธยาที่ค่ายบางกุ้งก็มิอาจต้านทานไหวและต้องแตกพ่าย ไม่นานกรุงศรีอยุธยาก็แตก และค่ายบางกุ้งก็กลายเป็นค่ายร้างนับแต่นั้น

The Roots Run Deep
และอีกครั้งคือเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี พระองค์โปรดให้ชาวจีนรวบรวมพรรคพวกจัดตั้งกองทหารเข้าปรับปรุงค่ายบางกุ้งเดิมและเปลี่ยนชื่อเป็น 'ค่ายจีนบางกุ้ง' แต่อยู่รักษาการได้ไม่นานก็โดนปิดล้อมจากกองทัพพม่าที่เดินทัพเข้ามาทางกาญจนบุรีในปี 2311 ในขณะที่พลพรรคชาวจีนสู้รบสุดกำลัง แต่กำลังจะเพลี่ยงพล้ำด้วยกำลังทหารที่น้อยกว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ โปรดให้ยกกองทัพมาเสริมจนตีทัพพม่าแตกพ่ายไปในที่สุด ถือเป็นชัยชนะเล็กๆ แต่มีผลสร้างขวัญกำลังใจอย่างมหาศาลแก่ชาวสยามที่เพิ่งบอบช้ำจากการเสียกรุงฯ มาไม่นาน
เมื่อล่วงเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ ค่ายบางกุ้งก็หมดสิ้นความสำคัญและถูกทิ้งร้างยาวนานเกือบสองร้อยปี สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นช่วงเวลานี้เองที่ต้นไม้ตระกูลโพธิ์เริ่มรุกคืบเข้าจับจองโบสถ์ก่ออิฐถือปูนเล็กๆ หลังนี้ แผ่อาณาเขตไปทีละน้อย กระทั่งปกคลุมทั่วหลังคาและเกาะเกี่ยวผนังโบสถ์เป็นบริเวณกว้างดังภาพที่ปรากฏในปัจจุบัน


พระอุโบสถขนาดเล็กหลังนี้กว้าง 8 เมตร ยาว 23 เมตร มีหน้าต่างบนผนังซ้ายและขวาฝั่งละ 3 บาน และมีประตูเข้า-ออกด้านหน้าประตูเดียว ภายในโบสถ์เป็นที่ประดิษฐาน 'หลวงพ่อนิลมณี' พระพุทธรูปขนาดใหญ่สลักจากหินทรายแดง และหากแหงนขึ้นมองหน้าบันทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก เพ่งผ่านราก อากาศรุงรังและใบไม้เขียวๆ ก็ยังพอเห็นเค้าโครงปูนปั้นลวดลายดอกไม้อยู่บ้าง น่าเสียดายที่การประดับตกแต่งด้วยชามสังคโลกจีน ซึ่งเป็นอีกองค์ประกอบเอกลักษณ์ของศิลปกรรมในสมัยอยุธยาตอนปลาย นั้นแทบไม่เหลือให้สังเกตเห็นแล้วเช่นเดียวกับจิตรกรรมบนผนังปูนที่เลือนจางไปมากกว่าครึ่ง เพราะความชื้นจากน้ำฝนที่ไหลซึมเข้ามาตามความผุพังของหลังคาเดิม ก่อนจะได้รับการซ่อมแซมด้วยการเทฝ้าเพดานคอนกรีตในช่วงปี 2510
ท่ามกลางมวลอากาศค่อนข้างชื้นและเย็นกว่าภายนอกผนังด้านในมีรากอากาศของต้นไม้ยึดเกาะอยู่แค่ มุมเล็กๆ โดยมีรากอากาศเพียงหนึ่งเดียวที่หยั่งถึงพื้นล่างและพัฒนารูปร่างคล้ายลำต้นตั้งตรง ขณะที่ผนังด้านนอกส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยรากอากาศที่พัฒนาแล้ว ในบางบริเวณรากที่ดูคล้ายลำต้นพวกนี้พาดเรียงตัวแนบแน่น บ้างก็เชื่อมรวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกันและบดบังผิวปูนและผนังก่ออิฐไว้อย่างมิดชิด มองแล้วให้ความรู้สึกราวกับภาพขยายของเส้นใยผ้าที่ทอสานทับกันไปมาอย่างไร้แบบแผนยากเกินจะจำแนกออกว่าเป็นรากหรือลำต้นของไม้ใด

ดังนั้นแม้เรียกขานกันว่า 'โบสถ์ปรกโพธิ์' แต่แท้จริงแล้วไม่ได้มีแค่ต้นโพธิ์ เพราะยังมีต้นไทร ต้นไกร และต้นกร่างที่ร้อยรัดปกคลุมโบสถ์หลังนี้ร่วมกันมายาวนาน พันธุ์ไม้ทั้งสี่ชนิดนี้เป็นพืชสกุลไทร (Ficus) ในวงศ์ Moraceae ซึ่งจะเติบโตเป็นไม้ยืนต้นหรือเป็นไม้กึ่งอิงอาศัยก็ได้ขึ้นอยู่กับว่าเมล็ดพร้อมงอก ตกไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใด คุณสมบัตินี้นับเป็นจุดเด่นอันแข็งแกร่งที่ทำให้พืชสกุลนี้เติบโตได้ในภาวะทรัพยากรจำกัดจำเขี่ยอย่างที่พืชสกุลอื่นทำไม่ได้
หากเมล็ดของไทรร่วงหล่นบนพื้นและหยั่งรากลงดินตั้งแต่แรกและเติบโตในสภาพที่ได้รับน้ำและธาตุอาหารเพียงพอมันจะสามารถสร้างลำต้นเดี่ยว ตั้งตรงขึ้นฟ้าไม่ต่างจากต้นไม้อื่นๆ กลายเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่สูงตั้งแต่ 10 เมตร จนถึงเกือบ 30 เมตร ทว่าตามความเป็นจริงในธรรมชาติ ลักษณะดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย
ผลของโพธิ์ ไทร ไกร และกร่าง มีลักษณะเป็นลูกกลมเล็กๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 0.5-2.5 เซนติเมตร และมีหน้าตาคล้ายผลมะเดื่อ เป็นอาหารที่กลุ่มนกโปรดปรานเมล็ดโพธิ์ ไทร ไกร และกร่าง ที่ซ่อนอยู่ในผลนั้นเคลื่อนที่ไปตามระบบทางเดินอาหารของนก ขณะอยู่ในกระเพาะอาหารกรดอ่อนๆ ก็จะย่อยเปลือกแข็งหุ้มเมล็ดและช่วยให้มันงอกเป็นต้นง่ายขึ้นเมื่อออกมาเผชิญโลก กล่าวได้ว่าชะตากรรมสุดท้ายของเมล็ดน้อยขึ้นอยู่กับพิกัดที่นกขับถ่าย ซึ่งส่วนใหญ่คือตกจากที่สูงแต่หล่นไม่ถึงพื้น เพราะติดค้างอยู่ตามกิ่งก้านของต้นไม้บ้าง ขอบกำแพงบ้าง หลังคาบ้าง ฯลฯ เป็นที่มาของภาพที่หลายคนอาจเห็นจนชินตา คือต้นไม้ที่แทรกตัวขึ้นตามซอกตึกรามบ้านช่องหรืองอกอยู่บนต้นไม้ต้นอื่น
สำหรับกรณีของโบสถ์หลังนี้ก็เป็นไปได้ว่า เมล็ดหล่นลงสู่หลืบรอยแตกของหลังคาหรือผนังกำแพงซึ่งบังเอิญมีน้ำขังและมีความชื้นอยู่บ้าง ประกอบกับมีเศษใบไม้หรือฝุ่นดินสะสมอยู่ พอช่วยประคับประคองให้ต้นอ่อนงอกและเติบโตต่อไปได้ภายใต้ปัจจัยอันจำกัด ความจริงคือนกไม่ได้กินเฉพาะผลของพืชตระกูลไทรอย่างเดียว ในมูลนกมีเมล็ดพันธุ์อีกมาก แต่มีเพียงตระกูลไทรที่แกร่งพอจะเติบใหญ่ได้ภายใต้เงื่อนไขที่โหดร้ายของผืนดิน และสามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับโจทย์ชีวิตและรักษาตัวรอดได้อย่างชาญฉลาด
เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เป็นใจให้งอกงามเป็นไม้ยืนต้น มันจึงเปลี่ยนรูปทรงตนเองเป็นไม้กึ่งอิงอาศัย ซึ่งมีทั้งรากที่เกาะเกี่ยวอยู่กับพื้นผิวและราก อากาศผอมยาวจำนวนมากห้อยลงมาจากกิ่งก้านเพื่อดูดซับความชื้นและแร่ธาตุในอากาศ รากอากาศเหล่านี้เติบโตรวดเร็ว ในกรณีที่เร็วมากอาจโตถึงวันละ 1 เซนติเมตรเลยทีเดียว เพราะมันยิ่งยืดตัวหยั่งถึงพื้นดินได้เร็วเท่าไหร่ก็เท่ากับก้าวเท้าออกจากความขาดแคลนไปสู่ความอุดมสมบูรณ์ได้เร็วเท่านั้น นั่นหมายถึงโอกาสของการได้รับน้ำและธาตุอาหารเต็มที่จากผืนดินและยิ่งทำให้เติบโตได้รวดเร็วกว่าเดิม พร้อมทั้งพัฒนารากอากาศให้มีรูปร่างคล้ายลำต้น ซึ่งแข็งแรงและยึดผืนดินได้อย่างมั่นคง อาจกล่าวได้ว่าในที่สุดมันก็จะหาทาง 'ยืนบนลำต้นของตัวเอง' ได้เสมอ

จากวันที่นกตัวหนึ่งพาเมล็ดมาโปรยไว้จนถึงวันนี้ นับเป็นเวลาร่วมสองร้อยปีแล้วที่สี่สหายไม้อิงอาศัยได้ค่อยๆ ร้อยรัดเรือนร่างเข้าหากัน พร้อมกับโอบกอดตัวโบสถ์ไว้ในใจกลางกลายเป็นผลงานแปลกตาที่เรียกได้ว่า...มนุษย์ เริ่มก่อและธรรมชาติช่วยประกอบให้งดงาม