
ตัวละคร 'แม่พลอย' ในวรรณกรรมชิ้นเอกของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีชีวิตอยู่ถึง 4 แผ่นดิน นับว่านานยิ่งแล้วสำหรับมนุษย์ แต่สำหรับต้นจันอย่าง 'เธอ' ซึ่งเริ่มต้น ชีวิตบนแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จวบจนถึงรัชกาลปัจจุบัน เรียกได้ว่าเธออยู่มานานถึง 18 แผ่นดิน และดูจากสุขอนามัยแล้ว เธอน่าจะยืนยงต่อไปได้อีกหลายแผ่นดิน


ไม่เพียงเธอจะเกิดในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ยังงอกงามอยู่ ณ จุดลงตัวบริเวณหน้าพระที่นั่งจันทรพิศาล ในเขตพระราชฐานชั้นกลางของพระราชวังเมืองลพบุรี ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้นในปี 2209 เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง ว่ากันว่าพระองค์โปรดประทับที่นี่เกือบตลอดทั้งปี ส่งผลให้เมืองลพบุรีมีสถานะเสมือนราชธานีแห่งที่สองรองจากอยุธยา และกลายเป็นศูนย์กลางความรุ่งเรืองตลอดรัชสมัย
บางเบาะแสถึงกับระบุว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอาจทรงปลูกจันต้นนี้เอง เนื่องด้วยพระองค์เสด็จพระราชสมภพในวันจันทร์ และตำแหน่งการยืนต้นนั้นก็ช่างเหมาะเจาะ เพราะพระองค์สามารถทอดพระเนตรต้นจันทุกครั้งที่เสด็จออกมุขเด็จเพื่อทรงว่าราชการแผ่นดิน แต่นี่ก็เป็นเรื่องยากจะหาหลักฐานใดมาพิสูจน์ นอกจากต้นไม้ใหญ่ที่ยังยืนยงผ่านกาลเวลาเรื่อยมาและสิ่งปลูกสร้างที่ยังเหลือร่องรอยให้คนรุ่นต่อมาได้บูรณะซ่อมแซม
หลังสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตในปี 2231 พระราชวังถูกทิ้งร้างให้ทรุดโทรมและหักพัง ผ่านมาอีกเกือบสองร้อยปีกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระราชวังโบราณแห่งนี้ในปี 2399 พร้อมกับพระราชทานชื่อว่า 'พระนารายณ์ราชนิเวศน์'
โดยทั่วไปแล้วจันเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่เติบโตช้า เมื่อโตเต็มที่จะสูงประมาณ 10-20 เมตร เรือนยอดทรงพุ่มกลมทึบ ลำต้นตรง มีชื่อเรียกท้องถิ่นหลายชื่อ อาทิ จันขาว จันลูกหอม จันโอ จันอิน ในอดีตได้รับความนิยมปลูกในพระราชวังและวัด ไม่พบเหตุผลที่ชัดเจนว่าเป็นเพราะความเชื่อเรื่องไม้มงคล หรือเพราะผลสุกมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว หรือเหตุผลอื่นใด

The Remains of the Day
หากนับอายุจันต้นนี้โดยอ้างอิงจากข้อสันนิษฐานว่าเติบโตบนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็น่าจะยืนต้นมานานกว่า 340-350 ปีแล้ว เธอเคยสัมผัสทั้งความรุ่งเรืองและความโรยราของเมืองลพบุรี เป็นประจักษ์พยานการออกว่าราชการของพระเจ้าแผ่นดิน การรอเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าแผ่นดินที่มีแต่ความคึกคัก ไปจนถึงยุคสมัยแห่งความเงียบเหงายามเปลี่ยนแผ่นดิน และพระราชวังเก่ากลับกลายร้างไร้ผู้คนมายาวนาน กระทั่งเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูปฏิสังขรณ์
หลังได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในรุกขมรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมีในปี 2560 ก็ถึงเวลาเยียวยาฟื้นฟูระบบราก ทีมรุกขกรผู้เชี่ยวชาญจึงเริ่มต้นงานด้วยการทุบอิฐโบราณแสนแข็งแกร่งออกทีละส่วนอย่างระมัดระวัง เผยให้เห็นเส้นรากจำนวนมากที่ขดม้วนอยู่ภายใน จากนั้นก็ใช้เสียมลมพรวนดินที่อัดแน่นให้โปร่งซุยขึ้น โดยไม่สร้างความเสียหายต่อราก แล้วจึงกลบพูนดินใหม่รอบโคนต้น กระบวนการนี้ช่วยคลายความอึดอัดของระบบรากและน่าจะยืดชีวิตของเธอต่อไปได้อีกหลายแผ่นดิน
และเหตุที่เราใช้สรรพนามแทนว่า 'เธอ' ก็เพราะชัดเจนว่าจันต้นนี้เป็นหญิง


ต้นจันเป็นพันธุ์ไม้พิเศษในกลุ่มที่เรียกว่า 'dioecious plant' หรือไม้ที่มีสองเพศแยกต้นกัน โดยดอกตัวผู้กับดอกตัวเมียแยกกันอยู่คนละต้น นับเป็นภูมิปัญญาธรรมชาติของพืชที่พยายามป้องกันการผสมเกสรภายในดอกหรือต้นเดียวกัน จึงสร้างเงื่อนไขให้ต้องผสมเกสรข้ามต้นเท่านั้น เพื่อให้มั่นใจว่าผลผลิตรุ่นลูกจะมีพันธุกรรมดีกว่ารุ่นพ่อแม่
เหตุดังกล่าวทำให้ต้นจันตัวผู้ซึ่งออกดอกสีครีมที่มีแต่เกสรตัวผู้และอยู่รวมกันเป็นช่อขนาดเล็ก ไม่มีโอกาสติดผล ขณะที่ต้นจัน ตัวเมียเช่นต้นที่อยู่หน้าวังแห่งนี้ เธอออกดอกเดี่ยวสีขาวครีมที่มีแต่เกสรตัวเมีย และสามารถติดผลได้สองแบบ แบบแรกเป็นผลทรงกลม แป้น ค่อนข้างแบน ไม่มีเมล็ดหรือเมล็ดลีบ เรียกว่า 'ลูกจัน' หรือ 'ลูกจันอิน' เจริญขึ้นจากดอกตัวเมียที่ไม่ผ่านการผสมเกสรหรือดอกตัวเมียที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ แต่มีเกสรตัวผู้ร่วงหล่นลงไป แบบที่สองเป็นผลทรงกลมป้อม อ้วนหนา ขนาดใหญ่กว่า มีเมล็ด เรียกว่า 'ลูกอิน' หรือ 'ลูกจันโอ' เจริญขึ้นจากดอกตัวเมียที่พัฒนาเต็มที่และได้รับการผสมเกสรโดยสมบูรณ์
แต่เนื่องจากพืชกลุ่มนี้จำเป็นต้องอาศัยตัวช่วยอย่างลมและแมลงในการนำพาเกสรตัวผู้จากต้นหนึ่งไปผสมกับเกสรตัวเมียที่อยู่อีกต้นหนึ่ง หากละแวกนั้นมีแต่ต้นจันเพศเดียวกันหรือต้นจันตัวผู้กับตัวเมียอยู่ห่างไกลกันมาก อัตราการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติก็พลันริบหรี่ เป็นเหตุให้พบต้นไม้ชนิดนี้ได้ไม่มากนัก ทว่าแต่ละต้นมักจะแข็งแรงด้วยกระบวนการทางพันธุกรรมดังที่กล่าวไปแล้ว
หากเกสรตัวผู้ไม่สามารถเดินทางมาถึงดอกตัวเมียในจังหวะอันเหมาะสม ก็คงถึงคราวที่มนุษย์ต้องยื่นมือเข้าช่วยเพื่อให้พันธุกรรมของจันต้นประวัติศาสตร์ต้นนี้ตกทอดสู่ลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป

Diospyros decandra

Cymose Male Flowers

Solitary Female Flowers

Fertilised Fruit

Unfertilised Fruit
