ชื่อ 'มะค่า' มักจะมีค่าเป็นพิเศษสำหรับนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งหลาย มะค่าโมงขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือต้นนี้มีการ คำนวณว่าเมื่อแปรรูปแล้วจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีมูลค่าตลาดสูงกว่าห้าล้านบาท ทว่าความเก่าแก่อันศักดิ์สิทธิ์ของมันทำให้ ชาวบ้านไม่ยอมให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น

มะค่าโมงต้นนี้ขึ้นอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยก้านเหลือง ตำบลฟากท่า อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ท่ามกลางระบบนิเวศของป่าเบญจพรรณ ตามคำนิยามป่านี้ต้องมีพันธุ์ไม้สำคัญห้าชนิด ได้แก่ สัก ประดู่ แดง ชิงชัน และมะค่า ทั้งยังต้องมีพืชในตระกูลหญ้ายักษ์อย่างไผ่ชนิดต่างๆ ขึ้นรวมอยู่ด้วย จึงจะครบถ้วนองค์ประกอบ
บางตำราก็เรียกป่าประเภทนี้ว่า ป่าผสมผลัดใบ ซึ่งแปลจากภาษาอังกฤษว่า mixed deciduous forest หมายถึงป่าที่มีไม้ไม่ผลัดใบและไม้ผลัดใบขึ้นปะปนกัน พวกไม้ไม่ผลัดใบจะทยอยทิ้งใบเก่าทีละน้อย พร้อมๆ กับงอกใบใหม่ต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี แปลว่าเราจะเห็นมันร่วงบ้างเขียวบ้างสลับกันเสมอ

The Grand Strategy


แต่ไม้ผลัดใบนั้นพิเศษตรงที่มันเลือกรับมือกับสภาพอากาศแห้งแล้งของบ้านเรา ซึ่งมีระดับความชื้นในอากาศต่ำและปริมาณน้ำใต้ดินน้อยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงประมาณเดือนเมษายน ด้วยการทยอยทิ้งใบทั้งหมดภายในระยะเวลาไม่กี่วันเท่านั้น การทำเช่นนี้ก็เพราะเมื่อไม่มีใบแล้วพืชย่อมหยุดกระบวนการสังเคราะห์แสงชั่วคราว ซึ่งเชื่อมโยงกับการหยุดกิจกรรมใช้น้ำที่เกิดขึ้นเป็นกิจวัตรในช่วงเวลาปกติ เช่น การดูดน้ำผ่านรากแล้วคายน้ำออกทางปากใบ
พูดง่ายๆ คือเป็นมาตรการประหยัดน้ำตามธรรมชาติของต้นไม้
นี่ไม่เพียงเป็นกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง เพราะเมื่อต้นไม้ใหญ่หลายต้นในป่าพร้อมใจกันลดการใช้น้ำ ปริมาณน้ำน้อยนิดที่หลงเหลืออยู่ในดินจึงยังคงหล่อเลี้ยงประคับประคองระบบนิเวศต่อไปได้ ส่งผลต่อความอยู่รอดของสังคมพืชพรรณไม้ส่วนรวมในห้วงเวลาที่ปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีพไม่มีให้ใช้อย่างเหลือเฟือ จะว่าไปก็เปรียบเสมือนยามอาหารขาดแคลนและคนที่แข็งแรงกว่ายอมอดเพื่อให้คนที่อ่อนแอกว่ามีกิน
เมื่อใกล้ถึงช่วงเวลาผลัดใบต้นไม้จะดึงคลอโรฟิลล์และสารอาหารสำรองจากใบเข้าไปเก็บไว้ในลำต้นและราก ทำให้ใบไม้ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง แดง น้ำตาล พร้อมกันนั้นก็สร้างเซลล์ใหม่ซึ่งมีขนาดเล็กและบางขึ้นมาปิดกั้นการเชื่อมต่อระหว่างกิ่งก้านกับใบ ในจังหวะที่ใบปลิดปลิวนั้นเซลล์ใหม่จำนวนมากก็จะช่วยปิดแผลและป้องกันการเข้าโจมตีของเชื้อโรคหรือรา ต้นไม้ที่มีเพียงกิ่งก้านเปล่าเปลือยจึงเข้าสู่ช่วงเวลาพักผ่อนโดยสมบูรณ์ รอจนฤดูกาลหมุนเวียนมาถึงจังหวะที่ความชื้นในอากาศเพิ่มมากขึ้น รวมตัวกันและกลั่นเป็นหยาดฝน ใบอ่อนใหม่หมาดจะค่อยๆ ผลิแย้มออกมาทักทายเพื่อนับหนึ่งสังเคราะห์แสงผลิตอาหารกันอีกครั้ง

เป็นระบบที่ออกแบบมาอย่างรอบคอบ ชาญฉลาด และประหยัดทรัพยากรอย่างยิ่ง
ดูเหมือนว่าบรรดาต้นไม้ผลัดใบจะมีรูปแบบการประหยัดการใช้น้ำและพลังงานแตกต่างกันไป สำหรับมะค่าโมงจะใช้เวลาพักผ่อนผลิใบค่อนข้างสั้นกว่าไม้ผลัดใบชนิดอื่นๆ คือ เริ่มผลัดใบประมาณปลายเดือนธันวาคม และผลิใบใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ นั่นอาจหมายถึงความอึดอดทนและความต้องการขั้นพื้นฐานของต้นไม้แต่ละต้นไม่เท่ากัน ทำให้แต่ละสายพันธุ์ต้องสร้างกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป
กระนั้นใบอ่อนผลิใหม่ของมะค่าโมงซึ่งให้สีแดงคล้ำผสมม่วงคล้ายสีเปลือกมังคุดก็เป็นสีสันงดงามของป่าเหนือเสมอมา

นอกจากความงามแล้ว มะค่าโมงเป็นไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงอย่างที่กล่าวไป อาจเป็นรองก็แค่ไม้สัก เนื้อไม้สีออกน้ำตาลอมเหลืองอ่อนมีคุณสมบัติโดดเด่นเรื่องความแข็งแรง เหนียว ทนทาน ขัดและชักเงาแล้วสวยงาม จึงเหมาะสมอย่างยิ่งกับงานก่อสร้าง งานโครงสร้าง งานเครื่องเรือนไม้ และเป็นที่ต้องการอย่างมากในท้องตลาด

มะค่าโมงต้นนี้ได้ชื่อว่าเป็นมะค่าโมงต้นใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ด้วยเส้นรอบวง ลำต้นประมาณ 12 เมตร และความสูงราวๆ 40 เมตร กับเรือนยอดที่แผ่กว้างทุกทิศทาง ทว่าหากเทียบกับมาตรฐานของมะค่าโมงทั่วไปแล้วมันกลับตกเกณฑ์ไม้งามสำหรับนักสัมปทานไม้ เพราะยืนต้นอยู่บนเนินดินลาดเอียง แถมยังแตกกิ่งค่อนข้างต่ำที่ระดับความสูงเหนือพื้นดินไม่เกินสามเมตร

การขยายพันธุ์มะค่าโมงที่ดีที่สุดคือขยายพันธุ์จากเมล็ดซึ่งได้จากฝักแก่ มีสีน้ำตาลแก่เกือบดำ ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเก็บเมล็ดคือเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม

แน่นอนว่าข้อด้อยในสายตาคนค้าไม้ย่อมหมายถึงความสามารถที่จะรอดชีวิตและเติบโตต่อมาได้จนถึงปัจจุบัน ขณะที่ผืนป่าละแวกนั้นไม่ปรากฏต้นมะค่าโมงที่มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกันหลงเหลืออยู่เลย
หากมีเวลาเดินก้มๆ เงยๆ รอบต้นพร้อมกับใช้สายตาพิจารณาสิ่งต่างๆ โดยละเอียด นอกจากจะพบกับฝูงชันโรงทำรังอยู่ในโพรงบริเวณโคนของต้นมะค่าโมงต้นนี้ ย่อมต้องสังเกตเห็นปุ่มปมขนาดไม่ใหญ่ปูดนูนกระจายอยู่หลายแห่งบนลำต้นด้วย ปุ่มปมเหล่านี้มักเกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อของต้นไม้ถูกจู่โจมโดยแบคทีเรีย ไวรัส รา หรือแมลงที่เข้าไปวางไข่ เป็นการรบกวนจากภายนอกซึ่งกระตุ้นให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นเจริญเติบโตรวดเร็วผิดปกติ จะเรียกว่าเนื้องอกของต้นไม้ก็คงได้

ปุ่มปมประหลาดพวกนี้พบได้ในพืชหลายชนิด แต่เมื่อมาปรากฏอยู่บนลำต้นของมะค่าโมงมันกลับมีความพิเศษอย่างยิ่ง เพราะทำให้เนื้อไม้ที่ซ่อนอยู่ภายในมีลวดลายสวยงามแปลกตา ยิ่งปุ่มปมมีขนาดใหญ่มากยิ่งขายได้ราคาแพง เพราะใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตเฟอร์นิเจอร์หรือของแต่งบ้านได้ ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้นิยมเฟอร์นิเจอร์ไม้
ชาวบ้านและหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นความสำคัญของมะค่าโมงยักษ์นี้ แม้ลักษณะจะมีข้อด้อยในสายตานักค้าไม้ แต่ขนาดของมันย่อมนำมาซึ่งผลประโยชน์มหาศาลอยู่ดี พวกเขาจึงช่วยกันดูแลและอนุรักษ์มายาวนาน และเคยนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีบวชป่าเมื่อกลางปี 2552

แม้จะอยู่ยืนยงเกินกว่าพันปี แต่เพิ่งมาในชีวิตบั้นปลายนี้เองที่มันได้รับการปกปักรักษาอย่างหวงแหน โดยมีการนำจีวรไปผูกรอบโคนต้นมะค่าโมงและต้นไม้ใหญ่อื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียง ทั้งเพื่อความเป็นสิริมงคล ยกต้นไม้ขึ้นเป็นของสำคัญที่ใครจะทำอะไรตามใจชอบไม่ได้ และสักการะเทวดาอารักษ์ที่สิงสถิตอยู่ในต้นไม้ เป็นกุศโลบายปกป้องต้นไม้จากการตัดโค่นทำลายด้วยการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
ดังเช่นที่ใช้ได้ผลในพื้นที่อื่นๆ อีกหลายแห่งทั่วประเทศไทยตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา