
'ส้มโฮง' เป็นชื่อท้องถิ่นที่ชาวอีสานใช้เรียกต้นสำโรง ไม้ยืนต้นซึ่งกระจายพันธุ์กว้างขวางในหลายทวีป ตั้งแต่แถบแอฟริกาตะวันออก เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่อยไปจนถึงออสเตรเลีย แต่ชื่อสากลต่างหากที่ดูจะบ่งบอกคุณลักษณะโดดเด่นที่สุดของมัน ซึ่งอาจจะไม่ค่อยน่าพึงประสงค์นักสำหรับจมูกคนทั่วไป

ชื่อวิทยาศาสตร์ของต้นส้มโฮงคือ Sterculia foetida L. ชื่อสกุล Sterculia นั้นมาจากคำว่า 'Sterquilinus' ซึ่งเป็นชื่อเทพเจ้าแห่งปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยมูลสัตว์ตามคติความเชื่อโรมัน ขณะที่คำระบุประเภทสายพันธ์ foetida ก็ไม่น้อยหน้า เพราะเป็นภาษาละติน แปลว่า 'มีกลิ่นเหม็น' ส่วนชื่อสามัญภาษาอังกฤษนั้นก็มีทั้ง bastard poon และ skunk tree
ส้มโฮงทำให้เรารู้ว่าไม่ใช่ดอกไม้ทุกดอกจะหอม นับเป็นข้อดีที่ดอกสีแดงเข้มของส้มโฮงบานอยู่สูง เพราะกลิ่นของมันร้ายกาจ บางคนถึงกับเทียบกับกลิ่นผายลม บางคนก็ว่าแรงขนาดอุจจาระ ถึงขนาดมีคำเตือนว่าไม่ควรปลูกไว้ใกล้ที่พักอาศัย แต่ก็ใช่ว่าส้มโฮงจะไม่มีคุณสมบัติพึงปรารถนาอื่นมาทดแทน
The Fragrance of Faith

ส้มโฮงหรือสำโรงเป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้ทั่วประเทศไทย ในอดีตพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะเขตป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง หรือป่าโปร่งทั่วไป ในระดับความสูงราว 100-600 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่เมื่อพื้นที่ป่าหดหาย สำโรงจึงกลายเป็นต้นไม้หายาก ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของใครต่อใคร
จุดเด่นของต้นส้มโฮงซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนโตเร็วนั้นอยู่ที่รูปทรงต้น คือลำต้นเปลาตรงสูงชะลูด ดิ่งสู่ฟ้าอย่างแน่วแน่ และเริ่มแตกกิ่งก้านที่ความสูงประมาณ 8-10 เมตรขึ้นไปในแนวตั้งฉากกับลำต้น และจึงแผ่กว้างออกไปโดยรอบ แตกกิ่งก้านในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยระยะห่างใกล้เคียงกัน ทำให้ทรงพุ่มของใบที่ดกหนามีลักษณะเป็นชั้นๆ ดูคล้ายฉัตร

ราวเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม หลังฤดูฝนผ่านพ้น ส้มโฮงจึงเริ่มออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ความพิเศษของดอกส้มโฮงนอกจากกลิ่นที่กล่าวมาแล้ว มันยังไม่มีกลีบดอกอีกด้วย มีเพียงกลีบเลี้ยงที่ปกคลุมด้วยขนละเอียดสีขาว บริเวณโคนกลีบติดกันเป็นทรงถ้วย ส่วนปลายกลีบแยกออกเป็นห้ากลีบ ม้วนงอออกจากกัน
ล่วงเข้าต้นปี ช่วงเวลาผลัดใบดำเนินไปพร้อมกับการพัฒนาดอกเป็นผล ผลของส้มโฮงอยู่รวมกันพวงละ 4-5 ผล แต่ละผลนั้นเป็นทรงกลมรี ผิวเรียบแข็ง กว้างประมาณ 6-9 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว ครั้นแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้มและแดงเข้มตามลำดับ เมื่อผลแก่จัดจึงแตกออกตามร่องบนผิว แยกเป็นสองฝาที่ไม่ขาดจากกัน ดูเหมือนอ้าปากเผยให้เห็นเมล็ดกลมรีผิวสีดำจำนวนมาก ซึ่งซ่อนอยู่ภายใน หลังจากนั้นเปลือกผลจะแข็งเหมือนไม้และกลายเป็นสีน้ำตาล
เมล็ดส้มโฮงก็น่าสนใจเช่นกัน หากแกะเปลือกหุ้มสีดำออกจะเห็นเนื้อในสีคล้ายเมล็ดแมคคาเดเมีย สามารถรับประทานได้ แต่ควรต้ม เผา หรือทำให้สุกด้วยความร้อนก่อน แม้ตอนเป็นดอกจะมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ แต่รสชาติของเมล็ดกลับหอมมันเหมือนถั่วลิสง เนื้อในเมล็ดมีส่วนประกอบของน้ำมันเกือบร้อยละ 40 คุณสมบัติเทียบเท่าน้ำมันดอกทานตะวันหรือน้ำมันถั่วเหลือง จะใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพหรือจุดไฟให้แสงสว่างก็ได้

ส้มโฮงในภาพนี้มีอายุมากกว่าสามร้อยปี สูงเกือบสี่สิบเมตร เส้นรอบวงลำต้นประมาณเจ็ดเมตร อยู่ในวัดดุมใหญ่ ตำบลดุมใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ปรากฏความเป็นมาว่าเกิดและเติบโตเองตามธรรมชาติ มาตั้งแต่ก่อนสร้างวัดในปี 2387 ถือเป็นต้นส้มโฮงที่เก่าแก่ และสูงใหญ่ที่สุดในชุมชน แม้ในเขตดอนปู่ตาทางฝั่งตะวันตกของหมู่บ้านจะมีต้นส้มโฮงอีกจำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่มีต้นใดจะยิ่งใหญ่เทียบเท่าต้นนี้

ในสมัยที่วัดดุมใหญ่ยังเป็นวัดป่าและมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น ละแวกต้นส้มโฮงถูกจัดเป็นเขตป่าช้าสำหรับเผาศพพระสงฆ์และญาติโยมในชุมชน แม้จะพัฒนาภูมิทัศน์ทั่วบริเวณ ตัดต้นไม้ออกบางส่วน และยกเลิกป่าช้าตรงนั้นไปแล้ว แต่เรื่องเล่าขานถึงสิ่งลี้ลับก็ยังถูกบอกต่อกันมาเรื่อยๆ ชาวบ้านเชื่อว่าต้นส้มโฮงมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่และแสดงปาฏิหาริย์ให้เห็นมาแล้วหลายครั้ง จึงเกิดความศรัทธาและกลายเป็นสิ่งที่พวกเขาใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ว่าจะการงาน การเรียนการสอบเข้าใดๆ ส้มโฮงใหญ่ต้นนี้จะเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านมาบนบานขอให้สมประสงค์ และยังจัดเครื่องสักการบูชาทุกวันพระและช่วยกันดูแลต้นไม้เป็นอย่างดีตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา
ความขลังของต้นส้มโฮงดูจะหอมหวนกว่ากลิ่นของมันมากมาย

Skunk Tree

Flower Stalks

Leaves
