
น้อยคนจะรู้ว่านอกจากชาร์ลส์ ดาร์วิน แล้ว อีกหนึ่งคนที่คิดทฤษฎีวิวัฒนาการได้ในเวลาใกล้เคียง และตีพิมพ์ผลงานนี้ร่วมกัน คือนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ ผู้ใช้เวลาแปดปีเพื่อบุกเบิกการสำรวจทางธรรมชาติ บนหมู่เกาะมลายู ในช่วงเวลานั้นเองวอลเลซได้เห็นต้นไทรเป็นครั้งแรกในชีวิต เขาสร้างบ้านพักอยู่ใกล้มันเพื่อลอบสังเกตอย่างใกล้ชิดและได้พบเรื่องชวนทึ่งในหลายมิติ ทั้งความเป็นมาอันเหี้ยมเกรียมของไทรซึ่งเติบใหญ่ได้ด้วยการกระหวัดรัดไม้อื่นจนตาย ทว่าซากของไม้ที่ตายนั้นกลายเป็นโพรงสวรรค์และแหล่งอนุบาลตัวอ่อนสำหรับสรรพสัตว์ ผลของมันคือเมนูโปรดตลอดกาลของนกแทบทุกชนิด ในที่สุดวอลเลซก็ยกให้ต้นไทรเป็น 'The most extraordinary tree in the forest'

บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เดินเข้ามาจากปากทางประมาณ 350 เมตร จะพบต้นไม้ใหญ่ ลำต้นขนาด 14-15 คนโอบเรือนยอดแผ่กว้าง กระจายกิ่งก้านออกทุกทิศทุกทาง พูพอนสูงท่วมหัว แทบไม่น่าเชื่อ ว่า 'ไทรพัน' ที่สูงใหญ่เพียงนี้เคยอิงอยู่กับต้นไม้ใหญ่ต้นอื่นมาก่อน
ไทรเป็นพืชสกุล Ficus L. (สกุลเดียวกับมะเดื่อ) เป็นตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ของป่าแถบใกล้เส้นศูนย์สูตร ด้วยเหตุที่ว่าสัตว์มักพาเมล็ดของไทรไปหล่นไว้บนต้นไม้อื่นหรือบนที่สูง มันจึงมีเพียงความชื้นจากป่าเขตร้อนเป็นแหล่งอาหารหลักในวัยเยาว์ ก่อนจะเติบโตและหย่อนรากลงหากินในพื้นดินได้ในที่สุด จากนั้นก็ออกดอกผลเป็นอาหารของนกสารพัดชนิด

คาดว่า 'ไทรพัน' ต้นนี้น่าจะงอกต้นอ่อนจากเมล็ดที่ซ่อนแทรกในมูลสัตว์ ซึ่งอาจจะพลัดหล่นติดค้างตามกิ่งก้าน รอยแตก หรือรูโพรง ในระดับค่อนข้างสูงของต้นไม้ เมื่อแรกงอกอาจดูไม่ร้ายกาจอะไร เพียงแค่ดูดน้ำและธาตุอาหารจากซากใบไม้ที่ทับสะสมกันอยู่ตามคาคบของต้นไม้ที่ให้อิงอาศัย แต่หลังจากนั้นไม่นานมันจะแผ่รากแนบติดผิวลำต้น พร้อมกับค่อยๆ ทิ้งหย่อนรากจำนวนมากลงสู่เบื้องล่าง ขณะที่รากบางกลุ่มก็เริ่มพันรอบกิ่งก้านและเชื่อมติดกันดูคล้ายแผงตาข่าย กระทั่งรากใหญ่ของไทรยืดแตะถึงผืนดิน สามารถดูดน้ำและธาตุอาหารขึ้นไปหล่อเลี้ยงตัวเองได้เต็มที่ เมื่อนั้นมันจะเติบโตรวดเร็วทวีคูณและเพิ่มพูนความแข็งแกร่งอย่างฉับพลัน ไม่เพียงแผ่ขยายเรือนยอดกว้างขวางคลุมทับ แต่ยิ่งผ่านไปนานวัน สารพัดรากที่โอบรัดยิ่งบีบต้นไม้ที่มันอิงอาศัยรุนแรงขึ้น หรืออาจแทงรากเข้าเนื้อเยื่อไม้ ไม่ต่างอะไรกับงูเหลือมเล่นงานเหยื่อ เป็นเหตุให้ต้นไม้เคราะห์ร้ายมีสภาพทรุดโทรมลง สังเคราะห์แสงได้น้อยลง และในที่สุดก็ยืนต้นตาย
...สมดังชื่อเรียกในภาษาอังกฤษคือ 'strangler fig' ซึ่งหมายถึงนักฆ่าที่ใช้วิธีรัดคอ
Killer & Giver
แต่สำหรับสรรพชีวิตในป่าไทรพันเอื้อประโยชน์ต่อพวกมันมหาศาล เริ่มจากเป็นบ้านพักพิงของสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย ตลอดลำต้นจากโคนถึงเรือนยอดมีซอกหลืบมากมายให้กบ เขียด กิ้งก่า ตุ๊กแกป่า ฯลฯ เลือกจับจองอยู่อาศัยหรือเร้นหลบภัยจากสัตว์นักล่า แม้แต่พืชกลุ่มอิงอาศัยอื่นๆ เช่น เฟิร์น กล้วยไม้ป่า ยังมาร่วมใช้ ต้นไทรเป็นที่ยึดเกาะ หรือพวกเถาวัลย์ที่เติบโตจากพื้นดินก็เกาะเกี่ยวลำต้นขึ้นสู่คาคบกิ่งก้านและแขวนตัวห้อยระโยงรยางค์ด้วยเช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อถึงห้วงเวลาที่ลูกไทรดกดื่นเต็มต้นทยอยเปลี่ยนสี จากเขียวเป็นเหลือง ส้ม และแดง กลิ่น ของลูกไทรสุกจะฟุ้งกำจายไปทั่ว ราวสัญญาณป่าวประกาศเวลาอาหาร เมื่อนั้นสัตว์น้อยใหญ่ก็จะตอบรับคำเชิญชวนและยกขบวนเดินทางกันมาไม่ขาดสาย สร้างบรรยากาศแห่งความคึกคักราวกับงานฉลองในพงไพร หากเป็นนกขนาดใหญ่อย่างนกเงือก ก็มักเกาะสังเกตการณ์รอบนอก รอจังหวะเหมาะๆ จึงค่อยโผสู่ต้นไทรอย่างเงียบเชียบ หรือไม่ก็ร้องลั่นเพื่อเป็นการเตือนหรือไล่นกขนาดเล็กอื่นๆ ให้ออกไปจากแหล่งอาหารที่มันเล็งไว้ ในบรรดาลูกไม้มากกว่าหกสิบชนิดที่นกเงือกกินนั้น ลูกไทรพันถือเป็นเมนูหลักเพราะพบได้บ่อยที่สุดในป่า ผลนิ่ม และไม่มียาง

ไทรหนึ่งต้นออกผลมากกว่าหนึ่งครั้งในรอบปี และทยอยสุกในช่วงเวลา 1-2 สัปดาห์ โดยธรรมชาติแล้วไทรแต่ละต้นจะออกผลในช่วงเวลาไม่ตรงกัน ผืนป่าที่มีต้นไทรกระจายอยู่มากมายจึงสามารถผลิตอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตสัตว์จำนวนนับไม่ถ้วนได้ตลอดปี ไม่เว้นแม้ช่วงฤดูแล้ง จึงไม่น่าแปลกใจที่พืชตระกูลไทรจะมีความสำคัญอันดับต้นๆ ในฐานะผู้ผลิตอาหารหลักของระบบนิเวศ
โดยทั้งหมดนี้ต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เรียกว่า 'ต่อไทร' เป็นตัวช่วยผสมเกสร

ไทรเป็นต้นไม้ดึกดำบรรพ์ที่อยู่คู่โลกมาหลายล้านปีแล้ว แต่เพิ่งประมาณสามร้อยปีก่อนคริสต์ศักราชที่นักปราชญ์ชาวกรีกนามทีโอฟราสตัส (Theophrastus) สังเกตเห็นว่ามีแมลงเล็กๆ ชนิดหนึ่่งเข้าๆ ออกๆ ผลไทรทุกผล และอีกกว่าสองพันปีผ่านไปมนุษย์ถึงได้รู้ว่ามันไม่ได้เข้าๆ ออกๆ แต่มันอาศัยอยู่ในผลไทรนั่นแต่แรกมันคือต่อไทรนั่นเอง
วงจรดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นภายในลูกไทรที่ได้รับการผสมเกสรแล้ว ต่อไทรตัวผู้ที่พัฒนาจากดักแด้เป็นตัวเต็มวัยจะคืบคลานไปผสมพันธุ์กับต่อไทรตัวเมีย ที่กำลังหลับใหลและยังไม่ออกจากดักแด้

หลายวันต่อมา คาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจของต่อไทรตัวเมียขณะหลับใหล ก็เพิ่มพูนจนแตะระดับที่กระตุ้นให้ผลไทรสุก กลไกการสุกทำให้ผนังผลไทรนิ่มลงและช่วยขยายรูเปิดใต้ผลให้กว้างขึ้นอีกเล็กน้อย ต่อไทรตัวเมียที่ตื่นขึ้นพร้อมกับไข่เต็มท้อง จึงมุดออกจากผลไทรผ่านทางรูเปิดนี้ได้สบายๆ โดยนำพาละอองเกสรของดอกไทรตัวผู้ติดขาไปด้วย
เมื่อค้นพบผลไทรอ่อนสายพันธุ์เดียวกับที่ตัวเองถือกำเนิดและกำลังเจริญเต็มที่ นางต่อไทรจะมุดผ่านรูแคบๆ ที่มีเกล็ดชิ้นเล็กๆ จำนวนมากซ้อนทับปิดไว้เพื่อเข้าไปวางไข่ การเบียดตัวแทรกเข้าไปทำให้ปีกบอบบางฉีกขาดหลุดหาย กว่าจะฝ่าฟันถึงดอกกอลล์ ซึ่งเป็นดอกพิเศษที่ธรรมชาติจัดเตรียมไว้รองรับการวางไข่ของต่อไทรโดยเฉพาะ เกสรดอกไทรตัวผู้ที่ติดมาจากผลโน้นก็ผสมกับเกสรดอกไทรตัวเมียภายในผลนี้แล้วเรียบร้อย พัฒนาเป็นผลไทรเพื่อหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในป่า

ถือเป็นความเกื้อกูลอันงดงามระหว่างต่อไทรกับต้นไทรที่จะต้องดำรงอยู่คู่กัน เพื่อแพร่ขยายพันธุ์ที่เราหวังว่าจะไม่มีวันสิ้นสุดลงต่อไป