

พืชบกส่วนใหญ่หายใจรับก๊าซออกซิเจนผ่านปากใบ
แต่ใบของโกงกางสายพันธุ์นี้กลับมีหน้าที่หลัก
ในการสังเคราะห์แสงและขับเกลือ


ณ รอยต่อระหว่างแผ่นดินระนองกับท้องทะเลอันดามันเป็นแนวปะทะของน้ำจืดกับน้ำเค็มที่ผลัดกันรุกผลัดกันรับตามอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลงในแต่ละช่วงเวลาของวัน ดินแดนรอยต่อนี้ ปกคลุมด้วยผืนป่าชายเลนขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และได้รับการยกย่องว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประกาศให้ที่นี่เป็น 'พื้นที่สงวนชีวมณฑล' ตั้งแต่ปี 2540 การการันตีความสำคัญเชิงนิเวศวิทยาและคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่นในระดับสากลนี้ทำให้ศูนย์วิจัยป่าชายเลน จังหวัดระนอง ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่มาแต่เดิม ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงด้านการวางแผนและการจัดการเพื่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมของยูเนสโกด้วยการแบ่งป่าชายเลนผืนนี้ออกเป็นสามส่วน ได้แก่ พื้นที่แกนกลาง (core area) ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายและต้องไม่ถูกรบกวนจากกิจกรรมใดๆ ของมนุษย์ ยกเว้นการศึกษาวิจัยหรือตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ สองคือ พื้นที่กันชน (buffer zone) ที่อนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมที่ไม่ขัดกับการอนุรักษ์ เช่น การ ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และสุดท้ายคือพื้นที่รอบนอก (transition area) ซึ่งเปิดโอกาสให้ชุมชนใช้ ประโยชน์ได้ภายใต้เงื่อนไข 'ไม่สร้างผลกระทบต่อพื้นที่แกนกลาง' เช่น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
Against All Odds

แน่นอนว่าต้นไม้สำคัญที่เป็นไฮไลต์ของพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนองคือ โกงกางใบเล็กต้นเก่าแก่สูงใหญ่ ซึ่งเติบโตอย่างอุดมสมบูรณ์อยู่ในพื้นที่แกนกลาง ด้วยขนาดเส้นรอบวงลำต้นเฉลี่ย 2.1 เมตร ความสูงประมาณ 33 เมตร และรากค้ำยันที่แตกแขนงมากมาย จึงนับว่าเป็นต้นโกงกางใบเล็กที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ขึ้นชื่อว่ามีชีวิตในป่าชายเลน พันธุ์ไม้แถบนี้จึงต้องปรับตัวทั้งสรีระภายนอกและโครงสร้างภายใน และยังต้องออกแบบกลยุทธ์สำหรับลูกหลานด้วยทั้งหมดเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางความแปรปรวนของป่าชายเลน

โกงกางใบเล็กมีระบบรากแก้วที่แตกแขนงเป็นรากค้ำยันจำนวนมากรอบโคนต้น รากค้ำยันที่ดูสะเปะสะปะไร้ระเบียบเหล่านี้ไม่เพียงเป็นโครงสร้างที่ช่วยพยุงลำต้นให้ตั้งอยู่ได้ แต่ยังทำหน้าที่ดึงออกซิเจนไปใช้ในกระบวนการหายใจด้วย ในขณะที่พืชบกส่วนใหญ่หายใจรับก๊าซออกซิเจนผ่านปากใบ ผ่านรอยแตกของลำต้นบ้าง และผ่านเนื้อเยื่อของรากอ่อน แต่ใบเล็กของโกงกางสายพันธุ์นี้กลับมีเพียงหน้าที่หลักในการสังเคราะห์แสงและขับเกลือ อีกทั้งดินเลนอ่อนนุ่มที่รากของโกงกางใบเล็กปักยึดก็มักโดนน้ำกร่อยหรือน้ำเค็มท่วมตลอดเวลา อาจจะสูงบ้างต่ำบ้างตามจังหวะขึ้น-ลงของน้ำทะเล ทำให้ออกซิเจนในอากาศไม่สามารถแพร่กระจายลงสู่ดินเลนได้สม่ำเสมอ รากค้ำจุนที่โผล่พ้นน้ำจึงต้องช่วยดูดจับออกซิเจนจากอากาศโดยตรง
แม้จะอยู่กับน้ำกร่อยปริมาณมหาศาล แต่เช่นเดียวกับพืชบกทั่วไป โกงกางใบเล็กยังต้องใช้น้ำจืดกับทุกกระบวนการดำรงชีวิต มันจึงต้องควบคุมความเข้มข้นของเกลือให้เหมาะสม เริ่มตั้งแต่พัฒนาเนื้อเยื่อพิเศษบริเวณรากขึ้นมาให้เป็นเครื่องกรองเกลือเพื่อดูดซับน้ำจืดเข้าสู่ลำต้นโดยมีเกลือปะปนเพียงน้อยนิด จากนั้นจึงเคลื่อนเกลือน้อยนิดส่วนเกินนี้ไปเก็บไว้ที่ใบรอการขับออก พร้อมกับสร้างใบอวบหนา เป็นมันวาว เพื่อกักเก็บน้ำจืดไว้ให้ได้มากที่สุด นอกจากนั้นปากใบของต้นโกงกางจะจมลึกเข้าไปในเนื้อใบมากกว่าพืชบกทั่วไป และมักปิดปากใบในช่วงเวลากลางวันเพื่อลดปริมาณการคายน้ำ ฟังก์ชั่นพิเศษเหล่านี้ช่วยให้ต้นโกงกางใบเล็กเติบโตได้อย่างสบายๆ ภายใต้เงื่อนไขของน้ำกร่อยน้ำเค็ม

สมรภูมิความเค็มนั้นโหดร้ายทีเดียวโดยเฉพาะกับต้นไม้ช่วงแรกเกิด เมล็ดน้อย ต้องดูดน้ำจืดเข้าไปในเซลล์เพื่อกระตุ้นการพัฒนาต้นกล้าและทำให้เปลือกเมล็ดอ่อนนิ่มปริแตกง่าย รากของชีวิตใหม่จะได้แทงออกมาได้สะดวก แต่หากปล่อยให้ผลร่วงหล่นไปเติบโตตามยถากรรมในวิถีเดียวกับพืชบกส่วนใหญ่ เมล็ดที่ซ่อนอยู่ภายในผลโกงกางใบเล็กย่อมไม่มีทางหาน้ำจืดเองได้ และกระบวนการงอกย่อมไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน โกงกางใบเล็กจึงพยายามเพิ่มโอกาสรอดของต้นอ่อน โดยออกแบบให้เมล็ดน้อยเริ่มต้นกิจกรรมการงอกตั้งแต่ผลยังติดอยู่กับต้นแม่ สามารถใช้น้ำจืดจากต้นแม่เพื่อทำให้รากแรกเกิดงอกแทงทะลุปลายผลออกมา จากนั้นก็ยืดเป็นแท่งปลายแหลมที่เรียกกันว่า 'ฝัก โกงกาง' และรอจนกระทั่งผลแก่เต็มที่ ฝักหรือต้นอ่อนโกงกางใบเล็กจึงหลุดออกจากเปลือกผลและทิ้งตัวตามแรงดึงดูดของโลก
หากปลายแหลมปักลงดินเลนในช่วงน้ำลงได้อย่างเหมาะเจาะ มันจะรีบงอกรากฝอยเล็กๆ ออกจากโคนต้นเพื่อยึดตัวกับพื้นดินให้แน่นพอ และพัฒนาตัวเองเป็นรากแก้วในภายหลัง ขณะที่ปลายอีกด้านซึ่งเป็นตำแหน่งยอดก็พร้อมแทงกิ่งแตกใบเช่นกัน หากแต่หลายครั้งฝักต้นอ่อนโกงกางใบเล็กไม่ได้ปักลงดินเลนใต้ต้นแม่กลับลอยเท้งตามกระแสน้ำ ซึ่งธรรมชาติก็บรรจงออกแบบลักษณะการลอยที่เอื้อต่อการรอดชีวิตเอาไว้ด้วย กล่าวคือเมื่อมันลอยออกทะเลซึ่งน้ำมีความเค็มจัด ฝักโกงกางจะลอยขนานผิวน้ำทำให้ตายอดเปียกชื้นตลอดเวลา รอดพ้นจากการไหม้เกรียมเพราะแสงแดดแผดเผา ในทางกลับกันยิ่งเดินทางเข้าใกล้ฝั่งซึ่งความเค็มเจือจางลงเป็นน้ำกร่อย ฝักโกงกางจะค่อยๆ ลอยตั้งฉากกับพื้นท้องน้ำ เรียกได้ว่าอยู่ในท่าเตรียมพร้อมสำหรับการปักลงในดินเลนอันจะเป็นถิ่นฐานสำหรับการเริ่มชีวิตใหม่ต่อไป

แค่ปรับตัวให้ดำรงอยู่รอดอย่างเดียวอาจไม่พอ ในเงื่อนไขชีวิตที่ทรหด โกงกางใบเล็กจำต้องมีกลยุทธ์พิเศษเพื่อเพิ่มโอกาสการอยู่รอดให้กับลูกหลานและสร้างความสำเร็จในการกระจายเผ่าพันธุ์
นี่คือกลไกธรรมชาติแสนอัศจรรย์ที่พลิกแพลงได้ไม่แพ้สติปัญญาของคน