

The best time to plant a tree
was 20 years ago. The second best time is now.
Chinese Proverb



บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเลยที่ไหลคดเคี้ยวในอาณาเขตป่าชุมชนบ้านนาบอน อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย ยังคงอุดมด้วยไม้ใหญ่จำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ เชียง ต้นไม้ที่ขึ้นชื่อว่าใหญ่ที่สุดในจังหวัด จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยเห็น เชียงต้นนี้มานานจากรุ่นสู่รุ่น ประเมินกันว่าน่าจะมีอายุราวสองร้อยปี ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของเชียงที่จัดเป็นยักษ์ใหญ่นิสัยดี กินง่ายอยู่ง่าย หากไม่โดนรบกวนอย่างหนักหรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงกะทันหัน ต้นเชียงก็จะเติบโตไปได้เรื่อยๆ และมีอายุยืนยาวหลายร้อยปี
ปะเหมาะกับบริเวณดังกล่าวถูกใช้เป็นสถานที่เผาศพมาแต่อดีต และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ 'ป่าช้าบ้านนาบอน' ทำให้บรรยากาศเงียบสงบขยับดีกรีขึ้นเป็นสงัด วังเวงในความรู้สึกของผู้คน จึงดูเหมือนไม่มีใครกล้าเข้ามาตัดต้นไม้แถบนี้ และส่งผลให้เชียงยักษ์ขยายพูพอนสวยสมบูรณ์ถึงขนาดสี่สิบคนโอบ
ต้น 'เชียง' หรือ 'เซียง' แล้วแต่การออกเสียงสำเนียงของแต่ละท้องถิ่น มักพบใกล้แหล่งน้ำหรือลำห้วยเพราะเติบโตได้ดีในบริเวณที่ความชื้นสูง แต่คุณลักษณะที่ออกจะขัดแย้งกับสายตาก็คือ แม้จะมีลำต้นสูงใหญ่แต่จัดเป็นไม้เนื้ออ่อน เหตุผลหนึ่งที่ทำให้โตได้รวดเร็ว เพราะมันปราศจากแก่นไม้แข็งแกร่งในตำแหน่งแกนกลางลำต้นและยังปราศจากรากแก้วที่หยั่งลึก ยักษ์ใหญ่หัวใจอ่อนโยนจึงต้องพัฒนารากฝอยจำนวนมาก แผ่กระจายยึดเกาะผืนดินอยู่ทั่วไปเพื่อคอยดูดซึมธาตุอาหาร แต่ก็ทำได้เพียงบริเวณผิวหน้าดินจนถึงใต้ดินระดับตื้นๆ ประมาณ 30-50 เซนติเมตรเท่านั้น เชียงจึงต้องมีพูพอนใหญ่โตเป็นเอกลักษณ์เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ฐานล่างรองรับเรือนยอดด้านบนที่สูงลิ่วและแผ่กว้างได้ เปรียบเหมือนคนตัวใหญ่พยายามยืนกางขาเพื่อให้ทรงตัวมั่นคงกว่าการยืนเท้าชิดนั่นเอง
A Soft-Hearted Troll

เชียงเป็นต้นไม้ที่ผึ้งนิยมเลือกทำรังเพราะใบหนาเป็นพุ่ม ให้ร่มเงาเย็นสบาย กิ่งก้านสูง ปลอดภัยจากการถูกรบกวน ต้นเชียงในบางพื้นที่จึงได้ชื่อว่า 'ต้นผึ้ง' หรือ 'ต้นยวนผึ้ง' หรือ 'ต้นเลียงผึ้ง' สำหรับเชียงใหญ่ต้นนี้ในอดีตก็เคยเป็นศูนย์รวมของรังผึ้งราว 20-30 รัง ร่องรอยเหมือนแผลเป็นบนลำต้นมาจากการตอก 'ทอย' ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นการตอกลิ่มไม้หรือแท่งเหล็กลงบนลำต้นเพื่อปีนขึ้นไปตีผึ้งและเก็บรังขาย แต่ภายหลังชุมชนบ้านนาบอนพร้อมใจกันเลือกเดินเส้นทางอนุรักษ์ จึงไม่อนุญาตให้เก็บรังผึ้งอีกและเริ่มจัดพิธีบวชป่าครั้งแรกราวปี 2544 เมื่อไม่ถูกรบกวน เชียงใหญ่จึงได้ต้อนรับฝูงผึ้งเพื่อนเก่าของมันอีกครั้ง
นอกจากผึ้งแล้ว ยังมีบรรดาสมุนไพรล้ำค่าอีกหลากหลายที่พึ่งพาร่มเงาของเชียง ใหญ่ อาทิ น้ำนมราชสีห์ ชะพลู รางแดง สมอพิเภก เตยหอม เปล้าใหญ่ ไพล ฯลฯ จนมีการปรับปรุงพื้นที่ให้กลายเป็นสวนสมุนไพรคู่กับป่าชุมชน ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยและสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเลย เพื่อดำเนินการปลูกสมุนไพรเพิ่มเติมอีกด้วย

ครั้นต้นเชียงได้รับเลือกเป็น 1 ใน 65 ต้นไม้ใหญ่ 'รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี' เมื่อปี 2558 ชุมชนบ้านนาบอนได้เริ่มพัฒนาพื้นที่เป็นจุดแวะชมต้นไม้ใหญ่และให้ความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพร นักวิชาการป่าไม้เสนอให้ทำสะพานหรือทางเดินล้อมโคนต้นเพื่อป้องกันนักท่องเที่ยวเข้าเหยียบย่ำพื้นที่รอบๆ และส่งผลกระทบถึงระบบรากในระยะยาว ชาวบ้านจึงสร้าง 'ขัวแตะ' หรือสะพานไม้ไผ่ สานขัดแตะอันเป็นภูมิปัญญาของคนล้านนา โดยออกแบบเป็นทางเดินวงกลมรอบต้นและยกสูงจากพื้นดิน

ก่อนเริ่มสร้างมีเสียงท้วงติงถึงความไม่ทนทานของไม้ไผ่ซึ่งใช้งานได้ดีเพียงระยะสั้นๆ แล้วก็ผุพังให้ต้องรื้อซ่อมแซม กระนั้นผู้นำชุมชนก็ยังยืนยันตัวเลือกเดิมด้วยเหตุผลที่น่าประทับใจ นั่นคือไผ่เป็นวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น ประหยัดงบประมาณก่อสร้าง หาทดแทนได้ง่าย ไม่ทนมากก็ไม่เป็นไร เพราะหากถึงคราวต้องสร้างขัวแตะขึ้นใหม่จริงๆ ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้จัดกิจกรรมชักชวนทุกคนมาลงมือลงแรงกัน กระชับความสัมพันธ์ของชุมชน

น่าดีใจที่หลากชีวิตล้อมรอบเชียงใหญ่ต้นนี้มีความกลมเกลียวปรองดองกันโดยมิได้นัดหมาย