
When great trees fall in forests,
small things recoil into silence, their senses eroded beyond fear.
Maya Angelou


เป็นทั้งความแปลกตาและน่าทึ่งเมื่อคุณเห็นต้นไม้เก่าแก่ต้นหนึ่งไม่เพียงมีชีวิตอยู่ได้ แต่ยังดูสุขภาพดี ออกใบเขียวสดทั่วพุ่มเรือนยอด ทั้งที่ลำต้นของมันตั้งแต่โคนระดับดินจนถึงความสูงประมาณ 4-5 เมตร อยู่ในสภาพกลวงโบ๋!

ต้นไม้น่าทึ่งที่ว่านี้คือ 'มะขามโพรง' ซึ่งเติบใหญ่อยู่ท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงบและร่มรื่นภายในวัดศิลามงคล ตำบลหินฮาว อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2281 ในสมัยอยุธยาตอนปลาย
คำบอกเล่าปากต่อปากของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนที่พอจะสืบย้อนขึ้น ไปได้ 2-3 ชั่วอายุคนเล่าว่า เห็นต้นมะขามสูงใหญ่ต้นนี้อยู่ตรงนี้มาตั้งแต่เกิด ซึ่งหากนับเวลาถึงปัจจุบันก็ย่อมนานกว่าสองร้อยปี แม้ไม่มีหลักฐานหรือเบาะแสเกี่ยวกับจุดกำเนิด แต่หลายคนก็สันนิษฐานไปในทางเดียวกัน ด้วยความสูงมากกว่า 20 เมตร รัศมีทรงพุ่มประมาณ 15-20 เมตร และเส้นรอบวงลำต้นกว่า 8 เมตร มะขามต้นนี้น่าจะอยู่มาก่อนสร้างวัด

A Heart Is Not a Hole
มะขาม (ชื่อวิทยาศาสตร์ Tamarindus indica Linn.) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา กระจายพันธุ์ถึงแถบเอเชียใต้โดยชนชาติอาหรับ และเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่เจ็ดร้อยกว่าปีที่แล้ว โดยปรากฏหลักฐานอยู่บนศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มีข้อความตอนหนึ่งว่า "หมากขามก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้างได้ไว้แก่มัน"
ผ่านมาถึงปัจจุบัน มะขามซึ่งพบได้ทุกภูมิภาคของประเทศกลายเป็นหนึ่งในพืชที่คนไทยคุ้นเคยและใช้ ประโยชน์กันอย่างแพร่หลาย นอกจากยอดอ่อน ฝักอ่อน และผล ซึ่งเป็นอาหาร รวมถึงส่วนต่างๆ ที่มีสรรพคุณ ทางสมุนไพร ไม้มะขามซึ่งจัดเป็นไม้เนื้อแข็ง ทั้งแข็งแรง เหนียว ทนทาน ยังถูกแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องมือเครื่องใช้หลากหลาย
ที่ได้รับความนิยมโดดเด่นสุดคงหนีไม่พ้นการทำหน้าที่ 'เขียง' คู่ครัว เนื่องจากเนื้อไม้มีความหนาแน่นสูง รองรับแรงหั่นสับได้ดี ไม่มีเศษเนื้อไม้หลุดออกมาปะปนในอาหาร


ด้วยมีสภาพอากาศร้อนแล้ง ภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง และดินร่วนอุดมด้วยโพแทสเซียม ครบทั้งสามปัจจัยที่เอื้อให้ปลูกมะขามได้ผลผลิตดีและมีคุณภาพ เพชรบูรณ์จึงได้ชื่อว่าเป็นแดนมะขามมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในเขตอำเภอหล่มเก่านั้นเป็นถิ่นกำเนิดของมะขามหวานพันธุ์โบราณอายุมากกว่าสองร้อยปีและเป็นต้นตระกูลของมะขามหวานอีกหลายสายพันธุ์ ในขณะเดียวกันมะขามเองก็มีความสำคัญถึงขนาดก้าวขึ้นเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ด้วย ดังคำขวัญ "เมืองมะขามหวาน อุทยานน้ำหนาว ศรีเทพเมืองเก่า เขาค้ออนุสรณ์ นครพ่อขุนผาเมือง"
สำหรับมะขามโพรงต้นนี้เป็นมะขามพันธุ์เปรี้ยว เคยออกฝักขนาดใหญ่ดกเต็มต้นให้ชาวบ้านได้เก็บฝักที่ร่วงหล่นไปทำแกงส้มหรือเพิ่มเติมรสเปรี้ยวให้อาหารอยู่บ่อยๆ ทว่าระยะหลังปริมาณฝักร่อยหรอลงตามวัยของมัน
อันที่จริงมะขามต้นนี้มิได้มีลำต้นกลวงโบ๋มาแต่แรก แค่เป็นปุ่มปมปูดโปนและมีหลืบโพรงลึกบ้างตื้นบ้างเหมือนต้นมะขามอายุมากทั่วไป กระทั่งเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นตามเรื่องเล่าของชุมชนหินฮาว
ย้อนกลับไปประมาณร้อยปี ไม่มีใครระบุตัวเลขปีพุทธศักราชที่แน่นอนได้ รู้เพียงว่าเป็นช่วงเวลาที่วัดศิลามงคลจัดงานบุญพระเวสหรืองานบุญมหาชาติ เดือน 3 วันนั้นเองในระหว่างที่ชาวบ้านหินฮาวและชุมชนใกล้เคียงกำลังนั่งฟังเทศน์มหาชาติอยู่ในศาลาการเปรียญ มีงูใหญ่สองตัวออกมาจากศาลเจ้าเก่าและเลื้อยหายเข้าไปในต้นมะขาม ด้วยกลัวงูจะทำร้ายหรือเป็นอันตรายกับพระสงฆ์ที่อยู่ในวัด ชาวบ้านจึงจุดไฟสุมโคนต้นหวังกำจัดอสรพิษ จนทำให้ต้นมะขามโดนไฟไหม้เสียหาย
หลังจากนั้นลำต้นก็กลายเป็นโพรงใหญ่ขนาดที่คนเดินลอดปากโพรงความสูงประมาณเมตรครึ่งเข้าไปยืนอยู่ตรงช่องว่างกลางลำต้นในตำแหน่งซึ่งเคยเป็นแก่นไม้ได้อย่างสบายๆ แถมยังเหลือพื้นที่ให้คนเข้าไปยืนพร้อมกันได้อีกประมาณ 3-4 คน

ความกว้างใหญ่โอ่โถงของโพรงนั้นมหัศจรรย์ แม้จะชูมือขึ้นเหนือศีรษะจนสุดแขนก็ไม่สามารถแตะเพดานโพรงได้ หากทรุดตัวลงนั่งแล้วลองเหยียดแขนซ้ายและแขนขวาตรงออกไปข้างลำตัวในระดับเสมอไหล่เพื่อวัดระยะกว้างที่สุดของฐานโพรง ก็ใช่ว่าปลายนิ้วมือทั้งสองข้างจะแตะผนังโพรงสองฝั่งได้พร้อมกัน
ครั้นค่อยๆ สำรวจรายละเอียดรอบตัวจะพบผนังโพรงเว้าแหว่งและเนินนูนสลับกันไปอย่างไร้รูปแบบ ลวดลายไม้ผนังโพรงดูคล้ายการลากเส้นจากพื้นดินพุ่งขึ้นสู่ด้านบน บางจุดมีขบวนมดดำตัวเป้งเดินขวักไขว่ไม่ขาดสาย ผนังลำต้นผุทะลุ เป็นช่องเล็กๆ หลายแห่ง โดยเฉพาะช่องใหญ่สุดด้านบนที่ต้องแหงนมองนั้นปรากฏภาพใบไม้เล็กยิบสีเขียวสดกำลังเต้นระบำตาม แรงลมภายนอก ให้ความรู้สึกราวกับมองผ่านหน้าต่างของห้องลับใจกลางต้นไม้ ไม่น่าเชื่อว่าเรากำลังยืนอยู่ภายในต้นไม้ที่ยังมีชีวิต

เพื่อจะคลี่คลายความแปลกตาน่าทึ่งก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แก่นไม้ในตำแหน่งแกนกลางลำต้นของพืชใบเลี้ยงคู่อย่างมะขามเคยเป็นไซเลมซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงน้ำและแร่ธาตุจากรากขึ้นไปสู่ส่วนต่างๆ โดยระหว่างการเจริญเติบโต ลำต้นของพืชจะสร้างเนื้อเยื่อไซเลมและโฟลเอม (เปลือกชั้นใน) ใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ บริเวณรอบนอกของไซเลมเดิม หากพิจารณาจากภาพตัดขวาง เนื้อเยื่อทั้งสองส่วนนี้จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและเรียงตัวเป็นระเบียบรอบแก่นไม้ในรัศมีเดียวกันจากจุดศูนย์กลางลำต้น มีเปลือกไม้ล้อมปิดอยู่ด้านนอกสุด
ขณะเดียวกันไซเลมเก่าก็จะสะสมลิกนินมากขึ้นๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางเคมีที่ช่วยให้ผนังเซลล์แข็งตัว จนไม่สามารถลำเลียงน้ำและแร่ธาตุได้อีก กลายเป็นเซลล์ที่หยุดภาวะการมีชีวิต หรือจะเรียกว่า 'เนื้อเยื่อที่ตายแล้ว' ก็ไม่ผิดนัก และเปลี่ยนสภาพเป็นเนื้อไม้ที่มีความแข็งแรงมาก เพื่อรับน้ำหนักเรือนยอดและพยุงลำต้นให้เจริญเติบโตในแนวดิ่งได้อย่างมั่นคง ส่วนโฟลเอมเก่าซึ่งเคยทำหน้าที่ลำเลียงสาร อาหารโมเลกุลใหญ่ เช่น น้ำตาล คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ที่ได้จากการสังเคราะห์แสง ก็โดนเบียดสลายไป

ตามกระบวนการทางธรรมชาติ เมื่อต้นไม้โดนไฟไหม้บาดแผลที่แก่นไม้มักโดนแบคทีเรียและเชื้อราจู่โจม การผุพังและการย่อยสลายโดยสิ่งมีชีวิตเล็กๆ กลุ่มนี้ ทำให้โพรงขยายใหญ่ขึ้น แต่กระพี้และเปลือกไม้ซึ่งเป็นที่อยู่ของกลุ่มเซลล์ลำเลียงน้ำ แร่ธาตุ และสารอาหาร อาจได้รับความเสียหายน้อยกว่า อีกทั้งกลุ่มเซลล์เหล่านี้สามารถสร้างขึ้นใหม่เรื่อยๆ การลำเลียงน้ำ แร่ธาตุ สารอาหาร จึงดำเนินไปตามปกติและหล่อเลี้ยงให้ต้นมะขามโพรงมีชีวิตอยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบันนั่นเอง

Tamarind

Pods

Flowers
