
เดิมชาววังเรียกไม้ต่างถิ่นต้นนี้ว่า ‘ต้นน้ำอบฝรั่ง’ ต่อมาเปลี่ยนเป็น ‘แก้วใจจุลจอม’
สันนิษฐานกันว่าหมายถึงแก้วตาดวงใจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งก็คือสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ นั่นเอง


ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทามีเนินดินขนาดย่อมที่เต็มไปด้วยแมกไม้อยู่แห่งหนึ่งคนคุ้นเคยเรียกกันว่า ‘เนินพระนาง’ ด้วยอยู่ใกล้พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา กุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่น้อยตรงเนินพระนางนั้น ปรากฏไม้พุ่มขนาดกลางซึ่งสูงเด่นถึงสิบห้าเมตร ลำต้นคดโค้งสร้างเส้นสายแปลกตา หากแต่คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของมันกลับโดดเด่นยิ่งกว่า เพราะนี่คือต้นแก้วเจ้าจอมรุ่นแรกในประเทศไทย ปลูกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ครั้งแรกสร้างสวนสุนันทา ซึ่งในตอนนั้นปลูกไว้หลายต้นแต่เหลือรอดมาถึงปัจจุบันเพียงต้นเดียว นับรวมอายุแล้วมากกว่าร้อยปี

ข้อมูลในจดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสวนแห่งนี้ทางทิศตะวันตกของพระราชวังดุสิตเมื่อปี 2451 โดยพระราชทานนาม ‘สวนสุนันทา’ นัยว่าเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา กุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งสิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่มในปี 2423
The Regal Memory

ด้วยพระราชประสงค์ให้สวนแห่งนี้เป็นสวนป่าคล้ายที่พระราชวังเบิร์นสตอร์ฟประเทศเดนมาร์ก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลหายากนานาชนิดมาปลูกรวมกันไว้ หนึ่งในนั้นคือต้นไม้ที่มีชื่อสามัญเป็นภาษาละตินว่า ‘lignum vitae’ แปลว่า ‘ต้นไม้แห่งชีวิต’ พระองค์เคยทอดพระเนตรความงามเมื่อครั้งเสด็จประพาสชวาและได้ทรงนำสายพันธุ์กลับมาด้วย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตหลังจากเริ่มสร้างสวนได้เพียงสองปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการสร้างต่อจนแล้วเสร็จในปี 2466 เดิมทีชาววังเรียกต้นไม้ต่างถิ่นต้นนี้ว่า ‘ต้นน้ำอบฝรั่ง’ ด้วยยามที่ดอกกลีบบางสีม่วงครามอมขาวบานสะพรั่งทั้งต้นนั้นจะส่งกลิ่นหอมชื่นใจไปทั่ว ครั้นเมื่อพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา เสด็จมาประทับที่ตำหนักซึ่งสร้างขึ้นในบริเวณสวนนี้ช่วงปี 2467-2472 ดูเหมือนต้นไม้ต้นเดียวกันนี้จะถูกเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น ‘แก้วใจจุลจอม’ สันนิษฐานกันว่าตั้งโดยพระวิมาดาเธอฯ หมายความถึงผู้ที่เป็นแก้วตาดวงใจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็คือสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีนั่นเอง


การเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งเกิดขึ้นในปี 2475 ทำให้บรรดาเจ้านายฝ่ายในและเจ้าจอมย้ายออกไปจนหมด พระตำหนักต่างๆ และสวนสุนันทาถูกทิ้งร้าง ล่วงมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล หรือรัชกาลที่ 8 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เห็นควรโดยมติคณะรัฐมนตรี ให้ใช้ประโยชน์สวนสุนันทาเป็นสถานศึกษาของชาติ กระทรวงธรรมการหรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันจึงดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย และเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ปี 2480 เรื่อยมา
ช่วงที่คุณหญิงกรองแก้ว ปทุมานนท์ ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ในปี 2491-2498 และปี 2500-2516 ทางโรงเรียนได้เชิญศาสตราจารย์เต็ม สมิตินันทน์ กับหลวงบุเรศบำรุงการ สองผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ เข้ามาสำรวจพันธุ์ไม้ในพื้นที่และได้ข้อสรุปว่า ไม่เคยพบต้นไม้สายพันธุ์นี้ที่ใดมาก่อนในประเทศไทย จึงได้ตั้งชื่อใหม่เป็น ‘แก้วเจ้าจอม’

สถานภาพต้นแรกและต้นเดียวในประเทศไทยคือความพิเศษที่มีคุณค่ามาก คุณหญิงกรองแก้วจึงกำหนดให้ต้นแก้วเจ้าจอมเป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนฯ แม้ภายหลังจะยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยครูสวนสุนันทา สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ตามลำดับ แก้วเจ้าจอมก็ยังคงเป็นต้นไม้ประจำสถานศึกษาแห่งนี้เรื่อยมา

แก้วเจ้าจอมมีความหลากหลายถึงสามสายพันธุ์ คือแก้วเจ้าจอมสี่ใบ แก้วเจ้าจอมหกใบ และแก้วเจ้าจอมแปดใบ โดยต้นตระกูลแก้วเจ้าจอมในสยามที่อยู่บนเนินพระนางเป็นสายพันธุ์แบบสี่ใบ และแม้จะเปลี่ยนผ่านมาแล้วหกแผ่นดินแต่ก็ยังสุขภาพแข็งแรง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาได้ดำเนินการขยายพันธุ์แก้วเจ้าจอมมาตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ทำให้วันนี้มีต้นแก้วเจ้าจอมรุ่นปลูกใหม่กระจายอยู่ทั่วมหาวิทยาลัยฯ ไม่ต่ำกว่าสิบต้น
ความทรงจำของเจ้าจอมผู้เป็นที่รักจึงยิ่งหอมกำจายไปทั้งสถาบัน