
ด้วยการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติระหว่างจำปาและจำปีป่า
ทำให้จำปาขาวต้นนี้ออกดอกสีเหลืองอ่อน ผิดแผกจากจำปาทั่วไป
นับเป็นไม้หายาก พบเฉพาะบางถิ่นเท่านั้น


ในยุคสมัยที่บ้านเมืองยังไม่เป็นปึกแผ่นและเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง นอกจากโหรหลวงที่คอยพยากรณ์เหตุการณ์สำคัญให้พ่อบ้านแม่เมืองแล้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกสิ่งที่รับหน้าที่คล้ายคลึงกันคือต้นไม้ และสายพันธุ์ที่ชาวสยามนิยมปลูกไว้เสี่ยงทายมากเป็นพิเศษคือต้นจำปา ด้วยขึ้นชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่เลี้ยงยากแต่ตายง่าย ปราบเซียนนักปลูกมานักต่อนัก กระนั้น ณ วัดกลางศรีพุทธาราม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ยังมีต้นจำปาขาวต้นหนึ่งที่ไม่เพียงเติบโตงอกงาม แต่ยังอยู่ยงจนสืบประวัติย้อนไปได้กว่า 750 ปี


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่า พ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง ทรงปลูกต้นจำปาขาวไว้ทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถ วัดกลางศรีพุทธาราม เพื่อเป็นอนุสรณ์คู่บ้านคู่เมือง จากนั้นในเดือนมิถุนายน 2497 หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จมาอำเภอนครไทย และตรัสถามถึงต้นจำปาขาวดังกล่าว เพื่อจะเสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง
ปรากฏว่า ณ ด้านหลังอนุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ในอาณาเขตของวัด มีจำปาขาวเก่าแก่ยืนต้นตรงตามบันทึกนั้นจริง การมีอยู่ของจำปาต้นนี้สอดคล้องกับตำนานท้องถิ่นที่ว่า พ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง ได้ทรงปลูกต้นจำปาเพื่อเสี่ยงทายก่อนยกไพร่พลไปกู้เมืองสุโขทัย ซึ่งขณะนั้นตกอยู่ภายใต้การปกครองของขอม โดยทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า หากชนะการศึก สามารถตีเมืองสุโขทัยคืนมาได้ ก็ขอให้ต้นจำปาเจริญงอกงามดีและออกดอกเป็นสีขาว แต่หากพลาดท่าเสียทีก็ขอให้จำปาเหี่ยวเฉาและตาย
ทุกอย่างเป็นไปตามที่ทรงตั้งสัตยาธิษฐาน พ่อขุนบางกลางท่าวได้รับชัยชนะและทรงขึ้นครองราชย์เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย และต้นจำปาดอกสีขาวต้นนี้ก็แตกกิ่งก้านเติบโตเป็นประจักษ์พยานแห่งพระบารมีเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
The Promise of Prosperity
ความพิเศษประการหนึ่งของจำปาต้นนี้คือดอกกลีบสีขาวนวลหรือเหลืองอ่อน แทนที่จะเป็นสีเหลืองอมส้มหรือสีเหลืองเข้มเหมือนจำปาทั่วไป ผลการสำรวจและศึกษาพรรณไม้วงศ์จำปาหรือสกุล Magnolia ในประเทศไทย พบว่าต้นจำปาขาวในวัดกลางมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia champaca x baillonii นับเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เกิดจากการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติระหว่างจำปา (Magnolia champaca (L.) Baill. ex Pierre) และจำปีป่า (Magnolia baillonii Pierre) ทำให้สีของกลีบดอกเป็นสีออกขาวแตกต่างจากจำปาทั่วไปอย่างชัดเจน


แม้จำปาเสี่ยงทายน่าจะมีชีวิตยืนยาวมานานกว่า 700 ปีแล้ว วันนี้มันก็ยังหมั่นออกดอกตามซอกใบอย่างต่อเนื่องทั้งปี โดยจะออกดอกชุกที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม กระทั่งส่งกลิ่นหอมฟุ้งทั่วบริเวณวัด แต่สุขภาพโดยรวมก็ทรุดโทรมลงตามอายุขัย โคนต้นด้านหนึ่งที่ผุกร่อนมานานกว่าสามสิบปีกลายเป็นช่องใหญ่ขนาดคนลอดผ่านได้ ซึ่งชาวนครไทยเชื่อกันว่า หากคนต่างถิ่นเดินลอดโพรงต้นจำปาขาวก็จะได้กลับมาอยู่ที่นี่อีก จึงมีผู้คนแวะเวียนมาลอดโพรงหรือเดินวนรอบโคนต้นอยู่เป็นประจำ แรงศรัทธาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้ได้ทำร้ายต้นไม้ชราอย่างไม่คาดคิด
งานดูแลสุขภาพจำปาขาวเริ่มขึ้นในปี 2559 ดร.คงศักดิ์ มีแก้ว ผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ นำทีมหมอต้นไม้จากส่วนกลางเข้ามาเยียวยาจำปาขาวแห่งเมืองพิษณุโลก ยามนั้นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์เต็มไปด้วยกิ่งยอดแห้งเหี่ยว สาเหตุสำคัญมาจากการที่คนพากันเดินเหยียบย่ำโคนต้นซ้ำๆ เพื่ออธิษฐานขอให้ได้กลับมาอีก จนดินโคนต้นอัดแน่นเกินไป ทำให้ระบบรากเสียหาย เมื่อญาติโยมที่มีจิตศรัทธาทราบข่าวจึงร่วมกันสร้างรั้วล้อมเพื่อป้องกันคนเดินรอบโคนต้นในระยะประชิด ขณะที่ทีมหมอต้นไม้ก็เติมธาตุอาหารบำรุงดินให้สมบูรณ์ขึ้นควบคู่กับการใช้น้ำยาเร่งการเจริญของราก ครั้นระบบรากได้รับการฟื้นฟู ต้นไม้ก็ค่อยๆ แตกกิ่งก้านใหม่ สะพรั่งใบเขียวสวยงาม แลดูมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง สำหรับโพรงขนาดใหญ่ที่โคนต้นจำปาขาวยังได้รับการทำศัลยกรรมด้วยการทาน้ำยาเร่งการเติบโตของเนื้อเยื่อและโบกปูนปิดโพรง เพื่อเป็นสะพานนำทางให้เซลล์เนื้อเยื่อค่อยๆ เจริญเข้าหากันและโอบหุ้มปูนในที่สุด
นอกจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะต้นไม้เสี่ยงทายของพ่อเมืองคนแรกแห่งราชวงศ์พระร่วงแล้ว จำปาขาวสายพันธุ์เฉพาะถิ่นที่ยังอยู่รอดมายาวนานเช่นนี้ ย่อมต้องมีพันธุกรรมแห่งความแข็งแรงซ่อนอยู่ การอนุรักษ์ดูแลจึงนับว่าเป็นประโยชน์ไม่เพียงเฉพาะต่ออดีต แต่ยังส่งเสริมการวิจัยสายพันธุ์ต้นไม้เฉพาะถิ่นของไทยในอนาคตสืบไปอีกช้านาน

Magnolia
champaca x Baillonii

Pollen

Leaves
