

ต้นมะขามที่วัดแค เชื่อกันว่าเป็นแรงบันดาลใจ
ใน เสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนเสกใบมะขาม
เป็นต่อแตนโจมตีศัตรู

ข้อความข้างต้นคือตอนหนึ่งของวรรณคดีไทยพื้นบ้าน เสภาขุนช้างขุนแผน เล่าถึงสรรพวิชาคาถาอาคมและไสยศาสตร์ต่างๆ ซึ่ง ‘ขุนแผน’ ได้ร่ำเรียนตั้งแต่สมัยยังเป็นเณรแก้ว โดยตามท้องเรื่องระบุว่าขุนแผนเรียนจากพระอาจารย์คงแห่งวัดแค และหนึ่งในวิชาอาคมนั้นคือการเสกใบมะขามเป็นต่อแตนเพื่อใช้โจมตีข้าศึกศัตรู วรรณคดีไทยทุกเรื่องล้วนมาจากจินตนาการผู้แต่ง ทว่า ‘วัดแค’ มีอยู่จริง และยังมี ‘ต้นมะขาม’ ขนาดมหึมาอยู่ภายในวัดนั้นด้วย
เดิมที ขุนช้างขุนแผน เป็นเสภามุขปาฐะ คือร้องแบบปากต่อปากกันมาตามประสากลอนชาวบ้าน มีฉันทลักษณ์เรียบง่ายและน่าจะประพันธ์ขึ้นในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ปี 2199-2231) ได้รับความนิยมอย่างมาก แม้กรุงศรีอยุธยาจะล่มสลายลงในปี 2310 ก็ยังเหลือผู้ที่จดจำเนื้อหาและสามารถฟื้นฟู เสภาขุนช้างขุนแผน กลับมาได้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
The Magic Lingers On

เค้าโครงเรื่องบางตอนของ ขุนช้างขุนแผน สอดคล้องกับเหตุการณ์จริงซึ่งเกิดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (ปี 2034-2072) ตามคำให้การของชาวกรุงเก่าที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ทั้งยังผูกโยงเข้ากับชื่อของสถานที่บางแห่งในจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรีได้ด้วย อาทิ วัดแคในเขตอำเภอเมืองฯ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน สร้างขึ้นเมื่อปี 2034 ซึ่งหากอ้างอิงกับหมุดเวลาในประวัติศาสตร์ก็ถือว่าวัดอยู่มาก่อนที่บทประพันธ์จะถูกแต่งขึ้น
ส่วนต้นมะขามที่คาดว่าถูกใช้เพื่อฝึกฝนเสกคาถาเปลี่ยนใบเล็กยิบๆ ให้เป็นฝูงต่อแตนตามจินตนาการของผู้ประพันธ์ก็ยืนต้นอยู่ใกล้แนวรั้ววัดแค ในเขตที่ปัจจุบันยกให้เป็น ‘คุ้มขุนแผน’ หรืออุทยานวรรณคดี ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 2525 ภายใต้ความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี
ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามะขามต้นนี้ปลูกตั้งแต่เมื่อใด ขนาดของลำต้นวัดเส้นรอบวงได้ประมาณ 10 เมตร ความสูงประมาณ 15 เมตร การแผ่กิ่งก้านเรือนยอดอย่างกว้างขวางสร้างความร่มรื่นทั่วบริเวณ ประเมินกันว่าเป็นต้นมะขามที่ใหญ่สุดในประเทศไทย จึงพออนุมานได้ว่ามันยืนต้นมายาวนานพอที่กวีโบราณจะนำไปใช้เป็นแรงบันดาลใจได้


น้อยคนจะรู้ว่าความจริงมะขามไม่ใช่พันธุ์ไม้ท้องถิ่นบ้านเรา แต่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกา กระจายพันธุ์ถึงแถบเอเชียใต้โดยชนชาติอาหรับ จากนั้นจึงเข้าสู่ประเทศไทย โดยหลักฐานการมีอยู่ของต้นมะขามบนแผ่นดินนี้ที่สืบย้อนไปได้ไกลสุดก็คือข้อความว่า “หมากขามก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้างได้ไว้แก่มัน” ซึ่งปรากฏอยู่บนศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง
สำหรับมะขามอาวุโสต้นนี้มีเสาปูนเกือบสิบต้นที่คอยค้ำยันกิ่งก้านสาขา หากสังเกตใกล้ๆ ก็จะเห็นท่อพีวีซีขนาดเล็กโผล่ยื่นในหลายตำแหน่งของลำต้น และท่อพีวีซีขนาดใหญ่กว่าอีกหลายท่อที่โผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน แต่สิ่งที่เป็นหลักฐานการบาดเจ็บรุนแรงครั้งล่าสุดคือ กิ่งมะขามขนาดใหญ่ซึ่งวางอยู่ข้างโคนต้น เกิดจากการฉีกขาดและหักโค่นลงมาในช่วงปลายปี 2560

หลังเกิดเหตุ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรีประสานให้สำนักงานป่าไม้จังหวัดสุพรรณบุรีเข้ามาช่วยดูแล เริ่มด้วยการตัดแต่งบาดแผลส่วนที่ฉีกขาด ปิดหลืบโพรงต่างๆ ตามลำต้นและกิ่งก้าน โดยเสียบท่อพีวีซีขนาดเล็กไว้สำหรับฉีดพ่นน้ำยาป้องกันเชื้อราตามระยะเวลาที่เหมาะสม และปักท่อพีวีซีขนาดกลางไว้ที่พื้นดินรอบโคนต้นเพื่อให้น้ำซึมลงถึงระบบรากได้อย่างสะดวก แก้ไขสถานการณ์จากตอนก่อสร้างคุ้มขุนแผนที่มีการถมดินให้สูงขึ้นจากระดับพื้นดินเดิมประมาณหนึ่งเมตร
เช่นเดียวกับผู้อาวุโส ต้นไม้สูงวัยที่ยืนต้นมาแสนนานย่อมเผชิญความเสื่อมถอยตามธรรมชาติ จำเป็นต้องได้รับการดูแลทั้งเรื่องความแข็งแรงของลำต้นและการป้องกันโรคพืชมากเป็นพิเศษ กระบวนการเยียวยาอย่างใส่ใจนี้ ทำให้คนรุ่นหลังที่มีโอกาสชื่นชมมะขามยักษ์ต้นนี้ได้ย้อนไปทำความรู้จักคุณค่าของวรรณคดีไทยเรื่อง ขุนช้างขุนแผน และมองเห็นว่าต้นไม้มิใช่เพียงต้นไม้ แต่ยังเป็นตัวจุดประกายจินตนาการให้เกิดผลงานศิลปะที่จะอยู่เป็นอมตะสืบต่อไปแม้ในวันหนึ่งที่มะขามชราอาจลาจากโลกนี้ไปแล้ว
