หากใครได้มาเยือนวังสวนผักกาด ระหว่างเดินตามแผ่นหินวางเรียงแถว ยังไม่ทันข้ามธารน้ำเล็กๆ จะมองเห็นต้นไม้สูงแผ่พุ่มสวยงาม ห้อมล้อมด้วยไม้เต็มบริเวณโคนต้น ยืนเด่นสะดุดตาเหมือนยืนรอต้อนรับแขกเหรื่ออยู่กลางสนาม ซึ่งต้นไม้ต้นนี้ก็คือ ‘อินทนิลน้ำ’ ต้นไม้ผู้มีอาวุโสที่สุดในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นั่นเอง

อินทนิลน้ำต้นนี้ประเมินกันว่าอายุมากกว่าหนึ่งร้อยปี เพราะอยู่มาตั้งแต่ผืนดินยังเป็นสวนผักกาดของชาวจีน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัง คนดั้งเดิมในพื้นที่เล่าต่อกันมาว่า อินทนิลน้ำต้นนี้เอาไว้ใช้ทำยา โดยคนโบราณจะเก็บใบแก่มาต้มน้ำดื่มเพื่อแก้โรคเบาหวาน นับเป็นสรรพคุณประการหนึ่งของสายพันธุ์
เมื่อเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินมาเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ในพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต หรือ ‘เสด็จในกรมฯ’ ของคนในวัง และหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร พระชายา จึงโปรดให้ดำเนินการรื้อหมู่ตำหนักไทยโบราณมาปลูกในปี 2485 พร้อมเก็บรักษาต้นอินทนิลน้ำเอาไว้ จึงเรียกได้ว่าเป็นต้นไม้ต้นเดียวที่อยู่มาก่อนการสร้างวังสวนผักกาดและยังอยู่ยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน

The Glamorous Host


เนื่องด้วยเสด็จในกรมฯ โปรดงานศิลปกรรมเป็นพิเศษ ทรงสะสมรวบรวมงานศิลปะและโบราณวัตถุล้ำค่า จึงทรงนำชิ้นงานเหล่านั้นมาตกแต่งตำหนัก ขณะที่หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ชื่นชอบต้นไม้ นอกจากสารพัดพันธุ์พืชในวังสวนผักกาดจะเป็นการนำเข้ามาปลูกตามประสงค์ของท่านแล้ว หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ยังกำหนดการจัดวางและออกแบบพื้นที่สวนเองอีกด้วย โดยอินทนิลน้ำเป็นหนึ่งในต้นไม้ที่ท่านโปรดปรานเป็นพิเศษ เพราะออกดอกสีม่วงขนาดใหญ่สวยสะพรั่งราวเดือนมีนาคมและเมษายน ช่วยแต้มเติมความงามให้กับช่วงวันคล้ายวันเกิดของท่านในวันที่ 8 มีนาคมพอดี
ต้นอินทนิลน้ำ หรือ ‘ตะแบกดำ’ มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ความสูงเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 10-25 เมตร สมัยที่เสด็จในกรมฯ ยังทรงดำรงพระชนม์ ต้นอินทนิลน้ำแผ่กิ่งกว้างขวาง สร้างร่มเงาในพื้นที่เกือบครึ่งสนามหญ้า เมื่อต้องต้อนรับแขกโดยเฉพาะทูตต่างประเทศ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์จึงมักให้จัดโต๊ะรับรองภายใต้ความร่มรื่นเย็นสบายนี้ หรือจัดงานเลี้ยงยามค่ำคืนที่ต้องประดับประดาไฟทั่วสนาม พร้อมฉายสปอตไลต์เพิ่มความอลังการให้ต้นไม้ผู้เป็น ‘เจ้าภาพ’ สวยงามและสร้างความประทับใจแก่คนสำคัญของประเทศเสมอมา
ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ต้นอินทนิลน้ำโดนตัดแต่งกิ่งออกทุกปี เหตุเพราะเนื้อไม้ผุแล้วมีผึ้งหลวงเข้าไปอยู่อาศัยและเพื่อเปิดช่องให้แสงแดดส่องถึงพื้นสนามหญ้า นอกจากนี้ยังต้องหมั่นตัดกาฝากที่เกาะแกะรบกวน คอยเติมปุ๋ยตามระยะเวลาที่เหมาะสม ทำให้สุขภาพของอินทนิลน้ำโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์แข็งแรงดีและไม่มีอะไรน่าเป็นกังวล

เสด็จในกรมฯ และหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ทรงตัดสินพระทัยและตัดสินใจเปิดวังสวนผักกาดเพื่อการเยี่ยมชมเมื่อปี 2495 นับเป็นที่ประทับของเจ้านายแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดต้อนรับบุคคลภายนอกในขณะที่เจ้าของยังพำนักอยู่ กระทั่งเสด็จในกรมฯ สิ้นพระชนม์ในปี 2502 หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ได้มอบวังสวนผักกาดให้อยู่ในความดูแลของมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ และเปิดเป็น ‘พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด’ นับแต่นั้นเป็นต้นมา สถานที่แห่งนี้จึงไม่เพียงเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์จากเรื่องราวของโบราณวัตถุ งานพุทธศิลป์ เครื่องใช้ส่วนพระองค์อีกหลากหลาย แต่ต้นอินทนิลน้ำและพืชพรรณมากมายยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผู้เข้าชมสัมผัสถึงคุณค่าของพื้นที่สีเขียว แม้มีขนาดไม่ถึงหนึ่งไร่แต่ก็เป็นแหล่งพักกายใจกลางเมืองที่หาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

การเติบโตของเมืองหลวงตลอดระยะเวลาหลายสิบปีสร้างความเปลี่ยนแปลงให้พื้นที่รอบวังสวนผักกาดอย่างต่อเนื่อง จากชานเมืองอันเงียบสงบสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วังสวนผักกาดห้อมล้อมด้วยอาคารสูง คลองศรีอยุธยาซึ่งเคยมี ‘เรือเมล์ขาว’ ของนายเลิศแล่นผ่านก็ถูกแทนที่ด้วยถนนแปดเลนที่คับคั่งเกือบทั้งวัน ด้านบนยังมีเส้นทางรถไฟฟ้าทอดขนาน ถัดไปอีกไม่ไกลก็เป็นทางด่วนเฉลิมมหานคร


แต่เมื่อเข้ามายืนอยู่เบื้องหน้าอินทนิลน้ำ พลันรู้สึกว่าได้เข้ามาสู่โลกอีกใบ เหล่าต้นไม้คล้ายผนึกกำลังกันช่วยกั้นขวางความอึกทึกพลุกพล่านจากภายนอกเอาไว้ซับความวุ่นวาย ให้ใจได้สัมผัสบรรยากาศแห่งความสงบร่มรื่นทั่วบริเวณ
นับจากอดีตจวบจนปัจจุบัน อินทนิลน้ำแห่งวังสวนผักกาดยังคงต้อนรับแขกได้อย่างน่าประทับใจเสมอมา