เมื่อครั้งยังถือครองเพศบรรพชิต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจาริกมาประทับที่วัดแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของไหล่เขาสมณ ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี หรือปัจจุบันคือวัดมหาสมณาราม และเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘พระราชวังพระนครคีรี’ ขึ้นบนเขาลูกเดียวกันนี้ในปี 2402 ถือเป็นพระราชวังแห่งแรกในประเทศไทยที่ตั้งตระหง่านบนยอดเขา เพื่อใช้เป็นที่ประทับสำหรับการแปรพระราชฐาน และพระองค์ได้เสด็จฯ มาประทับปีละหลายครั้งตลอดรัชกาล
ภายในอาณาเขตของพระนครคีรีหรือที่ต่อมารู้จักกันในนาม ‘เขาวัง’ มีสิ่งก่อสร้างหลากหลาย ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่ง ปราสาทราชมณเฑียร ป้อมปราการ และอาราม ตามลักษณะของพระราชวังหลวง แต่ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์คือการออกแบบโดยผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันตกสไตล์นีโอคลาสสิกเข้ากับสถาปัตยกรรมจีน ซึ่งมีความแปลกแตกต่างจากอาคารที่นิยมสร้างกันมาก่อน เช่น การทำซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างขอบโค้งร่วมกับการมุงหลังคาด้วยกระเบื้องกาบกล้วยและปั้นปูนทับในแบบหลังคาจีน รวมถึงการใช้ปูนฉาบแบบโบราณและการตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นฝีมือช่างเมืองเพชร การผสมผสานดังกล่าวสอดคล้องกลมกลืนกันจนได้รับยกย่องให้เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมในยุคนั้น


และก็เช่นเดียวกับความนิยมทั่วไปในรัชสมัย เมื่อเดินพ้นเขตวัดมหาสมณารามไปแล้วจะพบกับดงลั่นทม ซึ่งไม่เพียงเจริญเติบโตอย่างหนาแน่นสองข้างทางเดิน แต่ยังยืนต้นประดับประดาอยู่ทั่วบริเวณพระนครคีรี ว่ากันว่ากลุ่มต้นลั่นทมดอกสีขาวเหล่านี้มีจำนวนมากถึง 1,263 ต้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้นำเข้าพันธุ์จากอินโดนีเซียมาปลูกไว้ที่นี่ตั้งแต่สร้างพระราชวัง หากนับถึงตอนนี้อายุก็ยืนยาวเกิน 160 ปีแล้ว
หลังจากปี 2453 ไม่มีเจ้านายพระองค์ใดเสด็จมาประทับที่นี่อีก หมู่อาคารชำรุดทรุดโทรม กระทั่งกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อปี 2478 จากนั้นจึงเข้าไปบูรณปฏิสังขรณ์ ตามด้วยการจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี เมื่อปี 2522 ก่อนจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมครั้งแรกในช่วงต้นปี 2528
That Which We Call a Frangipani


ลั่นทมเป็นไม้ดอกยืนต้นขนาดกลาง และแท้จริงแล้วไม่ใช่พันธุ์ไม้พื้นเมืองของไทย ถูกค้นพบครั้งแรกบนหมู่เกาะแคริบเบียน ทวีปอเมริกาใต้ ในช่วงศตวรรษที่ 17 โดยชาร์ลส์ พลูมิเอร์ (Charles Plumier) นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้ได้รับบัญชาให้ออกสำรวจค้นหาพืชพันธุ์แปลกใหม่ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หลังจากนั้นจึงกระจายพันธุ์ไปอีกหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเขตร้อนชื้น โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์แบบให้เกียรติผู้ค้นพบว่า Plumeria rubra แต่หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า frangipani บนขวดน้ำหอมที่มีกลิ่นของลั่นทม ซึ่งก็ไม่ผิดเช่นกันเพราะนั่นเป็นอีกชื่อที่ได้มาจากขุนนางชาวอิตาเลียน มาร์กีส์ มูซิโอ ฟรานจีปานี ผู้นำดอกไม้ชนิดนี้ไปทำน้ำหอมเป็นคนแรกในปลายศตวรรษที่ 17
สำหรับการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ปรากฏข้อสันนิษฐานหลายแนวทางโดยไม่มีใครฟันธงได้ บ้างว่ามาจากอเมริกาใต้ตั้งแต่เมื่อราว 500 ปีก่อนโดยนักเดินเรือชาวสเปนหรือโปรตุเกส บ้างว่านำเข้ามาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพ่อค้าชาวฝรั่งเศสในสมัยอยุธยา หรือโดยกองทัพฝรั่งเศสในยุคล่าอาณานิคม บ้างก็ว่านำเข้ามาจากเขมรภายหลังสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงยกทัพพิชิตนครธมสำเร็จ โดยโยงที่มานี้เข้ากับชื่อ ‘ลั่นธม’ เนื่องจาก ‘ลั่น’ แปลว่า ตี เช่น ลั่นกลอง และ ‘ธม’ หมายถึง นครธม ก่อนจะเพี้ยนเป็น ‘ลั่นทม’ ในภายหลัง



ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลั่นทมได้รับความนิยมปลูกกันอย่างแพร่สะพัด ทั้งในเขตพระราชวังและอารามหลวงแทบทุกแห่ง ทว่าไม่ค่อยมีใครสนใจปลูกประดับบ้านพักหรือที่อยู่อาศัยส่วนตัว ด้วยเหตุผลด้านความรู้สึกหลายประการ เช่น คนสมัยก่อนนับว่าลั่นทมเป็นต้นไม้ของสูงสามัญชนไม่สามารถปลูกได้ และยังมียางสีขาวขุ่นซึ่งเป็นพิษ หากสัมผัสโดนผิวหนังจะเกิดผื่นคัน ระคายเคือง และมีอาการอักเสบบวมแดง ธรรมเนียมปฏิบัติในอดีตของบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ลั่นทมนับเป็นต้นไม้ที่มักปลูกไว้ข้างหลุมศพ ถึงกับมีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘Singapore graveyard flower’ ลั่นทมจึงติดภาพลักษณ์ของการอยู่คู่กับการสูญเสีย ทั้งยังออกเสียงพ้องกับคำว่า ‘ระทม’ ซึ่งหมายถึงความเศร้าโศก ทั้งหมดนี้จึงไม่น่าแปลกที่จะมีความเชื่อว่า หากปลูกต้นไม้ดอกหอมนี้ในบ้านก็จะนำความทุกข์ระทมและเศร้าเสียใจมาสู่ผู้อยู่อาศัย

เหตุผลทางความเชื่อเหล่านี้ผสมกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ทำให้ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมามีการเปลี่ยนชื่อลั่นทมเป็น ‘ลีลาวดี’ โดย ‘ลือ’ กันว่าเป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด แต่ก็ทำให้ต้นไม้ที่มีดอกสีขาวกลิ่นหอมเย็นต้นนี้กลับมาได้รับความนิยมสูงลิบ พ่อค้าแม่ค้าหน้าบานขายได้ราคา เพราะชื่อลีลาวดีช่างไพเราะเป็นมงคล

พลังของ ‘ชื่อ’ นั้นมีอานุภาพในความนึกคิดปรุงแต่งของมนุษย์มาแต่ไหนแต่ไร และยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่ว่าจะเรียกขานด้วยนามใดความจริงของต้นไม้ก็ไม่เปลี่ยน ลั่นทมยังคงเป็นต้นไม้ที่มีดอกสีขาวสะอาด มีเกสรสีเหลืองนวลอยู่ภายใน ให้กลิ่นหอมเย็นอวลไปไกล และเติบโตโดยยึดมั่นกับฤดูกาลของตัวเองอย่างเหนียวแน่น หากใครไปเที่ยวพระนครคีรีตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไปก็จะได้เจอกลุ่มต้นลั่นทมที่พากันทิ้งใบ อวดกิ่งก้านเป็นเส้นสายทั้งโค้งคดและหงิกงอดูแปลกตา เพราะมันคือช่วงเวลาพักรอการผลิดอก แต่หากใครเลือกไปหน้าร้อนช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน ต้นไม้เหล่านี้จะแข่งกันออกดอกแบ่งบาน สัมผัสได้ถึงกลิ่นหอมอ่อนโยนที่เคยทำให้มาร์กีส์ มูซิโอ ฟรานจีปานี หลงเสน่ห์มาแล้ว
ไม่ว่าจะในพระราชวัง ในบ้านคน บนหลุมศพ หรือแม้กระทั่งในป่าลึกที่ไม่มีใครสนใจให้นิยาม ลั่นทมหรือลีลาวดีจะยังคงยืนต้นเติบโตผ่านฤดูกาลและส่งกลิ่นหอมเย็นอันเป็นเอกลักษณ์ของมันต่อไป
