
นอกจากตัวอาคารที่ได้รับรางวัลผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2557 ประเภทโครงการปรับปรุงอาคารเดิมแล้ว อีกสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของโครงการ The Jam Factory คือต้นไทร ซึ่งยืนโดดเด่นแผ่กิ่งก้านสร้างความร่มรื่นอยู่บริเวณลานกว้างหน้าร้านหนังสือก็องดิด
ไม่มีใครรู้ว่าต้นไทรเจริญเติบโตอยู่ตรงนี้ตั้งแต่เมื่อไร เพราะแม้แต่เจ้าของพื้นที่เดิมก็ไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อน และตอนที่คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ แจม แฟคทอรี่ จำกัด ตัดสินใจพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตั้งอยู่บนถนนเจริญนคร เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ผืนนี้ เขาเองก็ไม่ได้รับรู้การมีอยู่ของต้นไม้ใหญ่นี้เช่นกัน
Once the Idea Takes Root

ด้วยบริเวณนั้นมีสภาพเป็นชุมชนแออัดที่แทรกผสานอยู่กับโรงงานถ่านไฟฉาย โรงงานน้ำแข็ง โรงงานผลิตยา และโกดัง ซึ่งทั้งหมดถูกทิ้งร้างมานานกว่าสามสิบปี บ้านเก่า 2-3 หลังที่เบียดกันอยู่บดบังต้นไทรเกือบมิด จนมองไม่เห็นลำต้น มีเพียงกิ่งก้านบางส่วนที่โผล่ออกมา
“พอเรารื้อออกถึงเริ่มเห็นลำต้นว่าเป็นต้นไทร และเห็นว่าต้นใหญ่ขนาดไหนลำต้นสวยมาก มีกิ่งหนึ่งที่วิ่งออกไปไกลและมีรากหยั่งลึกลงไปที่ดินค้ำกิ่งนี้ไว้ จึงคงอยู่มา 10-20 ปีแล้ว พอเราเห็นว่ามันมีลักษณะพิเศษ ตอนนั้นก็ตื่นเต้นกันใหญ่” คุณดวงฤทธิ์เล่าย้อนถึงจังหวะที่ต้นไม้ในมุมอับเผยตัวอวดความงามสู่สายตาผู้คน
เพราะชื่นชอบต้นไม้อยู่แล้วเป็นทุนเดิม จึงไม่น่าแปลกใจที่ชายคนนี้จะตกหลุมรักต้นไทรตั้งแต่แรกเห็น เขาตัดสินใจทันทีว่าต้องเก็บไว้ให้อยู่เคียงคู่กับโครงการหลังจากนั้นก็กลายเป็นว่า ต้นไทรทั้งจุดประกาย ทั้งบันดาลใจ ให้คุณดวงฤทธิ์คิดต่อและแตกไอเดียสำหรับการจัดกิจกรรมในพื้นที่ตามมาอีกมากมาย


“ตอนแรกไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนี้ด้วยซ้ำนะ แต่ทุกอย่างมันค่อยๆ เปิดเผยมาทีละนิด ทั้งตัวตึก ทั้งต้นไม้ เกิดเป็นแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน ต้นไม้เหมือนกับบอกเราว่า ทำอันนี้สิๆ แล้วมันจะสวย มันจะเท่ มันจะดี ซึ่งต่อมาก็เกิดกิจกรรมเหล่านี้ขึ้นจริงๆ และผลลัพธ์ก็ออกมาดีมาก”
เมื่อโครงการเปิดตัวในปี 2556 อาคารเก่าในพื้นที่สี่ไร่ได้รับการพลิกฟื้นให้กลายเป็นร้านเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน ร้านเสื้อผ้า ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ ร้านอาหาร แกลเลอรี และสำนักงานสถาปนิก อย่างสวยงาม ส่วนลานใต้ต้นไทรก็ยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวาของผู้คนที่แวะเวียนมาเดินเลือกซื้อสินค้าในตลาดนัดต้นไม้ ตลาดนัดอาหาร หรือร่วมชมการแสดงดนตรี
หากวันไหนไม่มีกิจกรรมพิเศษ พื้นที่ตรงนี้ก็ทำหน้าที่เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจสำหรับทุกคน เป็นเหมือน ‘Pocket Park’ หรือพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กในซอกหลืบของเมืองหลวง ซึ่งเปิดกว้างให้ทั้งนักท่องเที่ยวและคนในชุมชนละแวกนั้นก้าวเข้าสู่อ้อมกอดของความร่มรื่น

สำหรับคนที่รู้จักลักษณะนิสัยของต้นไทรอยู่บ้างก็อาจจะพอจับความผิดปกติได้ ว่าไทรต้นนี้มีรากอากาศที่เปลี่ยนเป็นรากค้ำยันในสัดส่วนที่นับว่าค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับกิ่งก้านที่แผ่รัศมีออกโดยรอบ นั่นเป็นเพราะในช่วงแรกของการพัฒนาพื้นที่ คนงานได้ตัดรากค้ำยันทิ้งไปโดยไม่มีใครทันห้าม สะท้อนชัดเจนถึงค่านิยมพื้นฐานของคนในเมืองที่ชินชากับการตัดต้นไม้เพื่อหลีกทางให้อาคารหรือถนน และเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ค่านิยม’ แล้ว ใช้เวลาปลูกฝังนานเท่าใดก็ใช้เวลาถอดถอนเปลี่ยนแปลงนานเท่านั้น
เหตุน่าเศร้าดังกล่าวทำให้ทีมงานในพื้นที่ต้องพยุงน้ำหนักของบางกิ่งก้านที่ใหญ่โตด้วยการผูกเชือกดึงรั้งไว้กับลำต้น ป้องกันกิ่งก้านฉีกหักแบบฉับพลัน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อทั้งต้นไทรเองและต่อคนที่กำลังเพลิดเพลินกับบรรยากาศอยู่ใต้ต้น ขณะเดียวกันก็ต้องหมั่นลิดกิ่งอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดทอนน้ำหนักที่ต้นไทรต้องแบกรับ โดยมีผู้ชำนาญงานสวนเข้ามาดูแลทุกๆ 1-2 เดือน
เกือบเจ็ดปีที่ผ่านมาของการดำเนินโครงการเดอะ แจม แฟคทอรี่ คุณดวงฤทธิ์ สังเกตเห็นว่า คนเมืองจำนวนไม่น้อยโหยหาความเขียวชอุ่มของธรรมชาติทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว คนส่วนใหญ่มักรู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษเมื่อมีโอกาสสัมผัสต้นไม้ใหญ่และพื้นที่สีเขียว ความพึงพอใจของผู้มาเยือน ตลอดจนเสียงสะท้อนถึงไทรต้นนี้ทำให้เขารู้สึกภูมิใจว่า อย่างน้อยพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้ก็สามารถเก็บรักษาต้นไม้ใหญ่เอาไว้ได้

“ถ้าเดอะ แจม แฟคทอรี่ไม่มีต้นไทรต้นนี้ ผมก็ยังนึกไม่ออกว่าที่นี่จะเป็นยังไง” คุณดวงฤทธิ์กล่าวทิ้งท้ายถึงแรงบันดาลใจผู้หยั่งรากลึกแม้จะถูกตัดทอน