
On the last day of the world
I would want to plant a tree.
W.S. Merwin


เมื่อเอ่ยชื่อ ‘ปาร์คนายเลิศ’ คนรุ่นใหม่อาจนึกถึงโรงแรมหรู คนรักธรรมชาติอาจนึกถึงพื้นที่สีเขียวเกือบยี่สิบไร่ใจกลางกรุงเทพฯ และคนรุ่นพ่อแม่บางคนอาจนึกถึงกิจการอันเป็นตำนานของ ‘นายเลิศ’ และ ‘บ้านปาร์ค’ ซึ่งเป็นเรือนไม้สักหลังงามอายุเกินร้อยปี ปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนภายนอกเข้าเยี่ยมชม หรือถ้าเป็นคนรุ่นเก่าแก่กว่านั้นก็อาจนึกถึงหลุมลึกจากการทิ้งระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งปัจจุบันแปรเปลี่ยนเป็นบ่อบัวไปแล้ว
...ไม่ว่าจะถูกจดจำในแง่มุมใด ‘ปาร์คนายเลิศ’ คือพื้นที่ประวัติศาสตร์และเป็นปอดขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ เสมอ
Love that Runs in the Family

นายเลิศ เศรษฐบุตร หรือพระยาภักดีนรเศรษฐ ซื้อที่ดินทุ่งนาริมคลองแสนแสบผืนนี้ในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเรือนพักผ่อนสำหรับครอบครัวช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้นานาพรรณใน ‘ปาร์ค’ สไตล์อังกฤษ ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2458 จึงถือเป็นสวนแบบตะวันตกแห่งแรกของไทย และเกิดก่อนที่สวนลุมพินี สวนสาธารณะแห่งแรกจะเปิดให้บริการในอีกสิบปีต่อมา
ความเขียวขจีของปาร์คนายเลิศสะท้อนความรักธรรมชาติของนายเลิศแทบทุกตารางนิ้ว ในบริเวณนี้มีต้นไม้ใหญ่เล็กนับร้อยสายพันธุ์ ไม้หลายต้นต่างก็มีเรื่องราวน่าสนใจเฉพาะตัว หรืออาจดั้นด้นเดินทางมาไกล เช่น ต้นหางนกยูงดอกสีเหลืองจากมาดากัสการ์ รวมถึงต้นก้ามปูทรงแปลกตาที่แผ่ร่มเงาแทบจะขนานกับบึงน้ำต้นนี้

ก้ามปู หรือจามจุรี มีถิ่นกำเนิดแรกเริ่มอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยราวปี 2443 ต้นก้ามปูในภาพไม่ปรากฏข้อมูลผู้ปลูกหรือช่วงเวลาที่ปลูก สืบค้นย้อนกลับไปได้เพียงเป็นต้นไม้ติดที่ดินมาตั้งแต่แรกซื้อ จึงคาดว่าน่าจะเป็นหนึ่งในก้ามปูรุ่นแรกๆ ในประเทศไทย
หากเทียบกับไม้ยืนต้นสายพันธุ์อื่น ลูกหลานคาดเดาได้ไม่ยากว่านายเลิศชื่นชอบการปลูกต้นก้ามปูเป็นพิเศษ เพราะหลักฐานสนับสนุนคือต้นก้ามปูจำนวนมากซึ่งยืนต้นเรียงรายตลอดแนวถนนวิทยุและซอยสมคิด ล้วนเป็นผลงานการปลูกของนายเลิศสมัยยังเป็นเจ้าของที่ดินเหล่านั้นทั้งสิ้น แม้ปัจจุบันส่วนหนึ่งจะทยอยหายไปหลังการจัดสรรที่ดินแบ่งขาย แต่ก็ยังมีจำนวนไม่น้อยที่เหลือรอดให้ร่มเงาตราบจนทุกวันนี้

เมื่อท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ลูกสาวของนายเลิศเข้ามารับช่วงดูแลสถานที่แห่งนี้ ท่านก็สานต่อเจตนารมณ์ของบิดา โดยให้ความสำคัญและคำนึงถึงความอยู่รอดของต้นไม้ทุกต้น การสร้างอาคารหลังใหม่แต่ละครั้งจึงต้องออกแบบให้สอดคล้องกับไม้ใหญ่ที่ยืนต้นอยู่มาก่อน หากต้องจัดการกับต้นไม้จริงๆ จะไม่มีการตัดเด็ดขาด แต่ใช้วิธีล้อมแล้วยกย้ายออกไปปลูกที่อื่นแทน ยิ่งก้ามปูที่เป็นต้นไม้สุดรักของพ่อต้นนี้ ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ยิ่งดูแลอย่างดี โดยระหว่างก่อสร้างอาคารภักดีที่อยู่ด้านข้าง ท่านได้ทำประกันต้นไม้ในวงเงินที่ระบุได้เพียง ‘สูงมาก’ รวมถึงกำชับให้ทุกคนระมัดระวังเป็นพิเศษ
มองจากระยะไกลก็ยังเห็นว่าก้ามปูต้นนี้มีกลุ่มต้นฟิโลเดนดรอนและเฟิร์นต่างๆ ซึ่งกอดเกี่ยวอยู่กับลำต้นอย่างแน่นหนา เป็นท่านผู้หญิงเลอศักดิ์นั่นเองที่นำมาปลูกตกแต่งให้สวยงาม ไม้เลื้อยที่ใช้รากเกาะพยุงเหล่านี้ไม่ใช่กาฝาก ไม่ทำอันตรายต้นไม้ใหญ่แต่อย่างใด และหากใครสังเกตโคนต้นในระยะประชิดก็จะเห็นแท่นปูนที่ซ่อนตัวอยู่หลังใบฟิโลเดนดรอนและเฟิร์น ทำหน้าที่ประคับประคองรองรับก้ามปู เพราะท่านผู้หญิงเกรงว่ากิ่งก้านจำนวนมากที่โน้มลงหาน้ำอาจทำให้ต้นหักลงได้

ความรักหวงแหนต้นไม้ ความหลงใหลในธรรมชาติถูกถ่ายทอดส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านมาจนถึงวันนี้ปาร์คนายเลิศภายใต้การบริหารของคุณเล็ก–ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร ก็ยังยึดมั่นในแนวคิด ‘ต้นไม้ใหญ่เป็นหัวใจสำคัญของพื้นที่’
ธรรมชาติของต้นก้ามปูยิ่งแก่จะยิ่งแตกใบดก หากละเลยการดูแลจนแสงแดดส่องไม่ถึง กิ่งก้านหรือโคนต้นก็มักโดนเชื้อราโจมตีและทำให้เนื้อไม้เน่าเสียหาย ต้นก้ามปูอาวุโสต้นนี้ซึ่งมีอายุราวๆ 110-120 ปีแล้วจึงต้องได้รับการตัดสางใบ และกิ่งบางส่วนออก เพื่อให้โปร่งโล่ง แสงแดดส่องถึง ซึ่งไม่เพียงลดความเสี่ยงในการเกิดเชื้อรา แต่ยังช่วยลดภาระน้ำหนักที่แต่ละกิ่งก้านต้องแบกรับ เมื่อประกอบเข้ากับการบำรุงดูแลอย่างสม่ำเสมอทั้งจากนักออกแบบภูมิทัศน์และรุกขกร ภายใต้เจตนารมณ์ที่ชัดเจนของลูกหลานนายเลิศ จึงมั่นใจได้ว่าต้นไม้สุดรักซึ่งสูงประมาณสิบสามเมตรต้นนี้จะแผ่ร่มเงากว้างและอวดเส้นสายคดโค้งสวยแปลกตาของกิ่งก้านไปได้อีกนาน
...อย่างที่นายเลิศจะต้องภาคภูมิใจ
