
ปัจจุบัน พุทราทั้งหมดรอบเขตวัดและพระราชฐานโบราณ
ในอยุธยามีจำนวน 698 ต้น และเมื่อสืบประวัติโดยละเอียดแล้ว
พบว่ามีความเป็นไปได้ที่บางต้นจะเป็นลูกหลานของพุทรา
ในตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ


“ครั้นช้างพระนเรศร์ถอยไป จึ่งได้ที่ประจันหนึ่ง เรียกว่าหนองขายันแลพุดทรากะแทก ก็ยังมีที่ที่อันนั้นจนทุกวันนี้ ช้างพระนเรศร์นั้นยันต้นพุดทราอันนั้นเข้าได้แล้วจึ่งชนกะแทกขึ้นไป ก็ค้ำคางช้างอุปราชาเข้า ฝ่ายข้างช้างอุปราชาก็เบือนหน้าไป พระนเรศร์ได้ทีก็ฟันด้วยพระแสงของ้าว ชื่อเจ้าพระยาแสนพลพ่าย ก็ถูกอุปราชาพระเศียรก็ขาดออกไปกับที่บนฅอช้าง”

ข้อความข้างต้นปรากฏอยู่ในหนังสือ ‘คำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับหลวง’ ต้นฉบับเดิมเป็นภาษามอญ เขียนขึ้นจากคำให้การของเชลยศึกชาวอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปอยู่พม่าเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี 2310 ถือเป็นพงศาวดารฉบับหนึ่งที่เล่าถึงเหตุการณ์ยุทธหัตถี ในจังหวะที่พลายภูเขาทอง ช้างคู่พระบารมีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พลาดท่าล่าถอย แต่สบจังหวะใช้เท้าหลังยันต้นพุทราไว้ จึงต้านทานกำลังมหาศาลของพลายพัทธกอ ช้างทรงของพระมหาอุปราชาแม่ทัพพม่าไว้ได้ และสามารถเอาชนะศึกครานั้นซึ่งเป็นศึกสุดท้ายที่วัดชะตาบ้านเมืองอโยธยา
อันที่จริงยังมีเอกสารอีกหลายชิ้นทั้งของไทย พม่า และชาติตะวันตก ซึ่งบรรยายฉากยุทธหัตถีแตกต่างกันไปเกือบสิบรูปแบบ บ้างว่าช้างใช้สองเท้าหลังยันจอมปลวกในป่าพุทรา บ้างก็ข้ามรายละเอียดขณะชนช้าง แต่เน้นเรื่องฤกษ์ผานาที หรือกล่าวถึงปืนไฟซึ่งเป็นอาวุธที่ทำให้พระมหาอุปราชาทิวงคต ยากจะพิสูจน์ได้ว่าหลักฐานไหนใกล้เคียงความจริงที่สุด

Lineage of a Legend
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่บ่งชี้ว่าต้นพุทราช่วยให้สมเด็จพระนเรศวรฯ ชนะศึกนั้นดูจะเป็นข้อมูลที่ยึดโยงความสามัคคีของคนไทยไว้ได้อย่างกว้างขวางและยาวนาน ทั้งในแง่ความจงรักภักดีต่อชาติและความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของต้นไม้ หลักฐานแห่งศรัทธานี้ปรากฏเป็นจิตรกรรมขนาดใหญ่บนฝาผนังฝั่งทิศตะวันออกภายในพระวิหารของวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผลงานศิลปะชิ้นสำคัญดังกล่าวแสดงเหตุการณ์ตอนสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา โดยที่ขาหลังซ้ายของพลายภูเขาทองยันอยู่กับตอไม้ ซึ่งสื่อถึงตอพุทรานั่นเอง กระทั่งภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชภาค 5 ยุทธหัตถี โดยหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ก็ยังใส่รายละเอียดการยันต้นพุทรานี้ลงไปในฉากยุทธหัตถีด้วย

กลุ่มต้นพุทราจำนวนมากในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาก็เคยถูกพูดถึงในแนวทางที่แตกต่างกัน บ้างเล่าขานว่าเมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จกลับถึงกรุงศรีอยุธยา ได้มีรับสั่งให้ปลูกต้นพุทรารอบพระราชฐาน ในฐานะต้นไม้ที่มีบุญคุณและช่วยให้ชนะการศึก บ้างก็เชื่อว่าต้นพุทราเหล่านี้เติบโตจากผลพุทราที่ทหารพม่ากินทิ้งไว้ระหว่างยกทัพเข้าปิดล้อมกรุงศรีอยุธยา
ขณะที่บันทึกของฌัก เดอ กูทร์ (Jacques de Coutre) พ่อค้าอัญมณีที่ติดตามคณะทูตจากโปรตุเกสเข้ามาในสยาม เขียนไว้ว่า หลังผ่านศึกยุทธหัตถี 4 ปี พลายภูเขาทองก็ล้ม สมเด็จพระนเรศวรฯ เสียพระราชหฤทัยมาก และในเมื่อช้างที่ได้รับการขึ้นระวางเป็นช้างหลวงทุกช้างนับว่ามียศเทียบเท่าเจ้าพระยา สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงโปรดให้สร้างเมรุให้แก่ช้างหลวงอย่างสมเกียรติ มีงานถึง 7 วัน 7 คืน และทรงปลูกต้นพุทรารอบพระบรมมหาราชวังและคูเมืองเพื่อเป็นการระลึกถึงพลายภูเขาทอง
นี่คือเรื่องราวมากมายของต้นพุทราที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ยุคกรุงศรีอยุธยา หลายต้นมอดไหม้ไปในเปลวเพลิงครั้งเสียกรุงฯ และที่ยังเหลือรอดยืนต้นอยู่ในอาณาเขตของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณพระราชวังโบราณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดพระราม วัดราชบูรณะ และวัดมหาธาตุ ก็พบว่าไม่มีต้นใดเลยที่ปลูกหรือเติบโตมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯ เนื่องด้วยการสำรวจและการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของกลุ่มต้นพุทราในปี 2560 โดยสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าต้นพุทราทั้งหมดจำนวน 698 ต้น มีอายุเพียงระหว่าง 46-130 ปีเท่านั้น
ผลการตรวจสอบนี้สอดรับกับข้อมูลการบูรณปฏิสังขรณ์พระราชวังโบราณ อยุธยา ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า (เทียบเท่ากับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบัน) มีแนวคิดให้ปลูกต้นพุทรารอบพระราชวังหลวง และอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปเก็บผลพุทรารับประทานหรือนำไปจำหน่ายได้ อันเป็นกุศโลบายดึงคนรอบพื้นที่ให้เข้ามาช่วยดูแลโบราณสถานในอีกทางหนึ่ง
แต่เนื่องจากไม่พบข้อมูลชัดเจนว่าการปลูกต้นพุทราสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เริ่มต้นในปีใด มีเพียงประวัติการทำงานของพระยาโบราณราชธานินทร์ซึ่งบันทึกไว้ว่า เริ่มรับราชการที่มณฑลอยุธยาครั้งแรกในปี 2439 หากใช้ปีปฏิทินนี้เป็นจุดเริ่มต้นย่อมหมายความว่า ณ เวลานั้นที่พระยาโบราณราชธานินทร์สั่งให้ปลูก ต้องมีต้นพุทราอยู่บริเวณนั้นอยู่แล้ว เพราะต้นพุทราที่อายุมากที่สุดในปัจจุบันหลายต้นเติบโตก่อนช่วงเวลานั้นเกือบสิบปี จึงมีความเป็นไปได้ว่าแท้จริงต้นพุทราเหล่านี้อาจเป็นลูกหลานของต้นพุทรารัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่เมล็ดงอกและเติบโตกันเองตามธรรมชาติ

ต่อมาในปี 2478 เมื่อกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนให้พระราชวังโบราณและวัดเก่าแก่อีกหลายแห่งในเขตเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นแหล่งโบราณสถานที่สำคัญของชาติ แต่ไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่เพียงพอจะจัดการพื้นที่รกร้างอันกว้างขวางซึ่งเต็มไปด้วยหญ้าและวัชพืช ศาสตราจารย์ มานิต วัลลิโภดม นักโบราณคดีระดับปรมาจารย์ อดีตหัวหน้ากองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้เสนอให้ปลูกต้นพุทราเพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิมแล้วจำนวนหนึ่ง
ทั้งนี้เพื่อที่ว่าเมื่อพุทราโตเต็มที่จนออกดอกผลจะได้อนุญาตให้ราษฎรเข้ามาเก็บลูกพุทราที่ร่วงหล่นไปกินสดหรือแปรรูปเป็นพุทราเชื่อมและพุทรากวนขายได้ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมเก็บพุทราในอัตราต้นละ 5 บาท และแบ่งพื้นที่ชัดเจน ผลที่ตามมาก็คือใครใช้ประโยชน์จากพุทราต้นไหนก็มักพลอยถางหญ้าและดูแลความสะอาดรอบต้นนั้นด้วย เพราะพื้นดินที่ไม่รกเรื้อย่อมช่วยให้เก็บผลพุทราได้สะดวกขึ้น

หลังจากที่ได้รับพิจารณาคัดเลือกให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี 2534 นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมมากขึ้น กรมศิลปากรจึงยกเลิกระบบสัมปทานต้นพุทรา และอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปเก็บผลพุทราได้ตามวิถีปฏิบัติเดิม
กลุ่มพุทราที่ปลูกเพิ่มเติมในรอบล่าสุดนี้ไม่เพียงระบายแต่งแต้มสีเขียวร่มรื่นให้ภูมิทัศน์และบรรยากาศ แต่ยังกลายเป็นต้นไม้ที่อยู่คู่กับโบราณสถานเหล่านี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยอายุขัยมากกว่าร้อยปีทำให้สุขภาพของพุทราโบราณหลายต้นเริ่มถดถอย ต้องได้รับการดูแลมากกว่าแค่ตัดแต่งกิ่งทุกฝ่ายซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบจึงต่างพยายามช่วยกันอนุรักษ์ต้นเดิมควบคู่กับการอนุบาลกล้าใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทน เพื่อให้ต้นพุทรายังอยู่ร่วมเป็นองค์ประกอบสำคัญของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเป็นหลักฐานอันมีชีวิตให้ตำนานยุทธหัตถียังถูกเล่าขานอย่างมีอรรถรสสืบไป

Jujube

Fruits

Leaves
