
หากวันนั้นชายชราวัย 77 ปีไม่เดินออกไปท้ายสวนทุเรียน จำปาดะอายุร้อยกว่าปีต้นนี้คงเป็นเพียงต้นไม้ธรรมดาๆ และไม่ได้เป็นที่รู้จักจดจำของใครต่อใคร
แต่เพราะเวลาพลบค่ำของวันที่ 30 กันยายน 2535 วาเด็ง ปูเต๊ะ หรือ ‘เป๊าะเด็ง’ ไม่ยอมเชื่อคำบอกเล่าของภรรยาว่าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จฯ มาที่สวนผลไม้ของเขาในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ด้วยเหตุว่าอย่าว่าแต่กษัตริย์เลย ที่นี่ห่างไกลกันดารจนแม้แต่คนใต้ด้วยกันยังยากจะมาเยือน เขาจึงตัดสินใจเดินออกไปดูด้วยตนเอง และในที่สุดก็ได้พบกับคณะทำงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทำให้เป๊าะเด็งต้องเข้าเฝ้าฯ แบบไม่ได้ตั้งตัว ค่ำนั้นมีบันทึกไว้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชปฏิสันถารเป็นเวลานานกับชายชาวสวนที่ใส่เพียงโสร่งและไม่ได้สวมเสื้อ โดยทรงซักถามข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพของพื้นที่และเส้นทางการไหลของคลองน้ำจืด ในขณะที่ผู้เฒ่าชาวมุสลิมซึ่งพูดภาษาไทยกลางไม่ได้แม้แต่คำเดียวก็ตอบข้อซักถามเป็นภาษามลายูได้อย่างฉะฉาน พร้อมแทรกอารมณ์ขันประสาชาวบ้านที่ล่ามแปลถวายเป็นบางตอน ทำให้ในหลวงทรงพระสรวลหลายครั้ง


ทันทีที่วาเด็งรู้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาเพื่อทรงแก้ไขปัญหาน้ำใช้ภาคการเกษตรผ่านระบบชลประทาน ในใจของเขาก็เปี่ยมไปด้วยความปลาบปลื้ม เขากราบบังคมทูลเป็นภาษาของตนว่า ดีใจมาก แต่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาทรงเยี่ยมทั้งที ไม่มีอะไรจะถวายเลย ผลไม้ในสวนเพิ่งเก็บขายได้เงินมาสองหมื่นบาทก็นำไปซื้อเครื่องสูบน้ำ ทั้งสวนเหลือทุเรียนผลเดียว หนำซ้ำยังดิบ จากนั้นก็มีเสียงเย้าว่าให้ถวายเครื่องสูบน้ำนั่นไง เป๊าะเด็งกล่าวทันทีว่า “ถอดเอาขึ้นรถไปเลย ขอถวายพระเจ้าอยู่หัว” ความจริงใจและจงรักภักดีของเป๊าะเด็งเป็นที่ประทับใจคณะตามเสด็จฯ ทุกคน
เวลาต่อมาเป๊าะเด็งยังได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ และเมื่อถึงฤดูกาลผลไม้ ชายชรายังตั้งใจคัดสรรจำปาดะในสวนนำไปทูลเกล้าฯ ถวายด้วยตนเองเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ แปรพระราชฐานมาที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส และส่งไปรษณีย์ไปถวายถึงพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นเช่นนี้ทุกปีไม่เคยขาด จนวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสแสดงความเป็นห่วงต่อเหตุการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีพระราชดำรัสว่าทรงมีพระสหายอยู่ที่นั่นคนหนึ่งชื่อ วาเด็ง ปูเต๊ะ จึงเป็นที่มาของฉายา ‘พระสหายแห่งสายบุรี’ ของเป๊าะเด็ง
Fit for the King
“ดีใจที่เราได้เป็นไซอันของรายอ (สหายของพระราชา) ได้ยินแล้วมีความสุข ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ในหลวงเป็นใครล่ะ มาเป็นเพื่อนกับ เราได้หรือ มันมีความสุขจนบอกไม่ถูก” เป๊าะเด็งเคยให้สัมภาษณ์เช่นนี้ไว้ในนิตยสาร ฅ.คน ฉบับเดือนธันวาคม 2550

จำปาดะเป็นไม้ยืนต้นเขตร้อนในวงศ์เดียวกับขนุนและสาเก มีถิ่นกำเนิดอยู่ในคาบสมุทรมลายู ในประเทศไทยปลูกกันเฉพาะภาคใต้ ผลจำปาดะดูคล้ายขนุนแต่ส่งกลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื้อในรสหวานและมีสีเหลืองแตกต่างกันไปหลายเฉด ตั้งแต่เหลืองทอง เหลืองอ่อน เหลืองอมส้ม ไปจนถึงสีจำปา ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์
ภายในสวนดุซง ซึ่งหมายถึงสวนผลไม้ผสมผสานตามภูมิปัญญาของชาวมุสลิมพื้นที่เกือบห้าไร่ของเป๊าะเด็งปลูกผลไม้หลากหลายชนิด ทั้งทุเรียน ลองกอง มังคุด เฉพาะจำปาดะนั้นมีประมาณ 7-8 ต้น และว่ากันว่านี่เป็นจำปาดะต้นใหญ่ที่สุดในอำเภอสายบุรี ไม่มีใครทราบความเป็นมาว่าปลูกเมื่อไรเพราะต้นใหญ่โตอย่างนี้มาตั้งแต่สมัยเป๊าะเด็งยังมีชีวิตอยู่ โดยได้รับการดูแลบำรุงด้วยปุ๋ยหมักไม่เคยขาด ทำให้ต้นไม้เก่าแก่ต้นนี้ยังแข็งแรงและมีสุขภาพดี ให้ผลผลิตคุณภาพสูงกว่าต้นอื่นๆ คือผลใหญ่สวย สีทองสม่ำเสมอ และเนื้อรสหวาน



เมื่อถึงฤดูกาลที่เริ่มติดผลขนาดเล็ก สมาชิกทุกคนในครอบครัวปูเต๊ะจะช่วยกันสานใบมะพร้าวสำหรับห่อผลจำปาดะเพื่อป้องกันแมลงเจาะทำลาย ช่วยให้ผิวเรียบสวยไร้ตำหนิ บางปีต้นเดียวติดผลมากกว่าพันลูกก็ต้องใช้เวลาสานและห่อกันนานเกินสองสัปดาห์กว่าจะครบทั้งต้น หลังจากนั้นราวหนึ่งเดือนผลจำปาดะเริ่มทยอยสุก เป๊าะเด็งจะคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน บางครั้งถึงกับปีนขึ้นไปเก็บผลจำปาดะงามๆ ด้วยตัวเอง จากนั้นก็จัดเรียงอย่างบรรจงลงในกล่องกระดาษ 3-4 ใบ ส่งไปรษณีย์ไปยังพระตำหนักจิตรลดารโหฐานเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นประจำทุกปี เมื่อพัสดุถึงปลายทางก็จะมีจดหมายจากเจ้าหน้าที่ตอบกลับมาทุกครั้งว่าได้รับแล้ว
หลังจากเป๊าะเด็งเสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคชราในวัย 96 ปี เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 การทูลเกล้าฯ ถวายจำปาดะและผลไม้ในสวนถึงพระเจ้าแผ่นดินก็ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยได้มะสัยนุง ดอรอแม ลูกเขย และอะตีเกาะ ปูเต๊ะ ลูกสาวรับช่วงการดูแลสวนดุซงและปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งเสียของเป๊าะอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

จำปาดะต้นนี้นอกจากเปี่ยมความหมายลึกซึ้งต่อครอบครัวปูเต๊ะแล้ว ยังเป็นตัวแทนแห่งความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พสกนิกรมีต่อพระมหากษัตริย์ และเป็นหลักฐานความผูกพันสองทศวรรษระหว่างสหายจากดินแดนปลายด้ามขวานกับประมุขของแผ่นดินจวบจนถึงรัชสมัยปัจจุบัน

Champedak

Fruit

Leaves
