
เป็นไปตามภาษิตละตินว่า “Ars longa, vita brevis.” หรือ “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น”
ไม้ใหญ่หลายต้นย่อมอยู่ยืนยาวได้ไม่แพ้งานศิลปะ โดยเฉพาะยางอินเดียต้นนี้
ที่อาจยังเด็กเมื่อเทียบอายุขัยของสายพันธุ์ จึงน่าจะเป็นงานศิลปะชิ้นเอกของผู้ปลูก
และอยู่ไปได้อย่างยืนยาวกว่าใคร


ถ้าเปรียบต้นไม้เหมือนคน ยางอินเดียย่อมเป็นคนประเภทที่ใครๆ ก็อยากคบหาเพราะดูแลง่าย ไม่เรื่องมาก แถมยังทำตัวเป็นที่พึ่งพิงให้คนอื่น ยางอินเดียเติบโตได้ดีในพื้นที่แดดจัด แต่ถ้าให้อยู่ในที่ร่มก็สามารถทนอยู่รอดได้ และไม่ต้องการการประคบประหงมมากมาย โดยยังคงงอกงามสวยโดดเด่นด้วยใบสีเขียวขนาดใหญ่ เป็นมันวาวเองตามธรรมชาติ


ด้วยคุณสมบัติน่ารักหลายประการนี้เอง ต้นยางอินเดียจึงติดอันดับต้นๆ ของไม้ตกแต่งที่ผู้คนนิยมปลูกภายในอาคาร หลายคนคุ้นตากับภาพของต้นยางอินเดียในกระถางสไตล์ลอฟต์หรือเรียบเก๋สไตล์มินิมอล ตั้งอยู่บริเวณมุมต่างๆ ภายในที่พักอาศัย จนไม่เคยรู้เลยว่าแท้จริงแล้วหากย้ายหนีความคับแคบของภาชนะปลูกไปเติบโตท่ามกลางสภาพแดดฝนลมฟ้าภายนอกอาคาร ยางอินเดียจะสูงใหญ่และงดงามกลางแสงแดดได้อย่างน่าประทับใจ
...หนึ่งในตัวอย่างนี้ยืนต้นให้เห็นอยู่หน้าคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
Arbor Longa, Vita Brevis
ยางอินเดียเป็นต้นไม้ใหญ่สกุล Ficus เช่นเดียวกับไทรและมะเดื่อ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีรากอากาศห้อยระโยงระยางเหมือนกัน ถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในประเทศอินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ภายหลังจึงนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย
เนื่องจากทุกส่วนของลำต้นมีน้ำยางสีขาวข้น จึงได้ชื่อภาษาอังกฤษว่า India rubber plant บ้างก็เรียก rubber tree หรือ rubber fig โดยน้ำยางนี้มีส่วนช่วยลดการคายน้ำ ทำให้ใบของยางอินเดียไม่ค่อยเหี่ยวเฉาหรือร่วงหล่น แต่ขณะเดียวกันก็มีความเป็นพิษในระดับที่พอจะสร้างความระคายเคืองให้ผิวหนังและดวงตาได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัส
ในอดีตน้ำยางจากยางอินเดียเคยเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางธรรมชาติ แต่เนื่องจากคุณภาพน้ำยางไม่ดีนักเมื่อโลกค้นพบน้ำยางคุณภาพเยี่ยมจากต้นยางพาราซึ่งเป็นพืชแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ยางอินเดียจึงเป็นที่รู้จักแพร่หลายในบทบาทของไม้ประดับเพียงอย่างเดียว


ยางอินเดียต้นนี้ปลูกโดยอาจารย์ประสพชัย แสงประภา ผู้ผูกพันกับมหาวิทยาลัยฯ มายาวนานนับรวมเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ ตั้งแต่เป็นนักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์และเข้ารับราชการที่มหาวิทยาลัยศิลปากรในปี 2511 จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ วันนี้อาจารย์ประสพชัย ชาวศิลปากรตัวจริงในวัย 82 ปี เล่าย้อนถึงช่วงแรกๆ ของชีวิตการทำงานว่า มีหน้าที่ดูแลการตกแต่งภายในของอาคารต่างๆ ทั่วพื้นที่มหาวิทยาลัย รู้สึกชอบต้นยางอินเดียเป็นพิเศษ เพราะประทับใจใบที่รูปทรงเรียวสวยงามและมีความมันเงา จึงเริ่มจากนำมาปลูกประดับภายในอาคารก่อน
กระทั่งปี 2515 สบโอกาสเหมาะจึงนำต้นยางอินเดียขนาดพอเหมาะมาปลูกที่สนามหญ้าหน้าอาคารคณะมัณฑนศิลป์ ซึ่งอยู่ด้านหลังลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ด้วยเจตนาเพียงเพื่อตกแต่งภูมิทัศน์ให้งดงาม มิได้คาดหวังว่าจะเป็นต้นไม้สูงใหญ่เป็นร่มเงาเช่นวันนี้
วันเดือนเคลื่อนผ่านมาถึงปัจจุบัน ยางอินเดียที่มีอายุเพียง 52 ปีเติบใหญ่สูงชะลูดถึงราวยี่สิบเมตร เทียบประมาณชั้นห้าของอาคารข้างเคียง เส้นรอบวงของกลุ่มลำต้นซึ่งประกอบด้วยลำต้นเดิมกับลำต้นใหม่จากรากอากาศที่พัฒนาขึ้นมาช่วยค้ำยันบวกรวมกันแล้วประมาณห้าคนโอบ แผ่กิ่งก้านออกกว้างขวางเอื้อเฟื้อร่มรำไรในรัศมีพอให้เหล่านักศึกษาศิลปินมานั่งพักผ่อนได้สบายๆ


หากได้ลองมาเห็นกับตา ภาพต้นไม้ใหญ่ตรงหน้าแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับยางอินเดียซึ่งถูกจัดวางไว้ภายในอาคาร มีเพียงรูปลักษณ์ของใบและความเงางามเท่านั้นที่เป็นจุดสังเกตให้เชื่อมโยงได้ว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกัน และทำให้เราได้ตระหนักถึงมหัศจรรย์ของการเติบโตอย่างมีอิสรภาพ ซึ่งไม้ใหญ่น้อยต้นนักจะได้รับในเมืองหลวงอันแออัดของประเทศ
เส้นทางชีวิตของยางอินเดียในถิ่นสีเขียวเวอริเดียน (สีประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร) ของมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกในประเทศไทยนั้นเรียบง่าย ไม่มีเรื่องราวหวือหวา แต่ก็เป็นไปตามภาษิตละตินว่า “Ars longa, vita brevis.” หรือ “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” ไม้ใหญ่หลายต้นย่อมอยู่ยืนยาวได้ไม่แพ้งานศิลปะ โดยเฉพาะยางอินเดียต้นนี้ ที่อาจยังเด็กเมื่อเทียบอายุขัยของสายพันธุ์ แต่ก็เริ่มเติบโตสูงใหญ่ท่ามกลางการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนของนักศึกษาหัวใจศิลปินที่เข้ามาสู่มหาวิทยาลัยแห่งนี้รุ่นแล้วรุ่นเล่า
มันน่าจะอยู่ไปได้อีกนับร้อยปีและเป็นงานศิลปะชิ้นเอกที่ยืนยาวเหนือกาลเวลา