

Trees are poems the earth writes upon the sky.
Kahlil Gibran

จากถนนมิตรภาพขาเข้ากรุงเทพฯ ช่วงทับกวาง เลี้ยวซ้ายเข้ามาประมาณ 10 กิโลเมตรจนสุดถนน ปรากฏวัดป่าสายวิปัสสนาแห่งหนึ่งซ่อนตัวอยู่อย่างสงบในอ้อมกอดของเทือกเขาหินปูน ท่ามกลางบรรยากาศความเขียวร่มรื่นของต้นไม้น้อยใหญ่พุทธศาสนิกชนเดินทางมาที่นี่เพื่อทำบุญตักบาตรหรือนุ่งขาวห่มขาวปฏิบัติธรรม และสำหรับคนเก่าคนแก่ที่เคยมาที่นี่ตั้งแต่ปี 2526 ก็จะได้นั่งสมาธิปฏิบัติธรรมในลานที่มีชื่อว่า ‘ลานพุทธธรรมสถานลิ้นควายคู่’ วันนี้ในวัดยังมีต้นลิ้นควายสูงเด่นเป็นสง่าอยู่บ้าง แต่ไม่ปรากฏต้นลิ้นควายคู่ขวัญตามชื่อลานแต่อย่างใด

วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นสถานที่เงียบสงบแต่เต็มแน่นไปด้วยประวัติศาสตร์และความสำคัญ นอกจากภาพจำหลักแกะสลักนูนต่ำสมัยทวารวดีจำนวน 6 ภาพบนผนังถ้ำพระโพธิสัตว์แล้ว ยังมีหินผาน้ำตกที่แกะสลักพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ร.ศ. 115 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้น และบางคนก็แวะมาเยี่ยมชมความงดงามของหินงอกหินย้อยตามธรรมชาติภายในถ้ำธรรมทัศน์ในบริเวณเดียวกัน
พื้นที่บริเวณนี้อยู่ในเขตลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ซึ่งหมายถึงพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นดีที่ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์ จำเป็นต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารและเป็นทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ ป่าแห่งนี้เคยมีอาณาเขตเชื่อมต่อไปถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่เคยโดนบุกรุกและตัดโค่นต้นไม้มีมูลค่าออกไปจำนวนมาก เมื่อเริ่มมีการก่อตั้งสำนักสงฆ์ถ้ำพระโพธิสัตว์ในบริเวณเนินและไหล่เขาน้ำพุในปี 2509 พระสงฆ์จึงร่วมกันขอบิณฑบาตต้นไม้ใหญ่ที่ยังเหลืออยู่เอาไว้ หนึ่งในต้นสูงใหญ่ที่ได้รับการบิณฑบาตก็คือต้นลิ้นควาย

Until Death Do Us Part


‘ลิ้นควาย’ หรือ ‘ลิ้นกระบือ’ เป็นชื่อท้องถิ่นของไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มักพบบริเวณป่าแถบหุบเขาที่มีความชุ่มชื้น ในพื้นที่เปิดโล่ง หรือริมฝั่งแม่น้ำในภูมิภาคอินโดจีน ชื่อลิ้นควายนั้นได้มาจากรูปทรงของใบซึ่งมีขนาดใหญ่ที่ทั้งกว้าง และยาวเหมือนลิ้นควายนั่นเอง
ปัจจุบันวัดถ้ำพระโพธิสัตว์มีต้นลิ้นควายที่สูงใหญ่และยืนต้นอยู่มาแต่ดั้งเดิมจำนวนสองต้น ต้นแรกอยู่ริมบันไดทางเดินที่จะมุ่งหน้าสู่ถ้ำพระโพธิสัตว์ และเดินตามทางลึกเข้าไปอีกสักสิบเมตรจะพบลิ้นควายต้นที่สอง ซึ่งสองต้นนี้อยู่ห่างกันระยะสิบเมตร จึงไม่นับเป็นต้นไม้คู่ตามชื่อของลานพุทธธรรม แต่ก็นับเป็นหนึ่งในต้นที่ได้อาศัยบารมีความเมตตาของพระสงฆ์ในวัดทำให้ยังยืนต้นให้ร่มเงาอยู่จนทุกวันนี้
หากใครได้อยู่ใต้ต้นลิ้นควายในช่วงต้นของฤดูกาลออกดอก ซึ่งโดยปกติจะแบ่งบานระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี จะพบดอกลิ้นควายที่ร่วงหล่น ซึ่งดูละม้ายดอกของต้นลำพูในป่าชายเลนก็คลี่คลายข้อสงสัยในทันที ทำไมต้นไม้นี้จึงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ลำพูป่า’
ดอกลิ้นควายหรือดอกลำพูป่าบานเฉพาะช่วงกลางคืนถึงเช้า ทั้งเกสรตัวผู้จำนวนมากที่มีลักษณะเป็นพู่ฟูๆ สีขาวครีม การส่งกลิ่นฉุนในขณะบาน และการออกดอกกระจุกรวมเป็นช่อในตำแหน่งปลายกิ่ง ล้วนเป็นการออกแบบโดยธรรมชาติที่เอื้อให้ค้างคาวกลุ่มกินน้ำหวานหรือเกสรดอกไม้ซึ่งดวงตามองเห็นชัดเจนในที่มืดและจมูกไวต่อการรับกลิ่นดอกไม้สามารถค้นเจอแหล่งอาหารได้ง่ายและบินโฉบเข้าถึงเป้าหมายโดยสะดวก ทำให้ละอองเรณูติดตามตัวค้างคาวไปด้วยและเกิดการผสมเกสรขึ้นโดยไม่ตั้งใจ

นอกจากจะมีฝูงค้างคาวที่เป็นนักปลูกต้นไม้โดยไม่ได้ตั้งใจแล้ว ในอดีตราวสี่สิบปีก่อนที่นี่เคยมี ‘ต้นลิ้นควายคู่’ ขึ้นเคียงข้างกันในระยะห่างไม่เกิน 3 เมตร พระครูวิสาลปัญญาภรณ์เจ้าอาวาสวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ เล่าให้ฟังว่าน่าจะอายุใกล้เคียงกันหรือเติบโตมาด้วยกัน ทั้งคู่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นประมาณ 1.2-1.3 เมตร ซึ่งใหญ่กว่าต้นที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน แถมลำต้นยังเอนเกือบ 45 องศาเหมือนๆ กัน โดยเอนในลักษณะขนานกันและเอนไปในทิศทางเดียวกันอีกด้วย
ลิ้นควายคู่ให้ความสงบร่มเย็น เป็นตัวอย่างแห่งหลักธรรมมาตลอด 13 ปี จนกระทั่งเข้าฤดูฝนปี 2539 ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น หนึ่งในต้นลิ้นควายคู่เกิดหักโค่นล้มลงในลักษณะที่โคนต้นขาดออกจากรากใต้ดิน โดยไม่มีสัญญาณของความผิดปกติแจ้งเตือนล่วงหน้าแต่อย่างใด
และเพียงหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ต้นลิ้นควายที่เหลืออยู่โดดเดี่ยวก็หักโค่นและล้มลงตามไปด้วยอาการเดียวกัน...


พระครูวิสาลปัญญาภรณ์สันนิษฐานว่าต้นลิ้นควายคู่น่าจะตายเพราะรากเน่า เนื่องจากปีนั้นฝนตกชุก รอยขาดของลำต้นก็เผยให้เห็นเนื้อไม้นิ่มยุ่ยสีค่อนข้างเข้มออกดำ คล้ายว่าเนื้อไม้อมน้ำไว้มากเกินไป
กลุ่มนักวิชาการในต่างประเทศที่ศึกษาเกี่ยวกับกลไกทางธรรมชาติของต้นไม้ในป่าค้นพบว่า รากต้นไม้ใหญ่นั้นโยงใยกันอยู่ใต้ดินเป็นระบบ ถักทอเชื่อมโยงและพึ่งพาอาศัยกันอย่างซับซ้อน เนื่องจากต้นไม้แยกความแตกต่างระหว่างรากของสายพันธุ์เดียวกันกับรากของสายพันธุ์อื่นได้ ต้นไม้สายพันธุ์เดียวกันที่เติบโตในบริเวณเดียวกันจึงมักแลกเปลี่ยนสารอาหารกันทางระบบรากเหมือนการดูแลให้ความช่วยเหลือครอบครัวเดียวกันในยามฉุกเฉิน เมื่อต้นหนึ่งป่วยก็จะได้รับสารอาหารจากต้นเพื่อนฝูงบริเวณใกล้เคียงมาช่วยฟื้นฟูให้สภาพดีขึ้น ต้นไม้คู่มิตรในลักษณะนี้จะผูกพันกันทางรากอย่างเหนียวแน่น และบางครั้งก็ถึงกับผูกความเป็นความตายไว้ด้วยกัน
เช่นเดียวกับต้นลิ้นควายคู่ที่เหลือเพียงชื่อทิ้งไว้ให้ลานพุทธธรรมแห่งนี้