

ด้วยความสูงโดดเด่นและโผล่พ้นแนวป่าด้านหน้า
ในอดีตตะเคียนคู่ทุกข์คู่ยากจึงเป็นหมุดหมายสำคัญ
ให้ชาวเรือมองหาทิศทางนำเรือเข้าฝั่งในยามรุ่งสาง


ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณหนึ่งกิโลเมตร ท่ามกลางวงล้อมของป่าชายเลนชุมชน และพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์ทะเล บริเวณฝั่งขวาของปากน้ำประแสร์ ในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง มีต้นตะเคียนทองต้นใหญ่สองต้นที่ยืนข้างเคียงกันมายาวนาน
ทั้งคู่อยู่ตรงนั้นตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏข้อมูลแน่ชัด มีเพียงเรื่องราวบอกต่อกันมาว่า ด้วยความสูงที่โดดเด่นและโผล่พ้นแนวต้นไม้ป่าชายเลนด่านหน้าทำให้สังเกตเห็นได้จากระยะไกล ตะเคียนคู่ทุกข์คู่ยากจึงเป็นหมุดหมายสำคัญในอดีตเพื่อให้ชาวเรือมองหาทิศทางการนำเรือเข้าฝั่งในรุ่งสาง บ้างก็ว่าใช้พิกัดระหว่างยอดไม้สองต้นชี้ตำแหน่งนัดพบบนชายฝั่งด้วย

เป็นที่รู้กันว่าตะเคียนคู่นี้อยู่มาก่อนวัดเนิ่นนาน ประมาณอายุราว 400 ปี ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง จนกระทั่งบริเวณนี้เกิดเป็นชุมชน ทำมาค้าขายกันบริเวณปากน้ำประแสร์ แต่ก็ยังคงไม่มีวัดประจำชุมชน หากใครอยากทำบุญ บำเพ็ญกุศล หรือประกอบกิจกรรมทางศาสนา ก็ต้องไปวัดที่อยู่ห่างไกล การเดินทางค่อนข้างยากลำบาก กลุ่มพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาจึงร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์และก่อสร้างวัดขึ้นเมื่อปี 2409 ในบริเวณเดียวกับที่ต้นตะเคียนทองทั้งสองเติบโตอยู่ และตั้งชื่อว่า ‘วัดตะเคียนงาม’

เมื่อลอดผ่านซุ้มประตูวัดตะเคียนงามเข้ามาจะพบตะเคียนทองต้นแรกที่ลำต้นตรง ขนาดเส้นรอบวงลำต้นประมาณ 7.4 เมตร และมีกิ่งใหญ่เดี่ยวพุ่งขึ้นเบื้องบน ความสูงราว 20 เมตร นี่คือต้นตะเคียนเจ้าแม่ ถัดเข้ามาไม่ไกลเป็นตำแหน่งของต้นตะเคียนเจ้าพ่อ ซึ่งความสูงใกล้เคียงกันที่ประมาณ 20 เมตร แต่ลำต้นมีขนาดย่อมกว่า วัดเส้นรอบวงได้ 5.6 เมตร และสังเกตความต่างได้อย่างชัดเจนจากลักษณะการแตกกิ่งก้านจำนวนมาก ส่งผลให้เรือนยอดแผ่เป็นพุ่มกว้าง
โดยลักษณะทางพฤกษศาสตร์แล้ว ตะเคียนทองเป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ มักเจริญเติบโตในป่าดิบและพบกระจายตามที่ราบใกล้ฝั่งแม่น้ำ หรือลำธาร ซึ่งบริเวณที่ต้นตะเคียนเจ้าแม่และต้นตะเคียนเจ้าพ่อขึ้นอยู่ก็สอดคล้องตามที่ตำราว่าไว้เพราะห่างจากแม่น้ำประแสร์ราว 500 เมตรเท่านั้น เพียงแต่ลักษณะพื้นที่โดยรอบมีการเปลี่ยนแปลงสภาพตามการพัฒนาเมือง กระทั่งปัจจุบันกลายเป็นชุมชน แทบไม่เหลือร่องรอยของระบบนิเวศในอดีตอีกต่อไป
The Oldest Signpost
หลังจากต้นตะเคียนทองเก่าแก่ได้รับเลือกในปี 2560 ให้เป็นหนึ่งในต้นไม้ใหญ่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตามโครงการ ‘รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี’ ของกระทรวงวัฒนธรรมหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินงานรุกขกรรมตามหลักวิชาการ โดยเข้ามาดูแลบำรุงทุกส่วนตั้งแต่เรือนยอดเรื่อยลงมาจนถึงรากที่อยู่ใต้ดิน แม้ลักษณะภายนอกโดยรวมดูแข็งแรง ไร้โรคพืช แต่ก็พบว่ามีหลายจุดที่เริ่มอ่อนแอและต้องได้รับการเยียวยา
เริ่มจากการตัดสางกิ่งให้พุ่มเรือนยอดโปร่งขึ้นเพื่อให้ลมไหลผ่านสะดวกและไม่ต้านลม พร้อมกับตัดทิ้งกิ่งแห้งป้องกันการหักและการร่วงหล่นในยามพายุฝนคะนอง จากนั้นสำรวจซอกโพรงต่างๆ และศัลยกรรมปิดช่องว่างเหล่านั้นเพื่อไม่ให้น้ำเข้าไปขังอยู่ภายใน ซึ่งจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อราและทำให้เนื้อไม้ผุเสียหาย

ลำดับต่อไปคือการเปิดหน้าดินสำรวจโครงสร้างและความแข็งแรงของระบบราก กระตุ้นการเกิดรากใหม่ด้วยสารเร่งรากและฮอร์โมน เพื่อให้รากงอกใหม่ทำหน้าที่ดูดซึมอาหารและค้ำยันต้นตะเคียนทองอาวุโสได้มั่นคงกว่าเดิม รวมถึงจัดทำแผนผังราก (root map) แสดงตำแหน่งและทิศทางของรากที่มีขนาดใหญ่กว่าสิบเซนติเมตรไว้เป็นข้อมูลพื้นฐาน ช่วยให้การปรับปรุงภูมิทัศน์รอบๆ ต้นตะเคียนทองคู่ในอนาคตเป็นได้โดยละมุนละม่อม สร้างความกระทบกระเทือนกับรากให้น้อยที่สุด ปิดท้ายด้วยการวิเคราะห์คุณภาพดินและบำรุงธาตุอาหารส่วนที่ขาดแคลนด้วยปุ๋ยอินทรีย์

แม้จะใช้เวลานานหลายเดือน แต่กระบวนการทั้งหมดมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับต้นไม้อายุมาก ซึ่งปรากฏความร่วงโรยตามวัยและไม่สามารถเยียวยาตัวเองได้เหมือนเดิม การดูแลส่วนต่างๆ ในรายละเอียดเหล่านี้นอกจากจะป้องกันความเสียหายจากโรคภัยที่อาจลุกลามหากปล่อยปละละเลย ยังช่วยฟื้นฟูให้ต้นตะเคียนทองสองตายายมีสุขภาพดีพอที่จะยืนต้นโดดเด่นอย่างแข็งแรงต่อไป

ชาวประมงอาจไม่ต้องใช้ตะเคียนยักษ์ในการนำทางแล้วแต่ไม้คู่นี้อย่างไรก็คือหมุดหมายสำคัญแห่งปากน้ำประแสร์ที่สมควรรักษาให้คงอยู่สืบไปอีกนานเท่านาน