หนึ่งในสายพันธุ์ไม้มงคลตระกูล Ficus ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน คือเจ้าของชื่อสามัญที่แปลว่ายิ่งใหญ่ หรือเกรียง ‘ไกร’ นั่นเอง ชื่อวิทยาศาสตร์ของมันก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน นั่นคือ Ficus superba (Miq) ไกรเป็นไม้ที่มักพบที่ความสูงเหนือจากระดับน้ำทะเลไม่มากนัก จึงมีชื่อเล่นภาษาอังกฤษอีกชื่อหนึ่งว่า ‘sea fig’

The Old Dame by the River



ไกรอายุนับร้อยปีต้นนี้ไม่ได้อยู่ริมทะเล แต่เป็นริมแม่น้ำเจ้าพระยา และนับเป็นผู้อาวุโสที่สุดแล้วในบริเวณท่าเรือกรมเจ้าท่า ย่านตลาดน้อย ผู้อาวุโสรองลงมาที่อายุเหยียบร้อยปีเช่นกันคืออาคารสามชั้นที่อยู่เคียงคู่กัน สร้างตามแบบตะวันตกในสไตล์โบซาร์ (beaux arts) หรือเรียกแบบไทยว่า สถาปัตยกรรมวิจิตรศิลป์ ซึ่งเป็นสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์ที่หลายคนยกย่องว่าสวยที่สุดในประเทศ
โบซาร์คือหนึ่งในแนวทางของกลุ่มศิลปะนีโอคลาสสิก แผ่ความนิยมไปทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 19-20 ความหรูหราทรงพลังทำให้สไตล์โบซาร์ถูกเลือกใช้กับสิ่งก่อสร้างสำคัญของไทย เช่น รัฐสภา ศาล พิพิธภัณฑ์ ธนาคาร เช่นเดียวกับอาคารหลังนี้ในย่านตลาดน้อย ซึ่งทำหน้าที่เป็นสำนักงานถาวรแห่งแรกของแบงก์สยามกัมมาจลในปี 2451 ความละเอียดงดงามของทุกองค์ประกอบที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นลาดบัว หัวเสา ปูนปั้น ไปจนถึงการทำผนังชั้นล่างเลียนแบบการก่อหิน ส่งผลให้มรดกทางสถาปัตยกรรมทรงคุณค่าแห่งนี้ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2525
ในอดีตละแวกนี้เคยเป็นที่ตั้งของโรงสีข้าว โรงเลื่อย โรงน้ำปลา และโรงงานขนาดเล็กอื่นๆ อีกหลายแห่ง แทรกรวมกับชุมชนอยู่อาศัย ซึ่งต้นไกรก็เป็นที่รู้จักของชุมชนเก่าแก่มาก่อนหน้านั้น ไกรหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ต้นเลียบ’ เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เมื่อเติบโตเต็มที่จะสูงประมาณ 8-15 เมตร ไกรต้นนี้มีลำต้นขนาดสิบคนโอบและมีความสูงเต็มที่ของสายพันธุ์ซึ่งเทียบได้กับตึกประมาณห้าชั้น อวดโฉมสู่สายตาผู้สัญจรในแม่น้ำเจ้าพระยาจนเป็นภาพชินตาคนแถบนี้จากรุ่นสู่รุ่น
ในปี 2554 ต้นไกรเรือนยอดงามต้นนี้คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทต้นไม้ทรงคุณค่าน่าประทับใจที่สุดในกรุงเทพมหานคร จากโครงการประกวดภาพถ่าย ‘ต้นไม้มหานคร’ หรือ Bangkok Big Trees ซึ่งจัดโดยกลุ่มบิ๊กทรีและภาคีเครือข่าย เป็นเครื่องการันตีความสง่างามของต้นไกรอายุกว่าร้อยปีต้นนี้

ในฐานะที่เป็นสมาชิกสายพันธุ์เดียวกับไทรที่ออกผลเป็นเมนูโปรดของเหล่านกไกรต้นนี้จึงเป็นจุดดึงดูดสิ่งมีชีวิตตัวน้อยๆ ในเมืองใหญ่เช่นกัน เมื่อเริ่มติดผลจะเห็นผลสีเขียวอ่อนขนาดเล็ก ทรงกลมแกมรูปไข่คล้ายผลมะเดื่อ กระจายไปทั่วกิ่งของต้น และเมื่อเริ่มสุกจึงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพู แดงอมม่วง หรือดำและมีรสหวาน ช่วงเวลากลางวันจึงมีนกนานาชนิด อาทิ นกปรอด นกเอี้ยงสาริกา นกตีทอง นกเขา ฯลฯ บินเข้า-ออกกินผลไกรอย่างคึกคัก และเมื่อพระอาทิตย์จากลาก็จะเป็นนาทีทองของค้างคาวแม่ไก่บ้าง หมุนเวียนสับเปลี่ยนเช่นนี้วันแล้ววันเล่า

หากเคยนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาผ่านท่าเรือกรมเจ้าท่า ก็ย่อมจะเคยผ่านตาต้นไม้ใหญ่พุ่มใบแน่นที่ยืนเด่นสง่าโดยมีตึกสีเหลืองครีมทรงคลาสสิกแทรกเป็นฉากหลัง สองสิ่งนี้อยู่เคียงคู่กันมานานกว่าร้อยปี แต่ความพิเศษที่มีแต่ต้นไม้เท่านั้นที่จะมอบให้ได้ ก็คือเสียงสารพัดนกขับขานที่หาฟังไม่ได้ง่ายๆ เลยในเมืองหลวงแห่งนี้
และนับเป็นโชคดี แม้บริเวณนี้จะเป็นพื้นที่ของเอกชน แต่ก็เปิดกว้างให้คนทั่วไปเดินเข้าออกได้เหมือนพื้นที่สาธารณะ คนทั่วไปจึงสามารถมาเดินเล่นรับลมโชยจากแม่น้ำและฟังนกน้อยขับขานออกมาจากต้นไกรได้ทุกคน