
Someone’s sitting in the shade today
because someone planted a tree long time ago.
Warren Buffet


เฉพาะในไทยก็เรียกกันหลากหลายนาม ทั้งฉำฉา ก้ามปู จามจุรี ส่วนฝรั่งเรียก ‘เรนทรี’ (Rain Tree) และที่บ้านเกิดแถบลาตินอเมริกาเรียกด้วยภาษาสเปนว่า ‘เซนีซาโร’ (Cenízaro) แถบอเมริกากลางเรียก ‘คาร์เรโต’ (Carreto) และอีกสารพัดชื่อสารพัดภาษา ทั้งหมดคือนามของต้นถั่วยักษ์ Samanea saman พืชในวงศ์ Fabaceae ซึ่งเป็นเลิศเรื่องการปรับตัว สามารถเจริญเติบโตในดินหลากหลายลักษณะ แม้ดินที่ธาตุอาหารต่ำก็อยู่รอดได้ ทั้งยังเป็นต้นไม้รักแดดทนทานความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้มาก มันจึงเดินทางจากบ้านเกิดที่ลาตินอเมริกาไปแพร่พันธุ์และเติบโตอยู่ในเขตร้อนชื้นทั่วโลก
หนึ่งในนั้นเติบใหญ่งดงามอยู่คู่ผืนดินในตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ก่อนกลุ่มข้าราชการชาวอังกฤษที่เข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ในรัชสมัยของพระบาท-สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะจัดตั้งเป็นสโมสรยิมคานาเชียงใหม่เมื่อปี 2441 จามจุรีซึ่งยืนตระหง่านมาอย่างยาวนานต้นนี้จึงให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่อลังการงานธรรมชาติสร้างยิ่งนัก

The Miracle Healing
ไม่เพียงเป็นองค์ประกอบสำคัญในภาพจำของสนามกอล์ฟที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย จามจุรีต้นนี้ยังคว้ารางวัลประกวดต้นไม้ใหญ่จากเทศบาลนครเชียงใหม่เมื่อปี 2548 และได้รับเลือกเป็น 1 ใน 4 รุกขมรดกของแผ่นดินเชียงใหม่เมื่อปี 2561 ด้วย และแน่นอนว่าถ้าอยู่ใต้ต้นคุณต้องเดินออกไปไกลจนเมื่อยเอาเรื่องเพื่อหันหลังกลับมาบันทึกภาพได้ครบทั้งต้นโดยไม่มีเรือนยอดหรือกิ่งก้านใดหลุดกรอบ
โคนต้นขนาดสิบเอ็ดคนโอบแตกลำก้านขนาดมหึมารอบทิศเป็นหลักฐานยืนยันอายุกว่า 120 ปี เมื่อยืน ณ จุดใกล้ศูนย์กลางของเรือนยอดแล้วแหงนมองเบื้องบนคุณจะเห็นเส้นสายยึกยือ เป็นปรากฏการณ์น่าพิศวงของกิ่งก้านสาขาจำนวนนับไม่ถ้วน เมื่อบวกรวมกับกลุ่มใบเล็กยิบที่แตกดกเป็นช่อบริเวณปลายสุดของกิ่งแขนงก่อเกิดทรงพุ่มฟูสวย คล้ายมีร่มยักษ์สีเขียวครอบทับอยู่ด้านบน และสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะความพิเศษของระบบราก


รากของจามจุรีเป็นรากแก้วที่แตกแขนงหนาแน่นในทิศทางขนานกับผิวดิน สามารถแผ่ขยายระยะทางไกลหลายสิบเมตร โดยรัศมีการแผ่ขยายรากสอดคล้องกับความกว้างของเรือนยอดทั้งนี้เพื่อทำหน้าที่เป็นฐานพยุงลำต้นและทรงพุ่มอันไพศาลของมันนั่นเอง และเมื่อต้นไม้มีอายุมากขึ้นรากก็มักโผล่พ้นดินขึ้นมาอวดโฉม ซึ่งระบบรากตื้นนี้คือจุดอ่อนสำคัญของจามจุรีเช่นกัน ในยามเผชิญพายุฝนหนักหน่วง ลมกรรโชกแรง จามจุรีก็เสี่ยงโดนพัดโค่นแบบที่เรียกว่า 'ถอนรากถอนโคน'

รอยแตกร่องลึกที่มากับอายุช่วยเก็บรักษาความชื้นไว้กับเปลือกต้น
ทำให้พืชกลุ่มอิงอาศัยได้เติบโตอย่างไม่เบียดเบียนกัน

เมื่อสังเกตใกล้ๆ จะเห็นว่าเปลือกลำต้นจามจุรีมีสีน้ำตาลเข้มออกดำ ผิวขรุขระปรากฏรอยแตกร่องลึกอยู่ทั่วไป จนเหมือนเป็นสะเก็ดเปลือกเล็กๆ ขนาดใหญ่เล็กเรียงต่อกันโดยไม่มีแบบแผนตายตัว ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของต้นจามจุรีอาวุโสต่างจากต้นที่อายุน้อย ผิวเปลือกลำต้นจะค่อนข้างเรียบเนียนสีออกเทาขาวหรือน้ำตาลอ่อน
รอยแตกร่องลึกที่มากับอายุเหล่านี้เก็บรักษาน้ำและความชื้นไว้กับเปลือกลำต้นได้มากกว่าลำต้นผิวเรียบ จึงเกิดเป็นระบบนิเวศเล็กๆ ที่เหมาะกับการยึดเกาะดำรงชีวิตของต้นอ่อนกลุ่มพืชอิงอาศัย เช่น กล้วยไม้ เฟิร์น ฯลฯ ซึ่งจะค่อยๆ เติบโตทีละน้อยโดยไม่เบียดเบียนทำร้ายต้นไม้ใหญ่ เป็นตัวอย่างความสัมพันธ์อันเกื้อกูลระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างชนิดพันธุ์
จามจุรีเป็นหนึ่งในต้นไม้ไม่กี่ชนิดที่ ‘ผลัดเปลือก’ ได้ โดยเปลือกเก่าด้านนอกหลุดล่อนได้เองตามธรรมชาติ เพื่อให้ผิวใหม่ด้านในขึ้นมารับช่วงทำหน้าที่ปกป้องเนื้อไม้แทน ทว่าในจังหวะที่เปลือกเก่าเริ่มเผยอแต่ยังไม่หลุดและเปลือกใหม่ภายในยังอ่อนแอ ช่องว่างบางๆ ระหว่างเปลือกสองชั้นนี้กลายเป็นจุดอ่อนที่แมลงศัตรูตัวร้ายจะฉวยโอกาสเข้าจู่โจมได้ง่ายดาย

ย้อนกลับไปหลายปีก่อน จามจุรีแห่งสนามยิมคานาก็เกือบเอาชีวิตไม่รอดด้วยปัญหานี้เช่นกัน กิ่งของมันเริ่มแสดงอาการแห้งผิดปกติ เป็นสัญญาณแรกเริ่มถึงความผิดปกติร้ายแรงที่ซ่อนอยู่ ร้อนถึงหมอต้นไม้เมืองเชียงใหม่ อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัยอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต้องส่งทีมงานไปตรวจสอบ ก่อนจะพบว่าความร้ายแรงนั้น ‘ซ่อนอยู่’ จริงๆ ในเนื้อไม้ภายใต้เปลือกลำต้น
กลิ่นเหม็นโชยออกมา โรคเน่าได้ลุกลามและรุกรานไม้ใหญ่แห่งยิมคานาเกือบครึ่งต้นเข้าไปแล้ว
ฤดูฝนต้นไม้ล้วนเบิกบานก็จริง แต่มีเรื่องให้ต้องระวังเช่นกัน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ด้วงหนวดยาวระบาด มันพากันบุกเข้าไปวางไข่บริเวณหลืบเร้นของเปลือกไม้อันเป็นจุดอ่อนของจามจุรี เมื่อฟักเป็นตัวอ่อนพวกมันก็รุมกัดกินเนื้อไม้เป็นอาหาร เมื่อเนื้อไม้เกิดบาดแผล สุขภาพต้นไม้ก็ยิ่งบอบช้ำเมื่อเจอกับสภาพอากาศเปียกชื้น เพราะความชื้นทำให้แผลยิ่งเน่าเฟะ เป็นเสมือนบัตรเชิญให้เชื้อโรคอื่นๆ มาร่วมวงซ้ำเติม
ลำต้นเปรียบประหนึ่งเส้นทางลำเลียงอาหาร เมื่อถูกทำลายการลำเลียงน้ำและอาหารจากรากไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของต้นก็ขาดประสิทธิภาพ ส่งผลให้สุขภาพของจามจุรีแห่งยิมคานาย่ำแย่จนแม้แต่อาจารย์บรรจงเองก็ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าจะช่วยฟื้นชีวิตได้กี่มากน้อย
เป็นเวลากว่าร้อยปีที่มันยืนหยัดอยู่คู่แผ่นดินเชียงใหม่ เมื่อคิดว่าวันรุ่งขึ้นอาจจะไม่ได้เห็นอีกต่อไป ย่อมนับเป็นเรื่องชวนใจหาย ไม่ใช่แค่กับผู้คน แต่สิ่งมีชีวิตอีกน้อยใหญ่ที่เคยพึ่งพาอาศัยกันอยู่ก็เช่นกัน อาจารย์บรรจงและทีมลงมือเยียวยาอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เริ่มจากแซะเปลือกไม้เพื่อเปิดเปลือยบาดแผลบนเนื้อไม้ด้านใน ตามด้วยมหกรรมการแงะด้วงหนวดยาวและหนอนตัวอ่อนทั้งหมดออกจากลำต้นและราก และยังต้องกำจัดออกจากพื้นดินรอบโคนต้นอีกด้วย เพราะบางช่วงของวงจรชีวิตด้วงหนวดยาวฝังตัวอยู่ใต้ดิน
หลังจากกำจัดต้นเหตุหมดจดแล้วจึงเข้าสู่กระบวนการรักษาฟื้นฟู หมอต้นไม้ลงมือขูดเนื้อไม้ส่วนที่เน่าทิ้งไป ใส่ยารักษาแผล อุดรูด้วยซิลิโคนบ้าง สีโป๊วไม้บ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลซึมเข้าไป เพราะอาจเกิดภาวะน้ำขังแล้วก่อโรคอื่นตามมา จามจุรียืนต้นนิ่ง รับการรักษาอย่างสงบ ขณะที่ภายในของมันฟื้นตัวอย่างรวดเร็วราวกับรับรู้ว่ามีคนห่วงใย
เพียง 3-4 เดือนของการเยียวยา สุขภาพของต้นถั่วยักษ์ก็ดีวันดีขึ้น ร่องรอยด่างจากการรักษาที่ปรากฏให้เห็นบนเนื้อไม้ ถูกทาสีให้กลมกลืนและเคลือบด้วยแล็กเกอร์กันน้ำ หลังจากนั้นก็ยังต้องหมั่นตรวจตราทุก 3-6 เดือนว่าด้วงหนวดยาวกลับมาจู่โจมอีกหรือไม่ เพื่อจะจัดการได้ทันเวลาก่อนปัญหาบานปลาย ซึ่งนับแต่ตอนนั้นกระทั่งถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฏเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม

จามจุรีแห่งยิมคานากลับฟื้นคืนชีวิตได้อีกครั้ง กระบวนการอันมหัศจรรย์ของมันค่อยๆ สร้างเนื้อเยื่อลำต้นขึ้นมาปิดทับวัสดุอุดซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมทีละเล็กทีละน้อยจนผสานกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน และเห็นได้ชัดว่าร่องรอยแผลร้ายแต่ละแห่งซึ่งแทนที่ด้วยซิลิโคนและสีโป๊วมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ
ด้วยความเอาใจใส่ของมนุษย์ตัวเล็กๆ กลุ่มหนึ่งและเจตจำนงที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ทำให้วันนี้ต้นไม้ร้อยปีแห่งเชียงใหม่สามารถยืนหยัดผ่านร้อนหนาวต่อไปได้...อีกหลายร้อยปี

Rain Tree

Leaves

Pods
