

At the molecular heart of life,
the trees and we are essentially identical.
Carl Sagan


มีคำกล่าวแต่โบราณว่า “ลำน้ำสำคัญทุกสายในอีสานต้องมีน้ำจากดงบังอี่ไหลลงไปรวมอยู่” ค่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของภาคอีสาน สารพัดลำน้ำลำห้วยที่ว่านั้นไหลออกมาจากผืนป่าแห่งนี้ และถ้าไม่ไหลต่อเนื่องสู่แม่น้ำโขงโดยตรง ก็ต้องไหลลงแม่น้ำโขง โดยผ่านห้วยหนองคลองบึง กลายเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำชี แม่น้ำมูน และแม่น้ำสงคราม

ตำแหน่งที่กระบกต้นนี้ยืนอยู่เคยเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ป่าดงบังอี่’ ป่าผืนใหญ่ของภาคอีสาน ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มีอาณาเขตครอบคลุมหลายพื้นที่ของจังหวัดนครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด
ผืนป่าดังกล่าวมีส่วนผสมของระบบนิเวศอันหลากหลายในบริเวณใกล้แม่น้ำโขง ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าพื้นที่ตอนในที่เป็นป่าดิบแล้ง ชาวบ้านเรียก 'ป่าดง' ส่วนเขตภูเขาที่เต็มไปด้วยหินทราย และดินตื้น ไม่อุ้มน้ำ เป็นป่าเต็งรัง หรือ 'ป่าโคก' ตามภาษาท้องถิ่น ด้านแถบที่ลาดเขา ใกล้ลำห้วย ความชื้นสูง และชั้นดินหนา ถูกครอบครองโดยป่าเบญจพรรณ และมีป่าทามเข้าจับจองที่ราบสองฝั่งลำน้ำซึ่งน้ำท่วมเป็นประจำในฤดูน้ำหลาก

กระบกมีชื่อสามัญว่า wild almond เพราะเมล็ดสีน้ำตาลเปลือกแข็งนั้น
เมื่อคั่วสุกแล้วรับประทานจะให้รสชาติหอมมัน คล้ายเมล็ดอัลมอนด์
คนอีสานนิยมนำไปโรยเกลือเป็นเมนูกินเล่น

พื้นที่หลายส่วนของป่าดงบังอี่ยังคงสภาพระบบนิเวศทางธรรมชาติไว้ได้ แต่ไม่ใช่กับบ้านดงทรายงาม อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด เพราะเมื่อกวาดสายตาสำรวจบริเวณโดยรอบต้นกระบกในวันนี้ เราแทบไม่พบร่องรอยความเป็นป่าดั้งเดิมให้เห็น ต้นกระบกนี้ถูกแวดล้อมไปด้วยไผ่ มะพร้าว กล้วย และพืชเกษตรกรรมอื่นๆ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเป็นพื้นที่สีเขียวจากการปลูกโดยฝีมือมนุษย์
...คงเหลือเพียงกระบกผู้โดดเดี่ยวที่รอดพ้นคมขวานฟันเลื่อยและเติบโตต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสัมปทานป่าไม้คือตัวกระตุ้นความเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ละแวกนี้ในพริบตา บรรดาต้นไม้ใหญ่ เช่น ยางนา ประดู่ ตะเคียน ฯลฯ ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ มีเนื้อไม้แข็งแรงทนทาน เป็นที่ต้องการของท้องตลาด ถูกตัดโค่นจนแทบเกลี้ยงตั้งแต่เมื่อประมาณสามสิบปีที่แล้ว
เหตุผลที่ต้นกระบกยักษ์ขนาดเส้นรอบวงลำต้นมากกว่าหกเมตรต้นนี้ไม่โดนโค่น อาจเนื่องจากขึ้นอยู่ใกล้บ้านของพ่อบุญ สืบสิงห์ ผู้ปรารถนาจะเก็บรักษาไม้ไว้ให้ร่มเงาแก่ลูกหลาน หลังผ่านพ้นยุคสัมปทานทำไม้ก็ยังมีคนแวะเวียนมาขอซื้อต้นกระบกอีกหลายราย แต่พ่อบุญปฏิเสธเรื่อยมา
ชายชราเสียชีวิตไปแล้วเมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน แต่สมัยที่พ่อบุญมีชีวิตอยู่ นายอำเภอคนหนึ่งเดินทางมาเป็นประธานงานบวชในหมู่บ้านดงทรายงามและเห็นต้นกระบกนี้ จึงเอ่ยปากกับพ่อบุญว่าอย่าโค่นหรือขายใคร รักษาไว้ให้ดี เพื่อให้เป็นต้นไม้ประจำจังหวัด เพราะทั่วทั้งร้อยเอ็ดไม่มีกระบกต้นใดสูงใหญ่เท่านี้อีกแล้ว

The Last Legacy
กระบกเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ พูพอนรอบโคนต้นไม่ได้แผ่รัศมีอลังการ แต่ลักษณะพิเศษอันเป็นเอกลักษณ์คือทรงคล้ายแท่งทรงกระบอกที่ถูกจับมัดรวม คล้ายผู้หญิงผมยาวแล้วมัดผม กลายเป็นลอนโค้งต่อเนื่องดูสวยงาม ชื่อสามัญภาษาอังกฤษของต้นกระบกคือ ‘wild almond’ เนื่องจากเมล็ดสีน้ำตาลเปลือกแข็งที่ซ่อนอยู่ในผลนั้น เมื่อคั่วสุกแล้วรับประทานจะให้รสชาติหอมมันคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ สมัยก่อนคนอีสานนิยมนำไปคั่วหรือทอดน้ำมันโรยเกลือ เป็นเมนูกินเล่นเคี้ยวเพลิน
อันที่จริงกระบกมิใช่พันธุ์ไม้หายากเพราะกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติทั่วภาคอีสาน พบได้ทุกระบบนิเวศ ไม่ว่าจะป่าดง ป่าโคก ป่าบุ่ง ป่าทาม ฯลฯ แต่ในระยะหลังกลับมีจำนวนลดลงจนน่าใจหาย เช่นกระบกต้นนี้ ช่วงชีวิตหนึ่งมันย่อมต้องเคยเติบโตอยู่ในป่าธรรมชาติ ท่ามกลางไม้ใหญ่ด้วยกัน และผ่านการช่วงชิงแสงแดดกับต้นไม้รอบข้าง ลำต้นถึงต้องรีบยืดจนสูงใหญ่ และกลายเป็นความพิเศษอย่างที่เห็นวันนี้

การพูดคุยกับนายอำเภอในวันนั้นเป็นไปอย่างถูกคอ ทำให้พ่อบุญและแม่ทอน ผู้เป็นภรรยา ตัดสินใจยกต้นกระบกพร้อมที่ดินบริเวณข้างเคียงขนาดหนึ่งไร่ให้เป็นทรัพย์สินของทางราชการ แต่เนื่องจากทั้งหมดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ถูกระบุสถานภาพเป็นที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ซึ่งอนุญาตให้ผู้มีชื่อถือใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมเท่านั้น แต่ไม่ใช่เจ้าของที่ดินจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน ไม่สามารถโอนที่ดินให้บุคคลอื่นได้ และไม่สามารถยกให้เป็นพื้นที่สาธารณะได้ตามที่พ่อบุญและแม่ทอนตั้งใจ

หน่วยงานระดับจังหวัดก็ทำได้เพียงมอบอำนาจผ่านระดับอำเภอสู่คณะกรรมการหมู่บ้านให้ช่วยกันบำรุงดูแล พร้อมกับขึ้นทะเบียนกระบกต้นนี้เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อให้มันอยู่เป็นมรดกล้ำค่าของผืนป่าดงบังอี่ที่ยังหลงเหลือให้คนรุ่นหลังได้เห็นกับตาสืบไป