

อาจเพราะไม่ใช่ต้นไม้ดาวเด่นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเหมือนยางนา ไม้แดง ตะเคียน หรือมะค่า มะเดื่อกวางต้นนี้จึงซ่อนตัวเองอยู่ในป่าชุมชนบ้านหัวบึง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ป่าดอนดงคำ’ ตำบลทรายมูล จังหวัดขอนแก่น มานานกว่าสองร้อยปี และมีน้อยคนสังเกตเห็นความไม่ธรรมดาที่ซ่อนอยู่ในการยืนต้นสง่างามบนแผ่นดินอีสานของมัน


มะเดื่อกวางเป็นพืชสกุลเดียวกับโพธิ์และไทร จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบระยะสั้นๆ สูงได้ถึง 20-30 เมตร ลำต้นเปลาตรง ครั้นอายุมากขึ้นก็จะปรากฏพูพอนที่โคนต้น พบได้แพร่หลายทุกภูมิภาคของประเทศไทย แต่จะเจริญเติบโตได้ดีเฉพาะพื้นที่ที่มีความชื้นสูงเท่านั้น ผลทรงกลมแป้นตามสกุลมะเดื่อที่ร่วงหล่นรอบต้นทำให้มีต้นอ่อนของมะเดื่อกวางขึ้นอยู่ประปราย แต่หลายคนที่ขุดต้นอ่อนกลับไปปลูกที่บ้านมักต้องผิดหวัง เพราะอัตราการรอดชีวิตต่ำ สันนิษฐานว่าเป็นเพราะความชื้นในดินและอากาศยังไม่เพียงพอ การที่มะเดื่อกวางต้นแม่นี้กลับเติบโตกว่าสองร้อยปีบนแผ่นดินจังหวัดขอนแก่น ที่เมื่อปี 2562 ผู้ว่าราชการเพิ่งจะต้องประกาศภาวะภัยแล้งทุกตำบล จึงนับว่าไม่ใช่เรื่องสามัญเลย
ป่าดอนดงคำมีเนื้อที่ 88 ไร่ 9 ตารางวา ขึ้นทะเบียนป่าชุมชนกับกรมป่าไม้อย่างเป็นทางการเมื่อ 18 มีนาคม 2556 ส่งผลให้ชุมชนบ้านหัวบึงมีสิทธิเต็มที่ในการบริหารจัดการ ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ภายใต้หลักการความยั่งยืน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เคยเข้ามาสำรวจพื้นที่และรู้สึกประทับใจในเสน่ห์ของรากพูพอน ตลอดจนชี้ให้เห็นความพิเศษว่ามะเดื่อกวางขนาดใหญ่ไม่ใช่ไม้ยืนต้นที่พบได้ทั่วไปในภูมิภาคแห้งแล้ง ผู้คนจึงเริ่มให้ความสนใจในฐานะเป็นมะเดื่อกวางที่สวยสมบูรณ์ที่สุดต้นหนึ่ง
แต่อะไรคือปัจจัยเกื้อหนุนให้ต้นไม้จำนวนมากในป่าชุมชนแห่งนี้ยังดำรงอยู่และคงความอุดมสมบูรณ์มาได้จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่บริเวณโดยรอบเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวไปหมดแล้ว...

The Last Fortress
เมื่อค้นหาคำตอบย้อนไปในอดีตจึงพบว่า ค่านิยมในการอนุรักษ์ป่าของผู้คนที่นี่ฝังรากลึกมาตั้งแต่ช่วงแรกของการก่อร่างชุมชนเมื่อราวปี 2438-2442 ภายใต้การนำของหลวงปู่สีทน กิตฺติปญฺโญ ที่ชาวบ้านตำบลทรายมูลให้ความเคารพนับถืออย่างมากในฐานะสงฆ์ผู้ปฏิบัติภาวนาเคร่งครัด เป็นเนื้อนาบุญสำหรับญาติโยม ทั้งมีกิตติศัพท์ในทางวิทยาคมเป็นที่ยำเกรง โดยสิ่งหนึ่งที่หลวงปู่สีทนสั่งสอนเสมอคือให้รักษาป่า ‘เพื่ออนาคตลูกหลานจักได้เบิ่งกันต่อๆ ไป’
ด้วยการเพียรสอนและทำนเป็นเยี่ยงอย่าง ประกอบกับศรัทธาในจริยวัตรหรืออิทธิฤทธิ์ที่ชาวบ้านมีให้แก่หลวงปู่อย่างเต็มเปี่ยม หลวงปู่สีทนจึงเป็นศูนย์รวมแรงรวมใจจากทุกคน และมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการปลูกฝังความคิดอนุรักษ์ป่าชุมชน โดยภายหลังจากหลวงปู่สีทนมรณภาพ ชาวบ้านได้ดำเนินการสร้างเจดีย์ขนาดเล็กไว้ในป่าดอนดงคำเพื่อบรรจุอัฐิ และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่คนในชุมชนจะร่วมกันแสดงความเคารพสักการะและขอพรในวันที่ 16 เมษายนของทุกปี

วันนี้ ท่ามกลางภัยแล้งรอบด้านของอีสาน และการตัดโค่นป่าเป็นบริเวณกว้างเพื่อสร้างสนามบินน้ำพอง ซึ่งทำให้แหล่งน้ำผุดที่เคยมีอยู่จำนวนมากเหือดหายไปเกือบหมดสิ้น ป่าดอนดงคำกลายเป็นสินทรัพย์ของชุมชนที่ประเมินค่ามิได้ และมะเดื่อกวางต้นงามก็รอดชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมกันกับไม้ใหญ่อีกหลายต้น และเหล่าไม้ในอารักขาของชาวบ้านก็สนองคุณทันตาเห็น บ่อน้ำผุดธรรมชาติซึ่งอยู่ในบริเวณนี้จึงยังคงมีน้ำสะอาดเติมเต็มอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านแถบนี้ไม่เคยขาดแคลนน้ำสำหรับปลูกผัก เลี้ยงปลาและป้อนเข้าระบบประปาหมู่บ้าน

ดูเหมือนมิใช่เพียง ‘ได้เบิ่งกันต่อๆ มา’ เท่านั้น แต่พลังศรัทธาของพระสงฆ์และชาวบ้าน ได้ทำให้คนรุ่นหลังมีกินมีใช้และมีชีวิตที่ไม่แล้งไร้มาจนถึงทุกวันนี้