

Listen to the trees as they sway in the wind.
Their leaves are telling secrets.
Vera Nazarian


คงไม่มีกลุ่มต้นตาลที่ไหนในประเทศไทยจะอยู่ในภาพถ่ายและความทรงจำของผู้คนมากเท่าต้นตาลแห่งแหลมพรหมเทพ เมื่ออาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า แสงสีส้มชมพูที่อาบไปทั่วแหลมเล็กๆ ในตำบลราไวย์ จังหวัดภูเก็ตแห่งนี้ ช่วยขับเงาสูงชะลูดกับเส้นขอบใบเป็นเอกลักษณ์ของต้นตาลทาบลงบนผืนดิน ก่อให้เกิดทัศนียภาพแปลกตา คล้ายมีมนตร์ดึงดูดผู้คนจากทุกสารทิศให้มาดื่มด่ำช่วงเวลาสั้นๆ นี้ร่วมกันทุกวัน

วันนี้เราพบต้นตาลหรือตาลโตนดได้ทุกภูมิภาคในประเทศไทย แต่หากย้อนกลับไปในอดีต นี่ไม่ใช่พืชดั้งเดิมของบ้านเมืองเรา ไม้ยืนต้นตระกูลปาล์มนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียใต้ ทางฝั่งตะวันออกของประเทศอินเดีย จากนั้นแพร่ขยายตามเส้นทางการค้าและเผยแผ่ศาสนาทั้งฮินดูและพุทธ กระทั่งกระจายกว้างไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ไม่ปรากฏข้อมูลชี้ชัดว่าต้นตาลเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อใด มีเพียงข้อความบนศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ด้านที่ 3 ว่า “๑๒๑๔ ศก ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ปลูกไม้ตาลนี้ ได้สิบสี่เข้า จึงให้ช่างฟันขดานหิน ตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้...” จึงเป็นไปได้ว่าต้นตาลน่าจะอยู่มาก่อนหน้านั้นและได้รับความนิยมปลูกมากขึ้นในสมัยสุโขทัย
The Famous Silhouette

หลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกชิ้นที่เก่าแก่ยิ่งกว่าคือ ตราประทับดินเผารูปคนขึ้นต้นตาล ซึ่งค้นพบที่เมืองโบราณจันเสน สมัยทวารวดีตอนต้นหรือราวๆ พุทธศตวรรษที่ 11-12 สันนิษฐานว่าเป็นตราประจำตัวหรือตราประจำตระกูลของผู้มีหน้าที่จัดการผลผลิตตาลโตนดให้รัฐ สะท้อนว่าคนสมัยนั้นรู้จักการใช้ประโยชน์ต้นตาลเป็นอย่างดี
บรรพบุรุษของเราผูกพันกับตาลมานานกว่าพันปี ไม่เพียงเป็นเครื่องปรุงรสสำคัญของอาหารคาวหวาน ตั้งแต่ก่อนความหวานจากอ้อยจะเข้ามามีบทบาทในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต้นตาลนี่เองเป็นต้นกำเนิดของคำว่า ‘น้ำตาล’ ในภาษาไทย ซึ่งเดิมทีใช้เรียกน้ำหวานจากงวงตาลที่ผ่านการเคี่ยวระเหยน้ำออกจนข้นเหนียว ก่อนจะเปลี่ยนความหมายมาสู่น้ำตาลจากอ้อยที่ทุกคนคุ้นเคยในปัจจุบัน
สำหรับทิวตาลซึ่งเป็นแลนด์มาร์กประจำภูเก็ตนี้เดิมทีมีจำนวนเกือบร้อยต้นยืนตระหง่านท้าลมทะเลอยู่ทั่วบริเวณ ว่ากันว่าเป็นต้นตาลที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ คนท้องถิ่นคาดเดาอายุของต้นขนาดใหญ่ได้ประมาณหนึ่งร้อยปี ตั้งแต่สมัยที่ละแวกนั้นยังเป็นถนนลูกรัง ครั้นความสวยงามถูกบอกเล่ากันปากต่อปากในวงกว้าง ทางจังหวัดภูเก็ตจึงเริ่มประชาสัมพันธ์แหลมพรหมเทพในฐานะจุดชมวิวตั้งแต่เมื่อประมาณสามสิบปีที่แล้ว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น เส้นทางขรุขระได้รับการปรับปรุงเป็นถนนคอนกรีต พร้อมๆ กับการเป็นที่รู้จักโด่งดังผ่านภาพโฆษณาและโปสต์การ์ด

ความอยู่รอดของต้นตาลกลุ่มนี้ถูกสั่นคลอนรุนแรงครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2552 ซึ่งมีตาลบางส่วนยืนต้นตาย สันนิษฐานว่าเพราะมีชีวิตมาจนสุดอายุขัยแล้ว ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งกลายเป็นตาลยอดด้วนจากการรุกรานของด้วงซึ่งเป็นศัตรูพืชตัวฉกาจ ทำให้ต้นตาลลดลงเรื่อยๆ ชวนให้ใจหายว่าเอกลักษณ์ของแหลมพรหมเทพกำลังจะจากไป
หน่วยงานท้องถิ่นทั้งระดับจังหวัดภูเก็ตและเทศบาลตำบลราไวย์จึงดำเนินโครงการคืนต้นตาลให้แหลมพรหมเทพในปีถัดมา โดยนำต้นตาลความสูงประมาณหนึ่งเมตร ประมาณสี่สิบต้น มาปลูกทดแทนต้นเดิมที่ล้มตายในพื้นที่ปลายแหลม ตามด้วยการเพาะเมล็ดเป็นกล้าตาลอีกกว่า 400 ต้น เพื่อขยายการปลูกให้ทั่วถึงตลอดแนวแหลมพรหมเทพและปรับปรุงฟื้นฟูภูมิทัศน์โดยรอบ

ชีวิตของต้นตาลชุดใหม่ก็ใช่จะดำเนินไปอย่างง่ายดาย เพราะหากยังแตกรากหยั่งยึดดินไม่แน่นพอ บางครั้งเมื่อเจอลมมรสุมรุนแรงที่พัดเข้าปะทะตาลวัยเยาว์ก็พากันล้มโค่น และด้วยธรรมชาติของต้นตาลซึ่งเป็นต้นไม้เติบโตช้า กว่ากล้าที่เพาะจากเมล็ดจะสูงถึง 1 เมตรต้องใช้เวลานาน 5-6 ปี ตาลวัยเยาว์หลายต้นจึงตายก่อนจะได้โต และเมื่อถึงฤดูแล้งที่ต้นไม้อ่อนแอ แม้จะมีการต่อท่อรดน้ำเพื่อช่วยเพิ่มความชื้นให้แล้ว หลายต้นก็ยังไม่อาจอยู่รอด ภารกิจปลูกต้นตาลที่แหลมพรหมเทพจึงต้องดำเนินต่อเนื่องเป็นประจำเกือบทุกปี ล่าสุดในช่วงปลายปี 2562 ก็ยังมีการปลูกต้นตาลขนาดใหญ่เกือบแปดสิบต้น โดยการล้อมและการขนย้ายต้นตาลจากพื้นที่อื่นเข้ามา

บรรยากาศอันแสนสวยยามอาทิตย์อัสดง ณ แหลมพรหมเทพที่ยังคงเสน่ห์ไว้ได้จวบจนปัจจุบันนั้น จึงมีที่มาจากความร่วมมือร่วมใจกันของทั้งคนและต้นไม้