

Trees are sanctuaries. Whoever knows how to speak to them,
whoever knows how to listen to them, can learn the truth.
They do not preach learning and precepts,
they preach, undeterred by particulars, the ancient law of life.
Hermann Hesse


หนึ่งในความสามารถของสิ่งมีชีวิตคือการสื่อสาร ทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างมีภาษาในการสื่อสารที่แตกต่างกัน และแม้จะพูดภาษาใดไม่ได้เลย อย่างน้อยวิธีสื่อสารขั้นพื้นฐานที่สุดก็คือส่งเสียงอะไรสักอย่างออกมา ทว่าแม้แต่การสื่อสารขั้นพื้นฐานที่สุดนี้ต้นไม้ก็ยังทำไม่ได้ มันได้แต่ยืนสงบนิ่งเงียบอยู่เช่นนั้นชั่วนาตาปี จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่ในเหตุการณ์หลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์ มนุษย์มักลืมไปว่าต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิต

กลุ่มต้นยางนาสูงใหญ่อายุมากกว่าร้อยปียืนตระหง่านขนาบสองฝั่งซ้าย-ขวาของถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน เป็นระยะทางประมาณสิบกิโลเมตร จากรอยต่อจังหวัดลำพูนในอำเภอสารภีมุ่งสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ วันนี้พวกมันคือมรดกแสนพิเศษซึ่งหาไม่ได้จากถนนสายใด ทว่าวันวานไม่ได้เป็นเช่นวันนี้เลย
นับตั้งแต่วันหยั่งราก แตกใบ เหยียดลำต้นขึ้นฟ้า จนใหญ่โตสง่างามและสร้างความร่มรื่นดังในปัจจุบัน ยางนาเหล่านี้กระทบกระทั่งกับความเปลี่ยนแปลงและแรงกดดันจากกิจกรรมของมนุษย์มากกว่าไม้ยืนต้นอื่นๆ ซึ่งเติบโตในป่าหรือพื้นที่อนุรักษ์ นั่นทำให้สมาชิกบางส่วนเริ่มอ่อนล้า อีกกว่าครึ่งก็ตายจากไปแล้ว
หากยางนาเหล่านี้พูดได้และให้มันเล่าเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมา ไม่แน่ใจนักว่าจะเป็นสิ่งที่มนุษย์อยากฟัง
If Only Trees Could Talk
ปัจจุบันถนนเส้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 แต่หากย้อนกลับไปในสมัยพญามังราย มันเป็นเพียงเส้นทางสัญจรเล็กๆ ไล่เลียบแนวแม่น้ำปิงระหว่างล้านนากับหริภุญชัย ซึ่งได้รับการปรับปรุงและขยายความกว้างเป็นทางเกวียนตั้งแต่เชิงสะพานนวรัฐถึงเมืองลำพูนเมื่อปี 2438 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การปรากฏของทิวแถวต้นยางนานั้นไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน บางแหล่งข้อมูลระบุว่าเริ่มปลูกตั้งแต่ปี 2425 ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 ขณะที่เอกสารชิ้นหนึ่งจากข้าหลวงประจำนครเชียงใหม่ถึงกระทรวงมหาดไทยระบุว่า สร้างถนนเสร็จเมื่อ 7 พฤษภาคม ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) โดยดำเนินการปลูกต้นยางบ้างแล้วและกำลังปลูกต่อไป

บางเอกสารก็ให้ข้อมูลว่า พระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ ข้าหลวงสิทธิขาดมณฑลพายัพระหว่างปี 2445-2458 เป็นผู้นำต้นยางนามาปลูกตามนโยบายพัฒนาคูคลองและถนนหนทาง โดยในปี 2454 ราชการแจกจ่ายต้นยางและต้นขี้เหล็กให้ราษฎรช่วยกันปลูกสองข้างทางในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้บางคนเรียกขานว่า ‘ถนนสายต้นยาง-ขี้เหล็ก’
อย่างไรก็ตาม ยางนาทั้งหมดเกือบสองพันต้นเมื่อแรกปลูกล้วนเจริญเติบโตด้วยดี เช่นเดียวกับความเจริญของถนนสายเล็กๆ ที่ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะเส้นทางเชื่อมการติดต่อค้าขายระหว่างสองจังหวัด แต่หลังจากปี 2500 เป็นต้นมาการดำเนินตามแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติส่งแรงกระเพื่อมความเปลี่ยนแปลงถึงต้นไม้ใหญ่กลุ่มนี้มากขึ้นทีละน้อย

เริ่มจากการตัดกิ่งก้านยางนาเกือบทุกต้นเพื่อเปิดทางให้ติดตั้งระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์ ตามมาด้วยการเปิดใช้ซูเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-เชียงใหม่ในปี 2512 แม้เส้นทางใหม่ที่เดินทางได้รวดเร็วกว่าจะลดทอนความสำคัญของถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนลง แต่ชุมชนเมืองที่ยังขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2530 โดยขาดการวางแผนระยะยาวก็ทำให้ภูมิทัศน์ของถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งยังคุกคามชีวิตและสุขภาพของต้นยางนาอีกนับไม่ถ้วน
สารพันสิ่งปลูกสร้าง อาทิ บ้านจัดสรร อาคารพาณิชย์ ร้านค้า ฯลฯ พากันผุดขึ้นสองฝั่งในระยะประชิดแนวถนน นำมาซึ่งการตัดโค่นยางนาจำนวนมากเพื่อหลีกทางโครงการขยายผิวถนนและก่อสร้างทางเดินเท้า ซึ่งเอื้อประโยชน์ด้านการจราจรและอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจพาณิชย์ ส่วนสมาชิกยางนาที่ยังรอดชีวิตก็ล้วนบอบช้ำจากการโดนตัดระบบรากบางส่วนและการเทยางมะตอยหรือคอนกรีตปิดทับหน้าดินรอบโคนต้น
เมื่อลงมือสำรวจและตรวจสุขภาพยางนาอย่างจริงจังก็พบความโหดร้ายที่ชวนให้หดหู่ ยางนาจำนวนมากที่ค่อยๆ ยืนต้นตายเป็นผลมาจากโดนเจาะลำต้นแล้วหยอดหรือฝังสารเคมีที่เป็นพิษเข้าไป หลายต้นโดนราดน้ำร้อนที่โคนต้นเป็นประจำนี่เป็นการกระทำของมนุษย์ผู้มีเจตนาปลิดชีพต้นไม้อายุเกินร้อยปีเพียงเพราะกังวลว่ากิ่งขนาดใหญ่ของยางนาจะร่วงหล่นหรือลำต้นจะโค่นล้มทับสิ่งปลูกสร้างหรือทรัพย์สินเสียหาย พวกเขาไม่สามารถตัดโค่นได้ทันทีเนื่องจากมีกฎหมายห้ามไว้ จึงต้องใช้วิธี ‘ลอบฆ่า’ ที่ไม่เอิกเกริกจนเกินไป เมื่อฆ่าได้แล้วค่อยไปแจ้งความรายงานว่าพบต้นไม้กลายเป็นซากไปเสียแล้ว จากนั้นจึงให้เทศบาลฯ มาดำเนินการตัดโค่น
ยังไม่นับการใช้พื้นที่สาธารณะริมถนนโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อต้นไม้ใหญ่ เช่น การก่อไฟเผาขยะบริเวณโคนต้นยางนา รวมถึงการตอกตะปูติดป้ายโฆษณา ยางนาบางต้นสะสมตะปูขึ้นสนิมไว้มากกว่า 40 ตัว จึงไม่แปลกที่งานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งสำรวจยางนาจำนวน 1,107 ต้น ตลอดเส้นทางสายเชียงใหม่-ลำพูน ในปี 2538 จะชี้ชัดว่า ร้อยละ 90.7 ของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับต้นไม้ใหญ่ยักษ์นี้เป็นการทำลายโดยฝีมือมนุษย์

สถานการณ์ย่ำแย่ลงจนน่าเป็นห่วง ทำให้ในที่สุดทางการจังหวัดเชียงใหม่ก็แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต้นยางนาบริเวณถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ในปี 2546 เพื่ออนุรักษ์ยางนาควบคู่ไปกับการดูแลความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้เส้นทาง
สองปีถัดมาแขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 ส่งมอบถนนและต้นยางนาให้อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเทศบาลนคร เชียงใหม่ เทศบาลตำบลหนองหอย เทศบาลตำบลหนองผึ้ง เทศบาลตำบลสารภีและเทศบาลตำบลยางเนิ้ง ร่วมกันดูแล ขณะที่ภาคประชาชนก็จัดพิธีบวชต้นยางนาเพื่อสักการะและเป็นสัญลักษณ์ว่าสิ่งล้ำค่าที่ไม่ควรถูกคุกคาม

นับจากนั้นกิจกรรมดูแลต้นยางนาระหว่างเทศบาลทั้งห้ากับภาคประชาชนก็ค่อยๆ ขับเคลื่อนไปอย่างสอดคล้อง ช่วงปี 2556-2558 เครือข่ายเชียงใหม่เขียว สวย หอม และองค์กรภาคีร่วมกันนำร่องสำรวจและตรวจสุขภาพต้นยางนาในพื้นที่เทศบาลตำบลยางเนิ้งภายใต้โครงการ ‘เพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่และการจัดการพื้นที่สีเขียวเมืองเก่าเชียงใหม่ตามแนวคิดนิเวศประวัติศาสตร์อย่างมีส่วนร่วม’ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจัยคุกคามในภาพรวมยังไม่เบาบางลง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมถนนสายยางนาเชียงใหม่-ลำพูน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 ระยะเวลาใชับังคับ 5 ปี โดยห้ามการกระทำหรือกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อระบบรากหรือลำต้นของยางนาและขี้เหล็ก

มาตรการดังกล่าวอาจช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้าง แต่ภารกิจฟื้นฟูเชิงรุกก็ยังต้องเดินหน้าต่อ หลังเกิดเหตุพายุฤดูร้อนพัดโค่นต้นยางนากว่าสิบต้นล้มทับบ้านเรือนและทรัพย์สินเมื่อปี 2559 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่จึงทำงานร่วมกับโครงการหมอต้นไม้อาสา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และกลุ่มอาสาสมัคร ดำเนินการสำรวจและประเมินสุขภาพเบื้องต้นของยางนาริมถนนทั้งสาย
สิ่งที่พบคือยางนาทั้งหมดเหลือ 949 ต้น แบ่งเป็นกลุ่มสุขภาพค่อนข้างสมบูรณ์เพียง 159 ต้น กลุ่มป่วยปานกลาง คือมีกิ่งแห้ง กิ่งผุ โพรง หรือบาดแผลอีก 433 ต้น และกลุ่มที่ป่วยรุนแรงเพราะรอบโคนต้นโดนปิดทับหรือลำต้นมีกาฝากโอบรัด 357 ต้น ยางนาในสภาพวิกฤตนี้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3
เครือข่ายเชียงใหม่เขียว สวย หอม และองค์กรภาคีจึงดำเนินโครงการ 'การฟื้นฟูระบบรากและสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ต้นยางนา ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนให้อยู่คู่ชุมชนอย่างปลอดภัย สวยงาม และยั่งยืน' ระยะเวลา 2 ปี (ปี 2561-2563) และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม โครงการนี้มุ่งเน้นการกำหนดวิธีดูแลและตัดแต่งต้นยางนาอย่างเหมาะสม รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ปลูกฝังความเข้าใจของการอนุรักษ์อย่างสร้างสรรค์ พร้อมทั้งผลิตสายตรวจยางนากับหมอต้นไม้ และฟื้นฟูระบบรากยางนาตามหลักวิชาการปีละ 120 ต้น โดยไม่ละเลยที่จะส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนด้วยการดึงเครือข่ายแนวร่วม อาสาสมัคร และชาวชุมชนจากทั้งห้าเทศบาล เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา
ตลอดระยะเวลาเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา ภารกิจดูแลต้นยางนาบนถนนคู่เมืองเชียงใหม่จึงได้ปรากฏความคืบหน้าอย่างน่ายินดี โดยภาคประชาชนที่เข้มแข็งเป็นกลไกผลักดันที่สำคัญทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนด้วยดี กระทั่งสามารถขยับเดินอีกก้าวใหญ่ด้วยการก่อตั้ง ‘สมาคมยางนา-ขี้เหล็กสยาม’ ขึ้นในปี 2562 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ประสานความร่วมมือ และจัดการกองทุนยางนา-ขี้เหล็ก ซึ่งใช้คุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของสมาชิกที่ได้รับความเสียหายจากต้นยางนาและขี้เหล็ก

...เพราะต้นไม้ไม่สามารถพูดคุยกับมนุษย์ได้ นี่จึงเป็นเรื่องราวอันมากมายที่อยากเล่าให้คุณฟัง