

We shouldn’t be concerned about trees purely for material reasons, we should care about them because of the little puzzles and wonders they present us with.
Peter Wohlleben



คนอีสานรุ่นปัจจุบันอาจไม่เคยได้ยินคำว่า ‘ดอนปู่ตา’ แต่หากย้อนกลับไปในอดีต การก่อร่างสร้างชุมชนแทบทุกแห่งในแถบภาคอีสานต้องมีผืนป่าดอนปู่ตาเคียงคู่เสมอ ป่าผืนนี้มีไว้ให้ผีบรรพบุรุษผู้ล่วงลับได้อยู่อาศัยและคอยดูแลคุ้มครองลูกหลานในชุมชนให้ปลอดภัยตามความเชื่อแต่โบราณของชาวลาว ประเทศที่มีพรมแดนติดกับอีสานบ้านเรา จึงทำให้ชนสองชาติมีบรรพบุรุษร่วมกันไม่มากก็น้อย
ราวสองร้อยปีก่อน ชนเผ่ากะเลิงจากแขวงคำม่วน ประเทศลาวอพยพข้ามแม่น้ำ โขงมาตั้งรกรากที่บ้านบัว อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร และจนถึงปัจจุบันพวกเขาก็ยังคงสืบสานขนบความเชื่อดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด มีการจัดสรรพื้นที่ 23 ไร่ ใกล้ๆ หมู่บ้านเป็นดอนปู่ตานับแต่วันเริ่มตั้งชุมชน และไม้ใหญ่สะดุดตาที่สุดที่นี่ก็คือเชียง หรือเซียง (สำเนียงท้องถิ่น) ต้นนี้เอง ไม่เพียงมีพูพอนสวยอลังการไม่แพ้ใคร แต่ยังเป็นต้นเชียงเพียงหนึ่งเดียวที่เติบโตอยู่ในดอนปู่ตา ป่าบรรพบุรุษแห่งบ้านบัว
แม้ไม่ใช่เขตอนุรักษ์หรือป่าสงวนตามกฎหมาย แต่ด้วยสถานภาพความเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านบัวทุกคนให้ความเคารพยำเกรง บวกกับคำกล่าวของผู้เฒ่าผู้แก่ที่บอกต่อๆ กันว่า ‘ใครเข้าไปตัดต้นไม้จะเจ็บป่วย’ จึงไม่มีผู้ใดกล้ารุกล้ำล่วงเกินหรือทำลายป่า ส่งผลให้ป่าคงความอุดมสมบูรณ์ กลายเป็นสวรรค์ของต้นไม้จำนวนมากที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและมักถูกลอบตัดโค่น อาทิ ยางนา ประดู่ ตะเคียน ฯลฯ
พ่อเล็ก กุดวงค์แก้ว ปราชญ์อาวุโสแห่งบ้านบัว เล่าว่า “ไม่มีใครตัดต้นไม้ อย่างมากก็เข้าไปเก็บสมุนไพรมาทำยารักษาโรคเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ให้เก็บแค่พอใช้นะ อย่าเกินพอดี และไม่ให้เอามาขาย”
The Tree of Ancestors

ต้นเชียงโดดเดี่ยวต้นนี้มีอายุเกินร้อยปี ไม่มีใครแน่ใจว่าเกินไปเท่าไรแน่ แต่เรือนยอดและผิวพรรณลำต้นยังงามสมบูรณ์ ส่วนสูงราวสี่สิบเมตร ทำให้ยอดไม้ห่างไกลจากสิ่งรบกวนระดับพื้นดิน ลักษณะทางกายภาพนี้ส่งผลให้ที่นี่กลายเป็นทำเลทองซึ่งแมลงสะสมน้ำหวานหมายปองและพากันเข้าจับจองสร้างรวงรัง
ความชุกชุมของรังผึ้งหลวงบนต้นเชียงที่นับได้ 30-50 รัง ต่อปี ถือว่าพบได้ยากในปัจจุบัน และจำนวนรังผึ้งยังบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มชื้นของระบบนิเวศผืนป่า เพราะการอยู่รวมเป็นกลุ่มใหญ่ของผึ้งหลวงสะท้อนว่า บริเวณนั้นมีน้ำหวานของดอกไม้มากเพียงพอ อากาศเย็นสบาย ไม่ร้อนแล้ง และปราศจากสารเคมีอันตราย

ในอดีตเชียงต้นเดียวกันนี้เคยมีรังผึ้งหลวงมากกว่าห้าสิบรังต่อปี ชนิดที่แหงนหน้าขึ้นไปไม่ต้องกวาดสายตามองหาก็สามารถเห็นรังผึ้งน้อยใหญ่กระจายอยู่ทั่ว รังผึ้งหลวงเพียงรังเดียวอาจได้น้ำผึ้งป่าคุณภาพดีราว 10-20 ขวด ทำให้มีผู้สนใจขอประมูลเก็บรังผึ้งในราคาสูงถึง 6,000 บาท ชาวบ้านบัวอนุญาตเปิดประมูลโดยส่งเงินรายได้นี้เข้าเป็นกองทุนกลางของชุมชนและใช้จ่ายเพื่อสาธารณประโยชน์เท่านั้น
พรานผึ้งสมัยก่อนปีนเก็บรังผึ้งโดยตอก ‘ทอย’ หรือลิ่มไม้ไผ่ติดกับลำต้นเพื่อใช้เหยียบปีน แต่เมื่อประมาณสองทศวรรษที่ผ่านมา ทอยแบบโบราณถูกแทนที่ด้วยตะปูเหล็กแท่งใหญ่ สนิมจากทอยตะปูเป็นเหตุให้เนื้อไม้ผุและทำให้เชียงในพื้นที่อื่นล้มตายมาแล้ว เมื่อเห็นตัวอย่าง ชุมชนบ้านบัวเกรงว่าต้นเชียงในดอนปู่ตาของพวกเขาอาจประสบเหตุแบบเดียวกัน ไม่คุ้มกับเงินที่ได้มา จึงมีมติยกเลิกการประมูลเก็บรังผึ้งไปในที่สุด


แม้การให้ความเคารพและการดูแลผืนป่าโดยมีรากฐานจากความเกรงกลัวต่ออำนาจลี้ลับอาจไม่สมเหตุสมผลในสายตาของคนรุ่นใหม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือกุศโลบายที่ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
เช่นเดียวกัน การที่ชาวบ้านกลับลงมติสละรายได้ปีละ 6,000 บาทที่ได้มาโดยไม่ต้องทำอะไรเลยเพื่อเลือกรักษาต้นเชียง ก็นับเป็นการตัดสินใจที่อาจไม่สมเหตุสมผลในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่งในสามัญสำนึกของชาวบ้านที่บรรพบุรุษได้เพาะบ่มความรักและเคารพธรรมชาติไว้

ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบัน ต้นเชียงโดดเดี่ยวแห่งดอนปู่ตา บ้านบัว จึงยังยืนต้นเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของผึ้งหลวง นักผสมเกสรตัวจิ๋วผู้ช่วยให้พืชพันธุ์ในป่าติดผลและงอกต้นใหม่ และทำหน้าที่ประคับประคองสมดุลอันละเอียดอ่อนของระบบนิเวศให้คงอยู่ต่อไป
อันน่าจะนับได้ว่าเป็นความคุ้มค่าที่แท้จริง