
เกือบทั้งหมดของต้นโพธิ์ที่มีความสำคัญและอยู่ในการจดจำของคนไทยมักเกี่ยวข้องกับศาสนา นับตั้งแต่พระศรีมหาโพธิ์อันเป็นสถานที่แห่งการตรัสรู้และบรรลุพระสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า ไปจนถึงโพธิ์เศียรพระแห่งวัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โบสถ์ปรกโพธิ์ในวัดบางกุ้ง จังหวัดสมุทรสงคราม และต้นโพธิ์น้อยใหญ่ในวัดอีกหลายแห่ง
คงมีโพธิ์เก่าแก่กลางลานหน้าคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้นเดียวเท่านั้นที่ผูกโยงกับเรื่องทางโลกอย่างประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาเกือบครึ่งศตวรรษ

ไม่มีใครทราบความเป็นมาที่แน่ชัด แต่เป็นไปได้ว่าโพธิ์ยืนต้นอยู่ตรงนี้ตั้งแต่ก่อนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะซื้อที่ดินจากกระทรวงกลาโหม จากหลักฐานภาพถ่ายเก่าก็ปรากฏต้นโพธิ์ยืนโดดเด่นก่อนการสร้างอาคารของคณะศิลปศาสตร์ด้วยซ้ำ จึงค่อนข้างแน่นอนว่ามีอายุมากกว่ามหาวิทยาลัยริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ ซึ่งสถาปนาขึ้นเมื่อปี 2477 บางแหล่งประเมินว่าน่าจะเกิดในสมัยที่บริเวณดังกล่าวยังเป็นเขตวังหน้า แต่ก็มิอาจพิสูจน์ได้


ในเช้าวันที่ 9 ตุลาคม 2516 เป็นครั้งแรกที่ลานโพธิ์แห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่ชุมนุมทางการเมือง เมื่อกลุ่มนิสิตนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวและอภิปรายโจมตีรัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของจอมพล ถนอม กิตติขจร ออกจากอำนาจ และให้ปล่อยตัวกลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญจำนวน 13 คน ที่โดนตำรวจจับกุมไปก่อนหน้านั้น ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมเพิ่มจากหลักพันเป็นเรือนหมื่นจนแน่นเต็มพื้นที่ ก่อนที่กลุ่มคนหลายแสนจะเคลื่อนขบวนในช่วงเที่ยงของวันที่ 13 ตุลาคม ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า และเกิดเหตุการณ์ปะทะซึ่งลุกลามบานปลายในวันถัดมา
นับจากนั้นเป็นเวลาสามปีเกือบจะพอดี ช่วงเที่ยงของวันที่ 4 ตุลาคม 2519 กลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ใช้ลานโพธิ์เป็นสถานที่แสดงละครล้อการเมือง โดยหนังสือพิมพ์ดาวสยาม กรอบบ่ายของวันรุ่งขึ้นตีพิมพ์ภาพการแสดงที่ผ่านการตกแต่งแล้ว เพื่อสร้างเรื่องบิดเบือนและโจมตีขบวนการนักศึกษาว่าจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สามารถปลุกระดมมวลชนฝ่ายขวาให้ลุกฮือเข้าล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามมาด้วยการล้อมปราบสังหารนักศึกษาและประชาชนอย่างโหดเหี้ยมในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม ...หลายเหตุการณ์วิปโยคในครั้งนั้นเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาโพธิ์ใหญ่ต้นนี้

The Seeds of Democracy
ลานโพธิ์กลับมามีบทบาทอีกครั้งในช่วงปี 2534-2535 เริ่มด้วยการชุมนุมใหญ่เพื่อคัดค้านรัฐธรรมนูญปี 2534 ซึ่งเปิดช่องให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่เข้ายึดอำนาจเมื่อต้นปีกลับมาสืบทอดอำนาจได้ และในเดือนมีนาคม 2535 เมื่อพลเอก สุจินดา คราประยูร ตอบรับคำเชิญนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี การชุมนุมคัดค้านจึงเริ่มขึ้นทันทีที่ลานโพธิ์ในช่วงเย็นวันที่ 7 เมษายน 2535 กระแสความไม่พอใจลุกลามรวดเร็วนำมาซึ่งการรวมตัวชุมนุมในหลายพื้นที่ ก่อนที่รัฐบาลจะส่งกำลังทหารและตำรวจเข้าสลายการชุมนุม กลายเป็นเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ที่มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายจำนวนมาก ประวัติศาสตร์การเมืองสามครั้งใหญ่ๆ ของประเทศไทยล้วนมีจุดเริ่มต้นจากกิจกรรม ณ ลานโพธิ์แห่งธรรมศาสตร์ จึงไม่แปลกที่โพธิ์ต้นนี้จะกลายเป็นสัญลักษณ์ร่วมเส้นทางประชาธิปไตยของชาวธรรมศาสตร์และประชาชนไทยจวบจนปัจจุบัน

ขณะที่ถนนสายประชาธิปไตยของไทยยังคงขรุขระอยู่ภายใต้วงจรแห่งการเลือกตั้งและรัฐประหาร ชีวิตต้นโพธิ์ซึ่งสูงเทียบเท่าอาคาร 6-7 ชั้น ใช่จะราบรื่น เพราะต้องผ่านความบอบช้ำไม่แพ้ประวัติศาสตร์การเมืองไทย เริ่มจากการสำรวจพบโพรงกลวงภายในลำต้น ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องฉาบปูนปิดเพื่อป้องกันสัตว์ต่างๆ เข้าไปซ่อนอาศัย กระทั่งช่วงปี 2556-2557 ก็พบรอยแตกบนปูนฉาบซึ่งอาจเกิดจากการไหวเอนตามแรงลมหรือการเจริญเติบโตของต้นโพธิ์เอง ทำให้มีน้ำซึมเข้าภายในโพรงจนเนื้อไม้ผุเสียหาย

อาการบาดเจ็บดังกล่าวได้รับการเยียวยาตามหลักรุกขกรรมเป็นครั้งแรกด้วยการรื้อปูนเดิมทิ้ง ปาดเนื้อเยื่อตายออก แล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ ตามด้วยน้ำยารักษาเนื้อไม้ ใช้ตะแกรงเหล็กเป็นโครงแล้วฉาบปูนปิดแผล พร้อมกับตกแต่งกิ่งเรือนยอดเพื่อลดภาระน้ำหนักที่ลำต้นต้องแบกรับและป้องกันการโค่นล้มระหว่างรับการรักษาพยาบาล
หลังจากวันนั้นสุขภาพของต้นโพธิ์ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ แม้เรือนยอดในวันนี้จะค่อนข้างโปร่งโล่ง พุ่มใบไม่เต็มแน่นเหมือนในอดีต เนื่องจากโดนตัดแต่งอยู่เป็นระยะเพื่อไม่ให้กิ่งก้านโตใหญ่หรือมีน้ำหนักมากเกินไปอันจะเพิ่มความเสี่ยงหักร่วงและทิ้งแผลฉีกบนเนื้อไม้ให้ต้องเยียวยา โดยรวมแล้วสุขภาพของต้นโพธิ์นับว่าอยู่ในเกณฑ์สมบูรณ์ดี


...เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ประชาชนคงต้องช่วยกันบำรุงรักษาและเยียวยาบาดแผลอย่างแข็งขันและเข้าอกเข้าใจ เพื่อให้ผืนดินนี้เต็มตระหง่านไปด้วยต้นไม้แห่งประชาธิปไตยไปช้านาน