

ไม่ใช่เพียงต้นไม้ยักษ์สูง 40 เมตรเท่านั้น
แต่ในนี้ได้บรรจุความทรงจำของชาวบ้านรุ่นบุกเบิก
ซึ่งก็คืออดีตจีนคอมมิวนิสต์มลายาที่หลบหนีมานั่นเอง


กลางพงไพรดิบชื้นฝั่งผืนป่าฮาลาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดยะลา คือบ้านอันยิ่งใหญ่แห่งระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ และด้วยความที่อำเภอเบตงมีพื้นที่ติดกับชายแดนมาเลเซีย เมื่อ 50 ปีก่อนพื้นที่ดงดิบแถบนี้จึงเป็นแหล่งพักพิงของกลุ่มคนหนุ่มสาวเลือดนักสู้ชาวจีน-มาเลย์กลุ่มหนึ่งที่หลบลี้ภัยทางการเมืองมาเข้าป่า พร้อมแบกความฝันที่จะกอบกู้เอกราชประเทศของตนเอง

ปัจจุบันการเดินทางเข้าสู่ป่าแถบนี้ทำได้โดยผ่านทางหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ใช้เวลาเดินเท้าประมาณสามสิบนาทีสำหรับระยะทางราวครึ่งกิโลเมตร ระหว่างนั้นหากได้คุยกับชาวบ้านท้องถิ่นเกี่ยวกับต้นงุ้นยักษ์หรือสมพงเบตงต้นนี้ จะพบว่าพวกเขาเชื่อมโยงต้นไม้ยักษ์เข้ากับเรื่องของการต่อสู้ทางการเมืองอันยาวนาน เพราะชาวบ้านรุ่นบุกเบิกในหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ปัจจุบันแท้ที่จริงก็คือสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หรือที่รู้จักในนาม ‘จีน คอมมิวนิสต์มลายา’ (จคม.) นั่นเอง
The Living Rendezvous

หลังโดนรัฐบาลมาเลเซียภายใต้การปกครองของอังกฤษปราบปรามอย่างหนัก พรรคคอมมิวนิสต์มลายาได้ถอยร่นหลบหนีเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการและเคลื่อนไหวอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสะเดา จังหวัด สงขลา ทั้งนี้ เนื่องจากฐานที่มั่นค่ายใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ในป่าฮาลา- บาลา บริเวณหมู่บ้านวังไทร และในสมัยนั้นยังไม่มีถนนเป็นกิจจะลักษณะ การจะไปมาหาสู่ระหว่างค่ายใหญ่และอำเภอเบตงจึงมีเส้นทางหลักเส้นทางเดียวคือผ่านต้นงุ้นยักษ์ ซึ่งจะมีหน่วยย่อยของ จคม.กระจายตัวอยู่เป็นระยะๆ ตลอดทางในรัศมีที่เชื่อมโยงถึงกันเป็นเครือข่าย ทุกครั้งที่เหล่า ‘สหาย’ ต้องเดินเท้าไปยังหมู่บ้านรอบๆ ป่าเพื่อประชาสัมพันธ์แนวคิดและอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ ต้นสมพงยักษ์ต้นนี้จึงเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับการนัดหมายหรือบอกทาง เมื่อได้ยินชื่อว่า ‘ต้นไม้ใหญ่’ ไม่มีสหายที่แท้จริงคนใดจะนึกถึงต้นไม้อื่น นอกจากสมพงยักษ์ต้นนี้

ความไม่เข้าใจและความน้อยเนื้อต่ำใจของผู้ยึดอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่ถูกปราบปรามอย่างหนัก จนต้องตอบโต้ด้วยความรุนแรงตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีดำเนินไปภายใต้การรู้เห็นของ ‘สหาย’ สำคัญอย่างต้นสมพงยักษ์ จวบจนกระทั่งรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำเนินนโยบาย ‘ใต้ร่มเย็น’ ซึ่งใช้กลยุทธ์การเมืองนำทหาร ยินยอมให้ผู้ก่อการคอมมิวนิสต์ออกจากป่ามามอบตัวโดยไม่เอาผิด จึงนำไปสู่การเจรจาลงนามความตกลงร่วมกันที่ทำให้ จคม.ประกาศสลายกองกำลังในปี 2532 โดยมีสหายส่วนหนึ่งเดินทางกลับมาเลเซีย และสหายอีกส่วนตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ในสถานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
อดีตผู้นำสหายเลือกปักหลักชุมชนใหม่อยู่ใกล้ต้นสมพงยักษ์ที่พวกเขาผูกพันโดยให้เหตุผลทางด้านภูมิศาสตร์เอาไว้ว่า เป็นตำแหน่งกึ่งกลางที่ไม่ไกลจากตัวอำเภอเบตงเกินไปและไม่ไกลจากป่าเกินไปเช่นกัน หากรัฐบาลไทยไม่จริงใจก็สามารถหวนกลับเข้าป่าได้โดยง่าย อีกทั้งเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์

ปัจจุบันหลายสิ่งรอบตัวเปลี่ยนแปลงไปแล้ว สมาชิก จคม.ไม่เคยต้องหวนกลับเข้าป่า หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ โดยบอกเล่าเรื่องราวของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์ซึ่งจัดแสดงข้าวของแห่งอดีต ตลอดจนจำลองสภาพความเป็นอยู่อันยากลำบากในป่าลึก

แต่ไม่ว่าสิ่งต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สำหรับอดีตสหายที่ยังมีลมหายใจ สมพงยักษ์ก็จะยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และเป็นหมุดหมายการพบปะที่ไม่เคยเลือนไปจากความทรงจำ