

วันที่ 8 สิงหาคม 2561 กลุ่มต้นตะแบกใหญ่ในตำบลสะเนียน อำเภอเมืองน่าน
ได้รับการคัดเลือกให้เป็นรุกขมรดกของประเทศ ในฐานะต้นไม้ใหญ่
ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน จำนวน 3 ต้น จาก 65 ต้นทั่วประเทศ


คนส่วนใหญ่มักคุ้นตากับต้นตะแบกนาเป็นอย่างดี เพราะเวลาที่เดินทางโดยรถยนต์เรามักจะเห็นตะแบกนายืนเรียงแถวต้อนรับอยู่บริเวณเกาะกลางหรือตลอดสองข้างถนนทั่วประเทศไทย ครั้นถึงช่วงเวลาที่ทุกต้นแข่งกันออกดอกสะพรั่งก็ช่วยระบายสีสันให้เส้นทางสดใส

แต่ถ้าเป็นผืนป่าเบญจพรรณหรือป่าในเขตภูมิประเทศแบบที่ราบ ตะแบกที่ขึ้นเองตามธรรมชาติคือตะแบกใหญ่ (Lagerstroemia calyculata) ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับตะแบกนา และมักยืนต้นอยู่กันเป็นครอบครัว ดังเช่น ดงต้นตะแบกใหญ่ที่มีลำต้นสีเทาอ่อนออกขาวเด่นและอวดพูพอนลักษณะคล้ายลอนคลื่นสวยงามริมถนนลาดยางสายเล็กๆ ซึ่งมุ่งตรงเข้าหมู่บ้านบ้านใหม่ในฝัน ตำบลสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน อันที่จริงการระบุตำแหน่งด้วยคำว่า ‘ขึ้นอยู่ริมถนน’ นับว่าไม่ถูกต้องนัก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือถนนตัดผ่านดงต้นตะแบกใหญ่มากกว่า

The Gentle Doctor
จากการสอบถามชาวบ้านผู้นำท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ‘ถิ่น’ หรือ ‘ลวะ’ ที่อพยพหนีภัยคอมมิวนิสต์มาจากอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน และเข้ามาปักหลักตั้งบ้านเรือนในละแวกนี้ตั้งแต่ปี 2524 ที่ตั้งของชุมชนและจุดชุมนุมของต้นตะแบกใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำยาวและป่าน้ำสวด แต่ก็เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เคยผ่านการสัมปทานป่าไม้มาแล้ว ดังนั้นต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่หลายต้นจึงหายไปตั้งแต่ครั้งนั้น บางต้นหายไปตอนปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อการเกษตร บางต้นวอดวายไปเพราะไฟป่า ขณะเดียวกันก็มีไม้เศรษฐกิจอย่างประดู่ มะค่า และไม้ผลยืนต้น เช่น เงาะ ลำไย ที่ปลูกเสริมเข้ามาใหม่โดยสมาชิกในชุมชน
กาลเวลาเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ ตะแบกใหญ่บางต้นล้มตายไปตามธรรมชาติ แต่ที่ยังยืนเกาะกลุ่มอยู่ในดงตะแบกใหญ่ถึงวันนี้มีเหลือประมาณยี่สิบกว่าต้น ทีมสำรวจของผู้ใหญ่บ้านระบุว่าต้นที่ใหญ่มากนั้นสูงเกือบสามสิบเมตร และมีลำต้นขนาดห้าคนโอบ ซึ่งมีจำนวนเหลืออยู่เพียงหยิบมือ ที่เหลือก็เป็นต้นเล็กลดหลั่นขนาดลงมา


แม้ตะแบกเป็นไม้เนื้อแข็งสูสีกับไม้ยาง นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย แต่เหตุที่ดงตะแบกต้นใหญ่ที่นี่ไม่อันตรธานไปในยุคสัมปทานป่าไม้เฟื่องฟูก็เพราะไม้สายพันธุ์นี้ยิ่งอายุเยอะยิ่งมีโอกาสเกิดโพรงกลวงภายในลำต้นที่ระดับความสูง 3-5 เมตรจากพื้นดิน ทำให้ไม่ค่อยมีใครอยากเสียเวลาหรือลงแรงเลื่อยตะแบกแก่ ลักษณะเนื้อไม้ของตะแบกเช่นนี้ไม่เพียง ‘ให้คุณ’ แก่ตน เพราะทำให้กอดคอรอดฟันเลื่อยมาด้วยกันทั้งดง แต่ยังให้คุณหลายประการแก่มนุษย์มาแต่โบราณอีกด้วย

ตะแบกป่าเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของไม้ที่เมื่ออายุมากจะมี ‘ขอนดอก’ หรือเนื้อไม้ส่วนที่มีเชื้อรา สีน้ำตาลเข้มประขาว ซึ่งภายในผุเป็นโพรงเล็กๆ แต่กลับมีกลิ่นหอม รสจืด และเปี่ยมด้วยสรรพคุณทางยาล้ำค่า ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติมีการใช้ขอนดอกในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตปรากฏรวม 2 ตำรับ คือตำรับ ‘ยาหอมเทพจิตร’ ซึ่งมีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น และตำรับ ‘ยาหอมนวโกฐ’ ซึ่งช่วยแก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในอก ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้หรืออาการหลังจากฟื้นไข้แต่ยังไม่หายดี
กระทั่ง ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ที่แม้จะไม่ได้อยู่ในประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาฯ ก็ยังปรากฏการใช้ขอนดอกร่วมกับสมุนไพรอื่นอีก 15 ชนิดในปริมาณเท่าๆ กันเพื่อแก้ไข้ โดยการบดละเอียด ทำเป็นแท่ง ใช้น้ำดอกไม้เป็นกระสายยา ซึ่งเมื่อจะใช้ให้ละลายน้ำซาวข้าวหรือน้ำดอกไม้ ใส่พิมเสน จากนั้นจึงชโลมตัว นัยว่าลดไข้ชะงัดนัก
ด้วยการอยู่อาศัยใกล้ชิดกัน คนและต้นไม้จึงเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พึ่งพาอาศัยกัน จนกลายเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อมาอย่างน่าทึ่ง จากการทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดขอนดอกด้วยเอทานอล 50 เปอร์เซ็นต์ โดยให้หนูกินในขนาด 32 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งคิดเป็น 32,000 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน ผลตรวจไม่พบอาการเป็นพิษแต่อย่างใด
การพึ่งพาหมอร่างสูงใหญ่อย่างตะแบกต้นนี้เพื่อรักษาโรคภัย อาจไม่ได้เห็นผลหรือหายขาดรวดเร็วอย่างเช่นยาแผนปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกันก็อ่อนโยนและยากนักที่จะเป็นอันตรายต่อใคร
เพราะโลกของต้นไม้คือความเนิบช้า มั่นคง และยั่งยืน
