

There is still a window of time.
Nature can win if we give her a chance.
Jane Goodall


ด้วยที่อยู่เร้นลึกเข้าไปภายในป่านอกเขตพื้นที่บริการ นักท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ กระบากขาวแห่งบ้านป่าไร่จึงเป็น ‘unseen destination’ ของแท้ ผู้อยากดั้นด้นไปชมต้องขออนุญาตอุทยานแห่งชาติฯ พร้อมทั้งขอความอนุเคราะห์เรื่องเจ้าหน้าที่นำทาง เพราะแม้เส้นทางช่วงเจ็ดกิโลเมตรแรกจะโดยสารรถของอุทยานฯ ไปได้ แต่เส้นทางช่วงหลังที่ยาวร่วมหกกิโลเมตรทุกคนต้องพึ่งลำแข้งตัวเอง ทั้งไต่ระดับขึ้นเขาลาดชัน เลียบสันเขา ลัดเลาะลงหุบเขา ผ่านไปสามชั่วโมงเราจึงมายืนหอบอยู่เบื้องหน้ากระบากขาวผู้ยิ่งใหญ่ ทว่ายามได้พบสบตากัน ความสวยสง่าของต้นไม้ยักษ์ก็คล้ายจะติดอยู่ในความทรงจำตลอดไป

ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นฤดูกาลผลัดใบ ป่าเบญจพรรณและป่าไผ่ตลอดเส้นทางเดินเท้าอยู่ในสภาพร้อนแล้ง ต้นไม้ส่วนใหญ่พากันทิ้งใบไม้แห้งสีน้ำตาลลงเกลื่อนพื้นดิน เปิดเปลือยเรือนยอดให้แลดูโปร่งโล่งกว่าช่วงเวลาอื่นของปี กระทั่งเดินพ้นแนวป่าไผ่ช่วงสุดท้าย และก้าวเข้าสู่เขตป่าดิบแล้งที่ยังคงสีเขียวไว้ครบถ้วนตั้งแต่ระดับพื้นดินเรื่อยขึ้นไปจนถึงแนวยอดไม้ จึงเรียกว่าเราได้เข้าสู่ฐานที่มั่นของกระบากขาวหรือขมิ้นดำ หรือที่ชาวบ้านทองผาภูมิเรียกกันว่า ‘ต้นไม้ยักษ์’ นั่นเอง

The Colossal Savior
กระบากขาวต้นนี้มีลักษณะสมบูรณ์ทุกสัดส่วน ลำต้นตรงสวยงาม วัดขนาดเส้นรอบวงลำต้นได้ 13.4 เมตร ถูกค้นพบโดยชาวบ้านในพื้นที่ ความใหญ่โตดังกล่าวถูกบอกเล่าต่อๆ กันมา เมื่อทราบถึงหน่วยงานราชการจึงมีการจัดทีมเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจ ตามมาด้วยการประกาศเขตครอบคลุมผืนป่าโดยรอบเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิในปี 2534 ความจริงกระบากเป็นไม้เนื้อแข็งทนทาน นิยมใช้สร้างที่อยู่อาศัยและทำเครื่องเรือน ปัจจุบันจึงมีเหลือรอดอยู่ในป่าธรรมชาติไม่มาก แต่ชาวบ้านเชื่อกันว่าต้นกระบากใหญ่ต้นนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทวดาดูแลคุ้มครองอยู่ อีกทั้งยังอยู่ในระยะไกลหูไกลตาผู้คน ไม่มีใครคิดตัดโค่นทำให้เติบโตกลายเป็นความภาคภูมิแห่งแนวป่าฝั่งตะวันตกของประเทศไทย
บริเวณโคนต้นกระบากขาวปรากฏสัดส่วนคล้ายแท่งทรงกระบอกที่ค่อยๆ สอบเล็กลงและแนบไปกับลำต้น โดยรอบอวัยวะกึ่งรากกึ่งลำต้นนี้แท้จริงเป็นรากพิเศษหรือ ‘พูพอน’ อีกรูปแบบหนึ่งที่ต้นไม้สูงใหญ่ตระกูลกระบากและสายพันธุ์ใกล้เคียงมีวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดภายใต้โจทย์ชีวิตในป่าฝนเขตร้อน รูปทรงคล้ายๆ ครีบสามเหลี่ยมที่เต็มไปด้วยซอกหลืบนั้นช่วยดักและกักธาตุอาหารบริเวณหน้าดินได้เหมือนพูพอนของต้นเลียงผึ้ง และแม้เนื้อไม้ตรงส่วนนี้จะไม่แข็งมาก แต่พูพอนรูปทรงนี้ก็เป็นโครงสร้างสำคัญที่เพิ่มความแข็งแรงให้ส่วนฐานล่าง ช่วยให้ต้นไม้ใหญ่อย่างกระบากขาวซึ่งมักเติบโตบริเวณหุบเขาที่มีความชื้นสูง สามารถยึดเกาะหน้าดินที่อาจจะอ่อนนุ่มและอุ้มน้ำในช่วงฤดูฝนและทะยานเรือนยอดสู่ความสูงมากกว่าห้าสิบเมตรได้อย่างมั่นคง

ยังไม่มีการตรวจสอบอายุกระบากขาวต้นนี้อย่างเป็นทางการ ได้แต่ประมาณกันว่าน่าจะหลายร้อยปีแล้ว และเมื่อไม้ใหญ่อย่างกระบากขาวได้รับโอกาสให้เติบใหญ่ สิ่งที่มันตอบแทนผืนดินนั้นยังประโยชน์ยืนยงให้แก่ทุกสรรพสิ่งบนโลกรวมถึงมนุษย์ ในปี 2010 คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโซล (University of Seoul) ร่วมกับนักวิจัยชาวฟิลิปปินส์ทำการศึกษาปริมาณชีวมวล (biomass) ที่สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติสะสมไว้ในตัวมันเอง พบว่ากระบากเป็นสายพันธุ์ไม้ที่กักเก็บชีวมวลไว้มากเป็นอันดับต้นๆ ของป่าเบญจพรรณ กระบวนการสะสมชีวมวลเกิดจากความสามารถของต้นไม้ในการดึงพลังงานแสงอาทิตย์มาแปรรูปผ่านการสังเคราะห์แสง และในกระบวนการนี้เอง มันได้ดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศไม่ให้ลอยไปสู่ชั้นโอโซนและกลายเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์เรือนกระจก เป็นที่มาของความจริงเรียบง่ายที่ว่าต้นไม้คืออาวุธที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

ปี 2557 มีรายงานว่าพบช้างป่าโขลงใหญ่ราว 70-80 ตัว มาพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแถบนี้ เช่นเดียวกับ เก้ง กวาง และสัตว์ป่าอีกหลายชนิด ทั้งหมดคือระบบความสมดุลแห่งชีวิตต่างสายพันธุ์ที่อยู่ร่วมและดำเนินไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน นับเป็นบทเรียนสำคัญที่ธรรมชาตินับวันรอให้มนุษย์ได้เรียนรู้