
บำรุงดูแลรักษาต้นสักใหญ่
ให้มีอายุยืนนานที่สุดเท่าที่จะทำได้


คือพระราชเสาวนีย์อันอ่อนโยนในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้งเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์เพื่อทอดพระเนตรต้นสักใหญ่ต้นนี้ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2541 นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้สักใหญ่แห่งอุตรดิตถ์จึงได้รับการทำนุบำรุงให้แข็งแรงงดงามอย่างยิ่ง แต่คุณูปการของมันไม่ใช่เพียงแค่ธำรงความสมบูรณ์แห่งผืนดินเท่านั้น สิ่งที่น้อยคนจะรู้ก็คือสักต้นใดก็ตามที่เห็นบนผืนดินไทย เป็นไปได้สูงว่ามันคือลูกหลานของสักใหญ่แห่งอุตรดิตถ์ต้นนี้เอง
ก่อนที่ต้นสักที่ใหญ่ที่สุดในโลกต้นนี้จะยืนต้นเดียวดายกลางป่าเบญจพรรณ ณ บ้านปางเกลือ ตำบลน้ำไคร้ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ครั้งหนึ่งมันเคยมีเพื่อนร่วมสายพันธุ์จำนวนมาก แต่เมื่อพื้นที่นี้กลายเป็นเขตพื้นที่ทำไม้ของบริษัท อีสต์ เอเชียติก จำกัด จากประเทศเดนมาร์ก สักแทบทุกต้นจึงถูกโค่นนำไปใช้ประโยชน์ มีเพียงสักต้นนี้ที่มีลำต้นที่สูงขึ้นไปด้านบนและมีรอยตำหนิเป็นโพรงลึก ไม่สมบูรณ์เหมือนต้นสักทั่วไป บ้างร่ำลือกันว่าเคยถูกฟ้าผ่ามาก่อน แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด รอยตำหนิทำให้เสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่คุ้มค่าต่อการตัดโค่นเพื่อนำเนื้อไม้ไปใช้ มันจึงรอดพ้นคมขวานฟันเลื่อยและยืนต้นต่อมาได้

The Archangel


กระทั่งเมื่อประมาณปี 2470 มีผู้เห็นป้าย ‘ต้นสักใหญ่’ บนถนนบ้านแก่ง-น้ำปาด กิโลเมตรที่ 56-57 และพบต้นสักต้นนี้อยู่ลึกเข้าไปจากถนนประมาณ 1 กิโลเมตร จากนั้นในช่วงปี 2495-2497 ร.ต. ประเสริฐ พุทธพิทักษ์ ป่าไม้แขวงห้วยแมง สำนักงานป่าไม้แพร่ เข้าไปวัดความโตของต้นสักใหญ่ พบว่าเส้นรอบวงลำต้นที่ระดับสูงเพียงอก หรือที่ระดับความสูง 1.3 เมตรจากพื้นดิน มีขนาด 948 เซนติเมตร ซึ่งนับว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จึงได้ถ่ายภาพต้นสักใหญ่และนำมาเผยแพร่สู่สาธารณะ ทำให้เกิดแนวคิดที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติ นำมาซึ่งการกำหนดเขตและประกาศจัดตั้งวนอุทยานต้นสักใหญ่ ในปี 2512
หลังจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จเยือนในปี 2541 กรมป่าไม้ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบในขณะนั้นรับสนองพระราชเสาวนีย์อย่างแข็งขัน ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการบำรุงรักษาต้นสักใหญ่เมื่อวันที่ 30 มกราคมปีเดียวกัน โดยประสานงานขอความร่วมมือจากสมาคมหมอต้นไม้แห่งประเทศญี่ปุ่นให้เข้ามาช่วยดูแลในช่วงสองปีแรก พร้อมทั้งเชิญ ศาสตราจารย์ ชูพงษ์ สุกุมลนันทน์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ไม้ยืนต้น มาเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ

งานบำรุงรักษาต้นสักใหญ่ตามหลักวิชาการเริ่มต้นขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแบ่งการปฏิบัติงานเป็น 3 ส่วน
ส่วนแรกคือบริเวณผิวดินรอบโคนต้นในรัศมี 15 เมตร ดำเนินการตัดต้นไม้เพื่อลดการแย่งธาตุอาหาร รื้อพื้นทางเดินเดิมที่ปูรอบโคนต้นออก ทำทางเดินใหม่นอกรัศมีเรือนราก ทำรั้วกั้นเพื่อป้องกันคนเดินเหยียบย่ำรอบโคนต้นเพราะดินที่อัดแน่นจะส่งผลกระทบถึงระบบราก วางระบบน้ำหยด 24 จุดรอบต้น และให้ปุ๋ยทางกระบอกน้ำหยด
ส่วนที่สองคือลำต้นจากระดับพื้นดินถึงความสูง 6 เมตร ดำเนินการใช้ยาป้องกันเชื้อราในจุดที่จำเป็น วัดความโตของต้นสักใหญ่ และทำหมายแนวระดับไว้สำหรับการวัดในปีต่อๆ ไปเพื่อเปรียบเทียบการเจริญเติบโต
และส่วนที่สามคือตั้งแต่ระดับความสูง 6 เมตรถึงเรือนยอด ดำเนินการกำจัดพืชกาฝากและตัดกิ่งตายออกให้หมด

โดยเฉพาะระบบน้ำหยดนั้นเป็นการเพิ่มความชื้นในดิน ทำให้ต้นสักใหญ่ได้รับน้ำสม่ำเสมอและเพียงพอ ช่วยกระตุ้นการพัฒนาระบบรากใหม่ ส่งผลสืบเนื่องต่อการเจริญเติบโตในทุกส่วนที่อยู่เหนือพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นลำต้น ใบ เรือนยอด
กระบวนการบำรุงดูแลทั้งหมดช่วยเยียวยาให้ต้นสักใหญ่ซึ่งก่อนหน้านี้ อยู่ในสภาพค่อนข้างทรุดโทรมกลับมามีสุขภาพดีขึ้นอีกครั้ง
ความพิเศษอย่างหนึ่งของต้นสักคือ เป็นไม้ยืนต้นเพียงไม่กี่ชนิดพันธุ์ในประเทศไทยที่เห็นวงปีได้ชัดเจนและตรวจนับอายุจากจำนวนวงปีได้ นั่นจึงเป็นหนึ่งในตัววัดผลที่พอจะบ่งชี้ความเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพของมัน ในเดือนมิถุนายนของทุกปีจึงมีการวัดวงปีและบันทึกข้อมูลความโตหรือเส้นรอบวงลำต้นสัก โดยจัดแสดงภายในห้องนิทรรศการของอุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่


ปี 2535 และ 2536 เส้นรอบวงปีอยู่ที่ 1,003 เซนติเมตร แต่ละวงนั้นแคบมาก สะท้อนถึงการเติบโตที่เชื่องช้าอันอาจสืบเนื่องมาจากปัจจัยความสมบูรณ์ของผืนดิน ภาวะโดดเดี่ยวจากการเป็นผู้เหลือรอดอยู่เพียงต้นเดียว และอีกหลายปัจจัยที่สอดคล้อง ทำให้ช่วงปี 2537-2542 วงปีของมันหยุดนิ่งที่ 1,005 เซนติเมตร
แต่หลังจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงมีพระราชเสาวนีย์ในปี 2514 งานบำรุงรักษาก็เกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านตัวเลขเส้นรอบวงที่ขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 1,007 เซนติเมตรในปี 2543 เป็น 1,024.1 เซนติเมตร ในปี 2562 โดยอัตราการเจริญเติบโตที่เห็นจากวงปีสะท้อนปัจจัยที่แตกต่างกันมากมาย ทั้งภูมิอากาศที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนในแต่ละฤดูกาล ช่วงฤดูฝนที่ปริมาณน้ำมาก ต้นไม้เจริญเติบโตเร็วเซลล์จึงมีขนาดใหญ่ ผนังเซลล์บาง และพัฒนาเป็นวงปีสีอ่อนแถบกว้าง ขณะที่ช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อน ต้นไม้ได้รับน้ำน้อยลงและชะลอการเติบโต เซลล์จึงมีขนาดเล็กกว่า ผนังเซลล์หนากว่า และพัฒนาเป็นวงปีสีเข้มแถบแคบๆ
หนึ่งขวบปีของต้นไม้ใหญ่จึงเป็นสมุดเล่มสำคัญที่จดบันทึกเรื่องราวของธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ตราบชีวิตอันยาวนานของมัน


ในปี 2548 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งให้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ดำเนินงานอนุรักษ์พืชพรรณและตรวจสอบลายพิมพ์ดีเอ็นเอของพืชพรรณทั่วประเทศ รวมทั้งสักใหญ่ต้นนี้ด้วย
ในครั้งนี้เองที่ อพ.สธ.วางแผนเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อกระจายพันธุ์ต้นกล้าสักใหญ่ให้แพร่หลายและนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามต้นสักเก่าแก่และมีอายุมากที่สุดในโลกต้นนี้ว่า ‘มเหสักข์’ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 ซึ่งแปลว่า ‘เทวดาผู้ยิ่งใหญ่’ อันมีที่มาจากเรื่องราวการขยายพันธุ์สักใหญ่ต้นนี้แจกจ่ายให้ปลูกกันทั่วประเทศ ไม่ต่างอะไรกับการประทานพรจากเทวดาผู้ทรงศักดิ์

กระบวนการขยายพันธุ์นี้ทำโดยการตรวจสอบดีเอ็นเอ (DNA fingerprint) และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อส่งต่อพันธุกรรมแห่งความแข็งแรงและอายุยืนยาวของมัน
ในระยะแรกเริ่มแจกจ่ายภายในโครงการรวมใจภักดิ์ปลูกมเหสักข์-สัก สยามินทร์ฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 ถึงธันวาคม 2558 เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา และดำเนินการต่อมาจนถึงปัจจุบันเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปัจจุบันโครงการฯ ได้จัดส่งต้นกล้าสักไปทั่วประเทศจำนวนกว่าสิบล้านต้นแล้ว ลูกหลานของมันกระจายไปเจริญเติบใหญ่อยู่ทั่วแผ่นดินไทย จึงไม่แปลกเลยที่หนึ่งในนั้นอาจเป็นต้นที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลบ้านคุณ


Teak

Flower Stalks
