

Every green tree is far more glorious
than if it were made of gold and silver.
Martin Luther


ไม่มีใครรู้แน่ว่าจังหวัดพิษณุโลกเมื่อ 400 ปีก่อนมีสภาพเป็นเช่นไร อาจยกเว้นก็แต่ยางนาต้นนี้ที่ยืนหยัดยังประโยชน์ให้ชาวสยามมาตั้งแต่ราวปี 2131 ยางนาต้นนี้เกิดทันการปกครองของพระมหากษัตริย์พระองค์ท้ายๆ ของราชวงศ์สุโขทัยที่ปกครองกรุงศรีอยุธยา ในตอนนั้นพิษณุโลกมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง หลังจากเป็นราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยานานถึง 25 ปี และเป็นหน้าด่านสำคัญสกัดกั้นกองทัพพม่า ในตอนนั้นป่าไม้คงยังสมบูรณ์ทุกหนแห่ง โดยเฉพาะต้นยางนาซึ่งได้กลายมาเป็นชื่อหมู่บ้านสืบมาจนปัจจุบัน
หากจัดลำดับชนิดพันธุ์ต้นไม้ใหญ่ที่ใกล้ชิดวิถีชีวิตคนไทยอย่างยาวนาน ยางนาก็น่าจะติดอันดับต้นๆ
เนื่องด้วยเติบโตได้ดีในป่าหลากหลายประเภท ทั้งป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น หรือกระทั่งป่าพรุ และพบการกระจายพันธุ์ทั่วประเทศไทย ตั้งแต่บริเวณที่ดอนชายทะเล ริมฝั่งแม่น้ำ ที่ราบลุ่ม เรื่อยไปจนถึงที่สูงหลายร้อยเมตรจากระดับน้ำทะเล
คนไทยทุกภูมิภาคจึงคุ้นเคยกับการใช้ประโยชน์ยางนา ทั้งใช้เนื้อไม้ที่แข็งแรงปานกลางในการสร้างบ้าน ต่อเรือ ทำเครื่องเรือน ฯลฯ และใช้น้ำมันยางนาทำไต้ จุดไฟส่องสว่าง หรือผสมน้ำมันยางนากับชันเพื่อยาแนวเรือป้องกันการรั่วซึม

ยางนาใหญ่ขนาด 12-13 คนโอบ ความสูงประมาณ 50 เมตรต้นนี้ ยืนเด่นตระหง่านอยู่ริมทุ่งนาที่บ้านสวนยาง ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ชื่อ ‘บ้านสวนยาง’ บ่งบอกชัดเจนว่าชุมชนแห่งนี้ต้องมีต้นยางนาจำนวนมาก มากพอจะรวมกันเป็นสวนได้ เหมือนกับชื่อสถานที่หลายแห่งทั่วประเทศที่เกี่ยวข้องกับต้นยางนา เช่น อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก บ้านยางน้อย จังหวัดอุบลราชธานี วัดยางทอง จังหวัดเชียงใหม่ วัดยางทอง จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น
ทว่าชื่อนี้เป็นความจริงแค่ในอดีต และความจริงดังกล่าวก็สิ้นสุดลงตั้งแต่หลายสิบปีที่แล้ว เมื่อบริษัทค้าไม้เข้ามาในหมู่บ้านเพื่อกว้านซื้อ ตัดโค่น และชักลากไม้ขนาดใหญ่โดยเฉพาะต้นยางนาและต้นเต็งออกไปจากพื้นที่ ที่ยังเหลือรอดอยู่เพียงลำพังและเติบโตต่อมาได้ ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นเพราะเจ้าที่เจ้าทางช่วยซ่อนอำพรางเอาไว้
Scars that Light Up the Night

กระทั่งเมื่อราว 7 ปีก่อน ชาวบ้านมีความคิดจะอนุรักษ์ยางนาต้นนี้ไว้เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนบ้านสวนยาง จึงหารือกับผู้ใหญ่บ้านและยื่นเรื่องถึงองค์การบริหารส่วนตำบลเนินเพิ่ม ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชนกับหน่วยงานท้องถิ่นในการดูแลต้นยางนา
ทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบ บำรุงธาตุอาหารในดินเพื่อฟื้นฟูสุขภาพของต้นยางนา และจัดงาน ‘ตักบาตรต้นยางนา’ ขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนมกราคม โดยนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูปจากวัดบ้านหัวนาและวัดสวนยางมารับบาตรและเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวยังจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี


สำหรับอายุของต้นยางนานั้น เอกพงษ์ กุลเจริญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเนินเพิ่ม ประสานงานไปยังมหาวิทยาลัยพะเยาเพื่อให้นักวิชาการเข้ามาดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อไม้หลายจุด ตั้งแต่บริเวณโคนต้นไม่เกิน 1.5 เมตร จากพื้นดิน จนถึงระดับความสูงมากกว่าสิบเมตร โดยใช้สว่านเจาะเนื้อไม้จากเปลือกนอกสุดลึกเข้าไปถึงแก่นไม้ในตำแหน่งแกนกลางของลำต้น เพื่อนำตัวอย่างเนื้อไม้ไปตรวจวิเคราะห์วงปีและท่อลำเลียงด้วยเทคนิคทางรุกขกาลวิทยา รวมทั้งนำตัวอย่างเปลือกไม้ไปทดสอบความแก่โดยเทียบเคียงกับยางนาต้นอื่นๆ ในประเทศไทย
ผลการตรวจวิเคราะห์ที่มีเอกสารรับรองอย่างเป็นทางการจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 ระบุว่า ยางนาต้นนี้มีอายุประมาณ 432 ปี เมื่อมองจากไกลๆ ในระยะที่สามารถเห็นสัดส่วนและองค์ประกอบครบถ้วนจากโคนถึงเรือนยอดโดยไม่ต้องแหงนคอตั้ง จะพบความสวยสง่าและลักษณะครบตามตำรา คือลำต้นเปลาตรงรูปทรงกระบอกและเรือนยอดทรงพุ่มกลม
ครั้นเดินเข้ามาระยะประชิดก็จะเห็นเปลือกลำต้นสีน้ำตาลอมเทา พื้นผิวค่อนข้างเรียบแต่แตกเป็นร่องทั้งแนวตั้งและแนวนอน หากเดินวนเป็นวงกลมจนครบรอบพร้อมกับสังเกตโคนต้นให้ดีย่อมต้องเห็นโพรงตื้นๆ สองโพรง ทั้งคู่อยู่คนละฝั่งของลำต้นในตำแหน่งตรงข้ามกัน
นี่ไม่ใช่สิ่งที่พบได้ทั่วไปบนต้นยางนา และมิได้ปรากฏขึ้นเองตามธรรมชาติ หากเป็นบาดแผลจากการใช้ประโยชน์ในอดีตที่ยังฝากร่องรอยเอาไว้


ย้อนกลับไปในสมัยที่บ้านสวนยางยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ยางนาต้นนี้มีความสำคัญต่อชาวบ้านอย่างมากในฐานะแหล่งกำเนิดแสงสว่างในช่วงเวลากลางคืน
น้ำมันยางนาเป็นของเหลวสีน้ำตาลใสที่ซ่อนอยู่ในเนื้อไม้ คนโบราณจึงต้องใช้ขวานถากเปิดเปลือกไม้เป็นโพรงกว้างประมาณ 20-30 เซนติเมตร และเจาะเนื้อไม้ลึกเข้าไปในลำต้นประมาณหนึ่งศอก โดยให้พื้นโพรงลาดเอียงลงสู่แกนกลางลำต้นเพื่อเป็นแอ่งเก็บน้ำมัน ทิ้งไว้ประมาณ 3-5 วันให้น้ำมันค่อยๆ ซึมออกมาในปริมาณมากพอจึงตักออก และรออีก 3-5 วันสำหรับการเก็บน้ำมันรอบถัดไป

หากน้ำมันยางนาไม่ค่อยไหลซึม ชาวบ้านต้องจุดไฟเผาโพรงในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วดับไฟเพื่อป้องกันต้นยางนาได้รับความเสียหาย เป็นเทคนิคการใช้ความร้อนช่วยหลอมละลายน้ำมันที่จับตัวเป็นก้อนแข็งและอุดตันท่อน้ำมันนั่นเอง
เมื่อนำเศษไม้ผุๆ มาคลุกหรือแช่ในน้ำมันยางนา บรรจุเศษไม้ผุชุ่มเชื้อเพลิงจากธรรมชาติลงในกระบอกไม้ไผ่ ตำพอแหลก ก็ใช้เป็นไต้จุดไฟเพื่อส่องสว่างยามวิกาลได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ตะเกียงน้ำมันก๊าดซึ่งใช้งานสะดวกกว่าเข้ามาแทนที่ ก็ไม่มีใครเก็บน้ำมันยางนามาทำไต้อีกต่อไป ต้นไม้ใหญ่จึงค่อยๆ สร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาหุ้มช่องว่างทีละน้อย กระทั่งเหลือเป็นโพรงตื้นดังที่เห็นในปัจจุบัน


คราวนี้ลองยืนใต้ต้นยางนาแล้วใช้สายตาสำรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยค่อยๆ แหงนมองไล่ขึ้นสู่เบื้องบนก็จะเจอวัตถุทรงแท่งผอมยาวยื่นโผล่ออกมาจากลำต้น สันนิษฐานว่ามันอาจเป็นตะปูตัวยาวหรือทอยเหล็กที่หมอผึ้งใช้ตอกติดลำต้นเพื่อปีนป่ายขึ้นไปเก็บรังผึ้ง

เพราะยางนาต้นนี้เคยเป็นแหล่งชุมนุมของฝูงผึ้ง พวกมันเข้ามาจับจองทำรังกันแทบทุกกิ่งก้าน โดยในช่วงที่หนาแน่นที่สุดอาจมีรังผึ้งมากกว่า 50 รัง หรืออาจจะถึงร้อยรัง ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านที่ว่าหมอผึ้งปีนขึ้นลงอยู่สองคืนก็ยังเก็บไม่หมด
แม้ในช่วงสิบปีให้หลังปริมาณผึ้งที่มาทำรังจะลดลงอย่างชัดเจนโดยไม่มีใครทราบสาเหตุ และไม่มีการตีผึ้งอีกเลยหลังจากชาวบ้านเริ่มอนุรักษ์ต้นยางนา แต่ก็ยังมีซากรังผึ้งเก่าหล่นปะปนอยู่กับใบไม้แห้งบนพื้นดินในตำแหน่งไม่ไกลจากโคนต้นให้เห็นอยู่บ้าง
เหล่านี้คือร่องรอยธรรมดาๆ ทว่าเป็นเบาะแสแสนพิเศษ สามารถบอกเล่าเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ทั้งผลผลิตทางธรรมชาติจากต้นยางนาและภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์ของผู้คนในอดีต ให้เรารับรู้ได้อย่างน่าประทับใจ