
จำปีเป็นดอกไม้คู่เมืองไทยที่ใครๆ ก็รู้จัก แต่คงมีไม่กี่คนที่รู้ว่าเจ้าดอกไม้กลิ่นหอมหวนนี้มีลำต้นแสนใหญ่โต จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะต้นจำปีในป่าหลังหมู่บ้านแม่เตี๊ยะ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นจำปีสายพันธุ์พิเศษ ขึ้นบนแผ่นดินไทยทางภาคเหนือเท่านั้น มันจึงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Michelia rajaniana หรือ ‘จำปีรัชนี’ นั่นเอง เรียกกันทั่วไปว่า ‘จำปีหลวง’ และเราอาจพูดได้ว่าจำปีหลวงต้นนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก


หากลัดเลาะจากหมู่บ้านแม่เตี๊ยะ ตำบลแม่ถอด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เข้าสู่ผืนป่าชุมชนอันอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่คาบเกี่ยวกับเขตอุทยานแห่งชาติดอยจง สามารถโดยสารรถยนต์ได้ในระยะทางเพียงสามกิโลเมตรเท่านั้น เส้นทางที่เหลืออีกราว 3-4 กิโลเมตรต้องพึ่งลำแข้งตัวเองล้วนๆ ผ่านแนวป่า ข้ามลำห้วย ขึ้นเขาสูงชันกันจนเหนื่อยหอบ เราจึงจะได้มายืนอยู่หน้าต้นจำปีหลวงที่รวบรวมความพิเศษหลายประการเอาไว้
เนื่องจากอยู่ในป่าห่างไกลจึงมีเพียงชาวบ้านแม่เตี๊ยะเท่านั้นที่เข้ามาใช้ประโยชน์ป่าชุมชนตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ และได้เห็นต้นไม้ใหญ่นี้ยืนต้นมาอย่างยาวนานโดยไม่รู้ว่าเป็นต้นอะไร กระนั้นพวกเขาก็พยายามดูแลผืนป่าโดยรวมด้วยการเก็บของป่าในระดับที่เป็นมิตรกับระบบนิเวศ คือให้พืชพันธุ์ต่างๆ ยังเหลือรอดและมีโอกาสฟื้นฟูสำหรับการใช้ประโยชน์ในอนาคต พร้อมทั้งมีมติร่วมกัน ห้ามใช้ประโยชน์ป่าชุมชนหรือเก็บหาของป่าในลักษณะทำลายล้าง
จนในปี 2558 มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาสำรวจพื้นที่และเก็บตัวอย่างส่วนต่างๆ ของต้นไม้ใหญ่ไปพิสูจน์จำแนกชนิดพันธุ์ทุกคนจึงได้รู้ว่านี่คือต้นจำปีหลวง ซึ่งคนไทยที่เชี่ยวชาญพันธุ์ไม้อาจเคยรู้จักมาบ้างแล้วว่าเป็นไม้หายากมาก ที่ผ่านมามีรายงานว่าพบแค่ที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อุทยานแห่งชาติดอยภูคา และอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาลเท่านั้น แต่ต้นจำปี-หลวงต้นนี้ใหญ่กว่าทุกต้นที่ว่ามาและคาดว่าใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีการสำรวจ ด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 2.7 เมตร ในขณะที่จำปีหลวงที่พบโดยทั่วไปมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 1-1.5 เมตรเท่านั้น เส้นรอบวงลำต้น 8.6 เมตร และความสูงมากกว่า 30 เมตร วัดง่ายๆ ก็คือใหญ่เป็นสองเท่าของจำปีหลวงที่เคยพบมา

Living with the Titan
จำปีหลวงหรือจำปีรัชนีถูกค้นพบครั้งแรกในป่าดิบเขาที่ระดับความสูงประมาณ 1,300 เมตร บนดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2464 ค้นพบโดยนายแพทย์อาร์เทอร์ เคอร์ (Dr. Arthur Kerr) นักพฤกษศาสตร์ชาวไอริช ที่ได้รับการยกย่องเป็น ‘บิดาแห่งวงการพฤกษศาสตร์ไทย’ ความพิเศษของต้นไม้นี้อยู่ที่เป็นพืชถิ่นเดียว (endemic species) หรือพืชเฉพาะถิ่น ซึ่งมีคุณลักษณะสำคัญคือ แพร่กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในเขตภูมิศาสตร์ใดเขตภูมิศาสตร์หนึ่งของโลกเท่านั้น
และเขตภูมิศาสตร์ที่มีองค์ประกอบพอเหมาะพอเจาะกับการงอกและการเจริญเติบโตของจำปีหลวงก็คือพื้นที่ไหล่เขาในป่าดิบเขาที่ค่อนข้างโปร่งของเมืองไทย ที่ระดับความสูงประมาณ 900-1,300 เมตร ทำให้มีลักษณะอากาศหนาวเย็นและมีความชื้นสูง เราจึงพบจำปีหลวงได้เฉพาะในเขตจังหวัดทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เช่น เชียงใหม่ น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ เท่านั้น


จำนวนประชากรอันน้อยนิดทำให้จำปีหลวงกลายเป็นพืชหายากและดูจะมีคุณค่าพิเศษกว่าต้นไม้อื่นอยู่แล้ว ใครอยากรู้จัก อยากเห็นต้น ก็ต้องดั้นด้นมาถึงถิ่นกำเนิดเท่านั้น ทว่าในขณะเดียวกัน เงื่อนไขการกระจายพันธุ์ในพื้นที่จำกัด ยิ่งผลักให้จำปีหลวงตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ (endangered) หรือใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered) ได้ง่ายดายกว่าต้นไม้อื่น ทั้งจากการคุกคามโดยตรง เช่น ตัดโค่นต้น และจากการคุกคามทางอ้อมด้วยการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของมัน

หากมีโอกาสเดินทางดั้นด้นไปเยี่ยมชมจำปีหลวงแห่งลำปางด้วยตนเอง ก็จะได้เห็นผ้าจีวรซึ่งเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลตุ่นๆผูกล้อมลำต้นจำปีหลวงและต้นไม้ใหญ่อื่นๆ อีกนับร้อย เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการบวชป่าซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับชาวบ้านจากชุมชนใกล้เคียงร่วมกันจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2558
และถ้าสังเกตจำปีหลวงต้นนี้ให้ทั่วลำต้นทั้งระดับสายตาและไล่สูงขึ้นสู่เบื้องบน เราจะเห็นสิ่งมีชีวิตอีกสองกลุ่มที่เกาะอิงอาศัยอยู่กับเปลือกลำต้น นั่นคือเฟิร์นและมอสสีเขียวครึ้ม โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศมีความชื้นสูงพวกมันจะอวดความเขียวปกคลุมแทบจะทั่วลำต้น แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้งหรือในปีที่ปริมาณฝนน้อย สีเขียวของพวกมันจะหดเหลือเพียงหย่อมเล็กๆ และรอเวลากลับมาแผ่ขยายความเขียวสะพรั่งในฤดูกาลฉ่ำฝนถัดไป

ทั้งมอสและเฟิร์นเหล่านี้เป็นพืชอิงอาศัย (epiphytic plants) พวกมันมีคลอโรฟิลล์ไว้สังเคราะห์แสง สร้างอาหารให้ตัวเอง จึงไม่ง้อแหล่งอาหารอื่น และที่สำคัญคือไม่ก้าวร้าวแทงรากรุกรานเข้าไปดูดน้ำเลี้ยงเหมือนกาฝาก แต่มักเติบโตอย่างสงบเสงี่ยมโดยใช้รากเกาะยึดพื้นผิวขรุขระทั้งลำต้นและกิ่งก้านต้นไม้ใหญ่

พืชอิงอาศัยต้องการร่มเงาและความชื้น ลำต้นและกิ่งก้านของต้นจำปีจึงถือเป็นแหล่งอาศัยชั้นดีเพราะมีเรือนยอดบังแดดแรงให้ทะลุผ่านเพียงรำไร แถมเปลือกลำต้นยังแตกเป็นร่องตื้นๆ ช่วยกักเก็บน้ำฝนและความชื้นเพิ่มเติม ส่วนธาตุอาหารนั้นมอสและเฟิร์นไม่ต้องการอะไรมากมาย เพียงอินทรียสารปริมาณน้อยนิดที่สะสมอยู่ตามเปลือกไม้ที่มันเกาะก็นับว่าเพียงพอต่อการดำรงชีวิตแล้ว

อีกทั้งบริเวณต่างๆ ของลำต้นจำปีหลวง ซึ่งมีทั้งส่วนโค้งนูน แอ่ง คาคบ หรือซอกหลืบ ย่อมมีระดับความชื้นและปริมาณแสงแดดแตกต่างกันอยู่บ้าง ซึ่งเหมาะกับมอสและเฟิร์นที่มีชนิดพันธุ์แตกต่างกันไป ขณะเดียวกันพวกมันก็ทำหน้าที่เป็นกาวคอยดักจับฝุ่นหรือละอองไม่พึงประสงค์ที่ลอยมาในอากาศ ด้วยแวกซ์ที่เคลือบบนผิวเซลล์ของมอสบางชนิดฝุ่นที่ติดอยู่กับแวกซ์นี้จะไม่ฟุ้งกระจายกลับสู่สิ่งแวดล้อม แต่จะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยให้กับมอส
ระบบการอยู่อาศัยขนาดย่อมที่เรียกว่า microhabitat นับว่าเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้น และไม้ใหญ่อย่างต้นจำปีหลวงจึงเป็นเหมือนเจ้าของระบบนิเวศขนาดย่อมที่ยอมเปิดพื้นที่ตัวเองให้ชีวิตเล็กๆ อย่างมอสและเฟิร์นจำนวนมากได้เติบโตขยายพันธุ์และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
