

ต้นไทรใหญ่โตเพียงต้นเดียวในละแวกกลายเป็นหมุดหมายสำคัญ
ที่อดีต ‘สหาย’ ใช้ระบุตำแหน่งทางเข้าอุโมงค์ใต้ดิน


หากใครได้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง ณ ชายแดนภาคใต้โดยสังเขปอาจพบว่า ในรอบหลายทศวรรษแห่งความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง อันนำไปสู่การสู้รบ การหลบหนี การไล่ล่า ยาวนานหลายสิบปี สิ่งหนึ่งที่มีบทบาท ในเรื่องราวเหล่านี้อย่างเงียบเชียบคือต้นไม้เก่าแก่หลายต้นแห่งป่าใต้ ที่บ้างก็เป็นจุดสังเกต บ้างเป็นจุดนัดพบ และบางต้นก็เปรียบเสมือน...ประตู

นอกจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ปิยะมิตรกับอุโมงค์ใต้ดินปิยะมิตรแล้ว ในตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ยังมีหลักฐานทางธรรมชาติชิ้นสำคัญอย่าง ‘ต้นไทรพันปี’ ที่สามารถรื้อฟื้นความทรงจำของผู้คนในวันวานและคลี่แผ่วิถีชีวิตของสหาย ‘จีนคอมมิวนิสต์มลายา’ (จคม.) สู่การรับรู้ของคนยุคสมัยปัจจุบัน
ไม่มีใครตอบได้ว่าต้นไทรต้นนี้อายุพันปีจริงหรือไม่เพราะยังไม่มีการตรวจวัดอายุอย่างเป็นทางการ แต่จากลักษณะโคนต้นในปัจจุบันซึ่งแผ่กว้างและปรากฏช่องว่างให้คนเดินลอดผ่านได้อย่างสบายๆ ประกอบกับส่วนสูงเท่าตึกประมาณ 14 ชั้น ก็บ่งชี้ได้ว่าไทรต้นนี้ผ่านชีวิตมาอย่างยาวนาน ความว่างเปล่าซึ่งแทรกอยู่ระหว่างลำต้นอันแข็งแรงไม่เพียงเป็นจุดเด่นในการถ่ายรูปของหนุ่มสาวในปัจจุบัน แต่แท้จริงแล้วคือร่องรอยของชีวิตไม้ใหญ่อีกต้นหนึ่งที่เคยอยู่ตรงนี้มาก่อนและเอื้อให้ไทรใหญ่ต้นนี้มีโอกาสนับหนึ่งในการเติบโต

Gate to the Underworld
หมุนเวลากลับไปหลายสิบปีก่อน ในวันที่รัฐบาลมาเลเซียดำเนินการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์-มลายาอย่างเข้มข้น สมาชิกพรรคพากันหลบหนีข้ามพรมแดนมาตั้งฐานปฏิบัติการหรือหน่วยย่อยรวมกว่าสี่สิบแห่งกระจายตัวอยู่บริเวณดินแดนชายขอบของประเทศไทย เพื่อเคลื่อนไหวตามแนวทางและอุดมการณ์ของพรรคฯ
จคม. กลุ่มหนึ่งเลือกตั้งค่ายท่ามกลางผืนป่าดิบชื้นอันอุดมสมบูรณ์ ภายหลังเรียกขานกันว่า ‘ค่ายอุโมงค์’ ประกอบด้วยแรงงาน 40-50 คน พวกเขาใช้เวลาประมาณสามเดือนเท่านั้นสำหรับภารกิจขุดอุโมงค์ใต้ภูเขา ความยาวประมาณหนึ่งกิโลเมตร เพื่อใช้กบดานซ่อนตัวหลบภัยจากการโจมตีทางอากาศ เก็บสะสมเสบียง และเป็นเส้นทางหลบหนี ภายในมีสถานีวิทยุ ห้องพัก และห้องบัญชาการ สามารถจุคนได้ราวๆ สองร้อยคน

อุโมงค์นี้มีทางเข้า-ออกเชื่อมต่อกันทั้งหมด 9 ทาง (ปัจจุบันเหลือ 6 ทาง เพราะอีก 3 ทางถูกดินถล่มปิดก่อนดำเนินการบูรณะ) แต่ละทางซ่อนอยู่ในเขตป่าทึบโดยเฉพาะปากทางเข้า-ออกที่ 1 นั้นมีต้นไทรสูงกว่า 40 เมตรยืนตระหง่านในตำแหน่งอันเหมาะเจาะซึ่งไม่เพียงเป็นประตูที่ช่วยอำพรางทางเข้า-ออกอุโมงค์ใต้ดินและกวนการมองเห็นจากเครื่องบินฝ่ายตรงข้าม แต่ยังเป็นเสมือนกำบังธรรมชาติที่พอจะป้องกันความเสียหาย หรือบรรเทาผลกระทบต่อตัวอุโมงค์ได้หากถูกเล่นงานจากหน่วยโจมตีทางอากาศ
ไทรใหญ่โตเพียงต้นเดียวในละแวกนี้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่อดีตสหายใช้ระบุตำแหน่งทางเข้าอุโมงค์ใต้ดิน ความคุ้นเคยตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ใช้ชีวิตในป่าก่อร่างเป็นความผูกพัน ทำให้ภาพจำของพวกเขามีไม้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ผู้คุ้มกันต้นนี้เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยเสมอ

ปี 2526 รัฐบาลไทยและมาเลเซียเริ่มประสานความร่วมมือใช้นโยบาย 66/23 เจรจาสงบศึกกับกลุ่ม จคม. ผ่านไป 4 ปีจึงประสบความสำเร็จ อดีตสหายค่ายอุโมงค์ประมาณห้าร้อยคนตัดสินใจออกจากป่า มอบตัวเพื่อแลกกับสถานภาพ ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’ โดยพวกเขาเลือกสร้างชุมชนปิยะมิตรใกล้ค่ายอุโมงค์ที่ผูกพันกันมาอย่างยาวนาน
และด้วยเหตุที่พิกัดดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ของป่าสงวนแห่งชาติป่าเบตงซึ่งหมายถึงพื้นที่ลุ่มน้ำที่ควรต้องสงวนรักษาไว้เป็นต้นน้ำลำธาร และยังมีสภาพป่าที่สมบูรณ์ จึงเกิดข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับชาวบ้านปิยะมิตรตั้งแต่รุ่นบุกเบิกในการทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าและห้ามตัดโค่นต้นไม้โดยเด็ดขาด

หลังวางอาวุธ สหายเก่ารุ่นอาวุโสก็ยังแวะเวียนมาพบปะพูดคุยระลึกความหลังกันในอุโมงค์อยู่เป็นระยะ ยามที่ญาติพี่น้องจากมาเลเซียแวะมาเยือน คนกลุ่มนี้ก็พาเดินนำชม ภายหลังจึงพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เต็มรูปแบบ และเพิ่งอนุญาตให้คนต่างถิ่นเข้าไปเยี่ยมชมต้นไทรพันปีอย่างใกล้ชิดเมื่อสามปีมานี้เอง
ไทรผู้ทำหน้าที่ประตูสู่โลกใต้ดินมาช้านาน จึงได้กลายเป็นประตูสู่อดีตไปด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งอย่างลงตัว