

ถ้าจะมีอะไรชวนให้สับสนและเข้าใจผิดได้มากที่สุดในโลก หนึ่งในนั้นต้องเป็น ‘ต้นไม้’ สิ่งมีชีวิต ไร้ถ้อยคำที่ไม่เคยโต้แย้งใดๆหากใครจะเรียกขานด้วยนามใดก็ตาม หรือแม้แต่เข้าใจไปว่าเป็นสายพันธุ์อื่น
ดังเช่นยักษ์ใหญ่แห่งป่าลึก ณ ชายแดนตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งถูกเรียกขานในนาม ‘กระบากใหญ่’ มาอย่างยาวนาน จนกระทั่งปี 2559 ที่ข้อมูลการสำรวจและจำแนกชนิดพันธุ์โดยกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ระบุว่า นี่คือพันธุ์ไม้หายากที่มีชื่อไทยอย่างเป็นทางการว่า ‘ช้าม่วง’ และ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anisoptera scaphula (Roxb.) Kurz ไม่นับชื่อพื้นเมืองอีกหลากหลายที่ใช้เรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นที่พบ เช่น กระบาก (กาญจนบุรีและตาก), กะหด (ภาคเหนือ), จำปาและตาบ (นครศรีธรรมราช), บากขาว (พังงา) ฯลฯ
Call Me by My True Name

จะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายและต้นไม้เองก็ไม่เคยต่อว่าหากใครจะเรียกมันด้วยชื่อพื้นเมือง ‘กระบาก’ ต่อไปอย่างที่คุ้นเคยกัน แต่มันจะยากยิ่งในเมื่อต้นกระบากแท้ๆ นั้นก็มีอยู่จริงโดยเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นอีกชนิดที่อยู่ในวงศ์ยางนา Dipterocarpaceae เหมือนกัน มีชื่อไทยอย่างเป็นทางการว่า ‘กระบาก’ และ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anisoptera costata Korth.
ด้วยความสูงประมาณ 50 เมตรที่มาพร้อมเส้นรอบวงลำต้น 16.1 เมตร ช้าม่วงต้นนี้เป็นหนึ่งในต้นไม้ที่มีความสูงใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ยืนตระหง่านอยู่ในหุบเขาป่าดิบชื้น เมื่อเทียบเคียงลักษณะทางกายภาพของมันแล้ว นักวิชาการประเมินไว้ว่ามันมีอายุกว่า 700 ปี ซึ่งแปลว่าในเวลานั้นมันอาจได้เป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศไทย เพราะเมื่อ 700 ปีก่อนป่าแห่งนี้เคยเป็นเส้นทางเดินทัพของขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด เมื่อครั้งเข้าตีเมืองตาก และยังเป็นเส้นทางเดินทัพของทหารพม่าเมื่อครั้งพระเจ้าอลองพญายกทัพกลับจากการล้อมกรุงศรีอยุธยา

ต้นไม้ใหญ่ต้นนี้เป็นที่รู้จักของชาวเขาเผ่ามูเซอซึ่งบอกเล่าสืบต่อกันมานาน แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่เคยรับรู้จนกระทั่งในปี 2519 เรื่องจึงมาถึงหูของนายสวาท ณ น่าน นายช่างสถานีโทรคมนาคม ผู้ได้ดั้นด้นเข้าสำรวจพื้นที่และค้นพบความงามชวนตะลึงของต้นไม้ต้นนี้และทำให้มันเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในชื่อ ‘กระบากใหญ่’ สัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช จุดท่องเที่ยวสำคัญที่ผู้คนเดินทางมาเพื่อชื่นชมชีวิตอันยิ่งใหญ่แห่งธรรมชาติ
หลังจากนักวิชาการป่าไม้เข้าตรวจสอบและประจักษ์ในความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ความงดงามทางธรรมชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่รวมถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้ประกาศในปี 2524 ให้พื้นที่ป่าดังกล่าวและอาณาเขตใกล้เคียงโดยรอบเป็นอุทยานแห่งชาติ และถึงกับใช้ชื่อต้นกระบากใหญ่เป็นชื่ออุทยาน ก่อนจะเปลี่ยนเป็นอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราชในปี 2529 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ทั้งหมดเกิดขึ้นหลายสิบปีก่อนที่เราจะรู้ว่ามันไม่ใช่ต้นกระบากใหญ่ แต่คือต้นช้าม่วง ซึ่งแน่นอนว่าทั้งสองสายพันธุ์มีถิ่นอาศัยและลักษณะพฤกษศาสตร์ใกล้เคียงกันมาก

ช้าม่วงเป็นภาษาถิ่นใต้ หมายถึงคล้ายมะม่วง เนื่องจากลำต้นและใบมีลักษณะคล้ายมะม่วง จัดเป็นพันธุ์ไม้หายากและไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเหมือนกระบาก แม้จะพบในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้นได้เหมือนๆ กันแต่ช้าม่วงมักเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีความชื้นค่อนข้างสูง เช่น ริมห้วย ในหุบเขา จนถึงสันเขาที่ความสูงไม่เกิน 800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางมันจึงกระจายพันธุ์อยู่บริเวณภาคตะวันตกเรื่อยลงไปจนภาคใต้ของประเทศไทยเฉพาะพื้นที่ที่ฝนตกค่อนข้างชุก และมีโอกาสน้อยนิดที่จะพบในเขตละติจูดที่สูงขึ้นมา ซึ่งพบเพียงสองต้นเท่านั้น คือต้นช้าม่วงที่เห็นในภาพนี้ และอีกหนึ่งต้นในอุทยานแห่งชาติแม่วะ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

แม้ทางอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราชจะพยายามเพาะเมล็ดเพื่อเพิ่มจำนวนต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของอุทยานฯ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ขนาดเจ้าหน้าที่เองยังเอ่ยปากว่าขยายพันธุ์ยาก ขณะที่กระบากทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดีกว่าและพบได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

ในส่วนของลักษณะพฤกษศาสตร์ที่แตกต่างกันและใช้เป็นจุดสังเกตเพื่อจำแนกว่าต้นไหนเป็นช้าม่วง ต้นไหนเป็นกระบาก มีเพียงสามประการ
ประการแรกคือกิ่งอ่อนและผิวใบด้านล่างที่เรียกว่า ‘ท้องใบ’ ของกระบากจะมีขนสั้นๆ นุ่มๆ สีออกน้ำตาลอมเหลืองขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ขณะที่กิ่งอ่อนและท้องใบของช้าม่วงเกลี้ยงเกลาปราศจากขน
ประการที่สองคือเส้นแขนงใบ ซึ่งเราสามารถมองเห็นปลายของเส้นแขนงใบกระบากโค้งจรดกันชัดเจน แต่ปลายของเส้นแขนงใบช้าม่วงจะไม่โค้งจรดกันหรือโค้งชนกันไม่ชัดเจน
ประการสุดท้ายคือผล อย่างที่รู้ๆ กันผลของพืชในวงศ์ยางนาล้วนมีครีบยาวคล้ายปีก เป็นอวัยวะพิเศษที่ธรรมชาติสร้างขึ้น ช่วยให้มันหมุนเร็วจี๋เมื่อหลุดจากขั้ว และสามารถพาตัวเองร่อนไปสู่ปลายทางการงอกเป็นต้นใหม่ซึ่งอยู่ห่างไกลจากต้นแม่ได้หลายสิบเมตร


ผลของกระบากและช้าม่วงเป็นทรงกลมสีเข้ม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร และมีปีกยาว 2 ปีกเหมือนกัน ถ้าจะหาความแตกต่างต้องสังเกตลักษณะของก้านเกสรตัวเมียที่ติดอยู่บริเวณปลายสุดของผล โดยของกระบากนั้นรูปทรงคล้ายระฆังคว่ำ ส่วนของช้าม่วงเป็นแท่งเรียวๆ
หุบเขาอันเป็นบ้านของช้าม่วงไม่เพียงเต็มไปด้วยความชื้นจากน้ำซึ่งไหลจากที่สูงกว่าลงมารวมกันอยู่ แต่ยังเป็นแหล่งสะสมธาตุอาหารที่โดนชะล้างลงมาพร้อมน้ำด้วย นี่คือทำเลทองแสนอุดมสมบูรณ์ที่ต้นไม้หลายชนิดชื่นชอบ ยิ่งประชากรต้นไม้อยู่กันหนาแน่นยิ่งต้องแย่งชิงพื้นที่รับแสงแดดกันอย่างดุเดือดเพื่อให้สังเคราะห์แสงสร้างอาหารเลี้ยงตัวเองได้ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของช้าม่วงซึ่งปักหลักอยู่ตรงนี้มาแสนนาน เพราะสามารถเหยียดลำต้นตั้งตรงสูงลิ่วสู่ท้องฟ้าอย่างมั่นคงและแผ่เรือนยอดสง่างามอยู่เหนือต้นไม้อื่น
หากอยากสัมผัสความอลังการด้วยตนเองอาจต้องฟิตร่างกายสักหน่อย ขาไปเดินลงหุบเขาสบายๆ ไม่เหนื่อยเท่าไหร่แต่ขากลับที่ต้องแบกตัวเองขึ้นเขานี่ไม่ธรรมดาเลย แม้จะมีจุดแวะนั่งพักเป็นระยะๆ ก็ยังเล่นเอาขาสั่นระริกยืนหอบเหงื่อท่วมกันทุกรายไป
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ทุกความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าก็คุ้มค่าในทันที เมื่อเราได้เป็นประจักษ์พยานการมีอยู่ของ ‘ช้าม่วง’ ผู้ยิ่งใหญ่ในทุกๆ คำเรียกขานแห่งผืนป่าตะวันตก


Anisoptera

Leaves

Seed Pod
