เจ้าของรากพูพอนขนาดมหึมาซึ่งสูงจากพื้นดินเกือบสามเมตร มีชื่อท้องถิ่นว่า ‘ท้ายเภา’ เติบโตอยู่ท่ามกลางผืนป่าดิบชื้นในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภายใต้ความดูแลของหน่วยพิทักษ์ป่าโตนเต๊ะ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด จังหวัดตรัง

ด้วยความสูงประมาณ 60 เมตร ชนิดที่แหงนมองจนคอตั้งบ่าก็ยังไม่เห็นเรือนยอด นี่คือต้นท้ายเภาที่ยิ่งใหญ่และมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่คณะเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ เคยสำรวจพบจากการเดินสำรวจเทือกเขาบรรทัดในพื้นที่สี่จังหวัด ได้แก่ พัทลุง ตรัง สตูล และสงขลา จนได้รับการยกย่องให้เป็นต้นไม้ยักษ์แห่งป่าดิบชื้นภาคใต้’
ยิ่งกว่านั้น ด้วยตำแหน่งการยืนต้นอยู่บนเส้นทางหลักของการเดินข้ามเทือกเขาบรรทัด หากเริ่มต้นจากน้ำตกหนานสะตอในจังหวัดตรัง ผู้เดินทางจะต้องผ่านต้นท้ายเภาก่อนเข้าเขตป่าลึก ลัดเลาะทางชันไต่ระดับขึ้นและลาดลงสู่น้ำตกไพรวัลย์ฝั่งจังหวัดพัทลุง เมื่อประกอบเข้ากับความใหญ่โตและสังเกตเห็นได้ง่าย ท้ายเภายักษ์จึงทำหน้าที่เหมือนประภาคารกลางพงไพร ทั้งเพื่อใช้อ้างอิงทิศทางการเดินป่า เป็นพิกัดสำหรับการนัดพบ และเป็นจุดพักค้างแรมของพรานนักล่าและชาวบ้านมาตั้งแต่ก่อนการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ



Beacon of Heaven


‘ท้ายเภา’ เป็นชื่อท้องถิ่นของต้นสำรองกะโหลก (ชื่อวิทยาศาสตร์ Scaphium scaphigerum (Wall. ex G. Don) G. Planch.) และใช้เรียกกันเฉพาะแถบจังหวัดตรัง โดยกร่อนเสียงมาจากคำว่า ‘ท้ายสำเภา’ ซึ่งตั้งขึ้นตามลักษณะของผลอ่อนที่ยามปริแตกออกด้านเดียวและแผ่เป็นแผ่นบางจะมองดูมีรูปร่างโค้งคล้ายเรือสำเภา เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมผลอ่อนเหล่านี้จะหลุดจากขั้วและมักโดนกระแสลมพัดพาให้ลอยตามกันเป็นพรวน ดูคล้ายกลุ่มสำเภาร่อนลมอยู่บนฟ้า สามารถลอยไปตกในระยะค่อนข้างไกลจากต้นแม่ เป็นเทคนิคส่วนตัวที่ช่วยเพิ่มโอกาสกระจายพันธุ์ให้กว้างขวางมากขึ้น
เปลือกหุ้มเมล็ดชั้นนอกซึ่งเป็นพื้นผิวขรุขระสีน้ำตาลมีสารเมือกสะสมอยู่จำนวนมาก หากนำไปแช่น้ำจะพองตัวขยายใหญ่กว่าเดิมเกือบสิบเท่าและทะลักทลายออกมาหน้าตาดูคล้ายวุ้น แม้จะมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรอยู่บ้าง แต่เนื่องจากเนื้อวุ้นของสำรองกระโหลกมีเสี้ยนปะปนอยู่ค่อนข้างเยอะจึงไม่นิยมนำมารับประทาน ต่างจากวุ้นของเพื่อนซี้สปีชีส์ข้างเคียงอย่างต้นสำรองหรือพุงทะลายที่ถูกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำสำรองที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี
ท้ายเภาเป็นไม้ยืนต้นโตเร็ว มักพบในป่าดิบที่ฝนตกชุก ความชื้นสูง แต่มีแสงแดดส่องถึง และเป็นพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่มาก ท้ายเภาต้นอื่นๆ ที่พบประปรายในพื้นที่ป่าโตนเต๊ะก็กระจายกันอยู่บริเวณเชิงเขาหรือชายเขา แต่สำหรับท้ายเภาต้นนี้นับว่าแปลกออกไป เพราะเติบโตอยู่เหนือระดับน้ำทะเลมากพอสมควร และยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสูงกว่าใครเพื่อนได้อย่างไร

มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เคยมีคนเดินป่ามาแวะพักที่ต้นท้ายเภายักษ์ต้นนี้ ครั้นเดินต่อเข้าไปในป่าลึกจึงได้พบกับดินแดนมหัศจรรย์ที่มีภูมิประเทศแปลกประหลาด เป็นทุ่งหญ้ากว้างสุดสายตา เต็มไปด้วยต้นไม้แคระ ธารน้ำใส และมองเห็นวิวที่สวยงามราวกับสวรรค์ เมื่อเดินทางกลับหมู่บ้านจึงได้บอกสิ่งที่เจอแก่เพื่อนฝูงญาติพี่น้อง จนกลายเป็นเรื่องเล่าที่ผู้คนบอกต่อและพากันขึ้นไปเพื่อค้นหาดินแดนแห่งนั้นโดยรับรู้กันว่าต้อง ‘เดินขึ้นไปทางต้นท้ายเภา’

ปัจจุบันเราสามารถเริ่มจากต้นท้ายเภาอันเป็นหมุดหมาย แล้วเดินต่อไปตามเส้นทางธรรมชาติที่ลึกลับสูงชัน ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ รวมทั้งเป็นแหล่งรวบรวมเอกลักษณ์ของป่าดิบถิ่นใต้ไว้อย่างครบครัน จนผ่านไปสู่ดินแดนมหัศจรรย์ตามเรื่องเล่าได้จริงๆ ดินแดนนั้นเป็นที่รู้จักกันระหว่างหมู่นักเดินป่าในชื่อ ‘เขาเจ็ดยอด’


ไม่ว่าจะเริ่มต้นทริปเดินป่าสัมผัสเขาเจ็ดยอดจากฝั่งตรังหรือพัทลุง ทุกคนย่อมต้องแวะเยือนประภาคารแห่งป่าดิบชื้น แม้แต่งานวิ่งพิชิตเขาเจ็ดยอดพัทลุง-ตรังซึ่งจัดขึ้นในปี 2561 ก็ยังกำหนดเส้นทางให้นักวิ่งเทรลที่เพิ่งเหน็ดเหนื่อยจากการผจญภัยข้ามเทือกเขาบรรทัดได้พบความอลังการหนึ่งเดียวของป่านี้ในช่วงสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย
เพราะไม้ใหญ่คือขวัญตาของผู้พบเห็นและเป็นกำลังสำคัญของผืนป่าเสมอ