


คำว่า ‘กะพง’ โดยทั่วไปอาจทำให้นึกถึงปลาทะเลลำตัวหนาหรือหอยทะเลสองฝา แต่สำหรับผืนป่าบาลาแห่งแดนใต้ กะพงคือไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่โปรดปรานความชื้นเป็นที่สุด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tetrameles nudiflora R.Br. และในหลายพื้นที่เรียกชื่อไพเราะคล้ายคนว่า ‘สมพง’ นั่นเอง
ต้นนี้ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘กะพงยักษ์’ ครองแชมป์ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งภายในอาณาบริเวณของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา โดยมีความสูงประมาณ 30 เมตร เส้นรอบวงลำต้นราวๆ 27 เมตร และโดดเด่นด้วยพูพอนความสูงเกือบ 4 เมตร แม้ยังไม่เคยสำรวจอายุที่แท้จริงด้วยกระบวนการทางวิทยาศาตร์ แต่ก็ประมาณกันว่าไม่ต่ำกว่าร้อยปีแน่นอน
A Feast for All

พื้นที่อนุรักษ์แห่งนี้แท้จริงแล้วประกอบขึ้นจากป่าสองผืนที่อยู่ใกล้กัน ผืนใหญ่กว่าคือป่าฮาลาในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ส่วนผืนเล็กคือป่าบาลาในอำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ป่าทั้งสองผืนเป็นป่าดิบชื้นที่ปกคลุมเทือกเขาสันกาลาคีรี ทอดแนวต่อเนื่องถึงป่าเบลุ่มทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย คงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ไว้ในระดับสูงยิ่ง หนึ่งในดัชนีชี้วัดคือที่นี่เป็นบ้านของนกเงือกถึงสิบชนิดพันธุ์จากทั้งหมด 13 ชนิดพันธุ์ที่พบในประเทศไทย
ตำแหน่งของกะพงยักษ์ต้นนี้อยู่ในป่าบาลา ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าภูเขาทองคิดเป็นระยะเวลาเดินเท้าลัดเลาะจากถนนเข้าไปประมาณ 15 นาที จุดสังเกตคือสะพานท่อนซุง ซึ่งเมื่อข้ามไปแล้วก็หมายความว่าใกล้จะได้สัมผัสความยิ่งใหญ่เต็มที กะพงมักตระหง่านอยู่ละแวกลำห้วย ริมลำธาร ใกล้น้ำตก และสำหรับต้นนี้ยืนห่างจากน้ำตกศรีทักษิณหรือจุดข้ามสะพานท่อนซุงเพียง 200 เมตรเท่านั้น

ความปกติธรรมดาอีกประการของต้นสมพงคือมักจะมีไทรเป็นกาฝาก กะพงยักษ์ต้นนี้ก็เช่นกัน ท่ามกลางพุ่มใบบนเรือนยอดที่สูงลิบนั้นมีต้นไทรแซมแทรกอยู่ แม้กะพงจะไม่ใช่แหล่งอาหารของชีวิตในป่าโดยตรง แต่เมื่อมีไทรงามอยู่ข้างบนมันก็กลับกลายเป็นคล้ายโต๊ะบุฟเฟต์ขนาดใหญ่ที่มีอาหารพร้อมเสิร์ฟวางแผ่ไว้รอท่า กะพงยักษ์จึงไม่เคยว่างเว้นจากผู้มาเยือน สารพัดนกต่างสายพันธุ์ผลัดเปลี่ยนกันมาเลือกปลิดกินผลไทร โดยเฉพาะผู้ยิ่งใหญ่แห่งเวหาอย่างนกเงือกที่ไม่เคยพลาดงานเลี้ยงนี้ เนื่องจากพวกมันรับรู้การสุกของลูกไทรและจดจำตำแหน่งของแหล่งอาหารได้อย่างแม่นยำ รวมไปถึงนักห้อยโหนอย่างชะนีและค่างที่ปีนป่ายหาอาหารกันตามอัธยาศัย กระทั่งสัตว์เดินดิน เช่น หมูป่า เก้ง กวาง ฯลฯ ก็ยังไม่แคล้วมีโอกาสได้ชิมลูกไทรสุกที่ร่วงหล่นอยู่รอบโคนต้นกับเขาเหมือนกัน

นอกจากสัตว์แล้ว กะพงยักษ์ยังเปิดพื้นที่ให้ชีวิตเล็กๆ ทั้งกลุ่มพืช เช่น เฟิร์น มอส และกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายพืช เช่น ไลเคน อิงอาศัยอยู่ทั่วพูพอนไปจนถึงลำต้น ทั้งหมดช่วยกันระบายสีเขียวบนเปลือกไม้ให้เป็นลวดลายสวยงามแปลกตา พร้อมกับบ่งบอกระดับความชื้นขั้นสูงตามลักษณะป่าถิ่นใต้ได้อย่างชัดเจน
แม้กะพงจะมีลำต้นขนาดใหญ่โต แต่เนื้อไม้จัดอยู่ในกลุ่มไม้เนื้ออ่อน ไม่เหมาะกับการก่อสร้างหรืองานโครงสร้าง เท่าที่ผู้คนเคยนำไปใช้งานก็จะเป็นการทำไม้แบบหล่อคอนกรีต หรือแปรรูปเป็นเรือขุด หีบไม้ โลงศพ ไม้อัด เยื่อกระดาษ ไปจนถึงชิ้นไม้ไซส์จิ๋ว เช่น ก้านไม้ขีด หรือไม้จิ้มฟัน

เมื่อลองเปรียบเทียบกันแล้ว ระหว่างโค่นลงมาทำไม้จิ้มฟันได้ล้านแท่งกับปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นสวรรค์ของสรรพชีวิตอันสลับซับซ้อน รักษาความอุดมแห่งระบบนิเวศป่าดิบชื้นผืนงามที่เหลืออยู่น้อยยิ่งในเมืองไทย เราคงตัดสินใจได้ไม่ยากว่าอะไรคืออนาคตที่เหมาะสมกว่าของกะพงยักษ์แห่งป่าบาลา
